อเล็กซานเดอร์ บารากา และภารกิจพา BMW วิ่งฉิว

“อุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มพรีเมี่ยม”


ปีที่แล้ว ยอดขายของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยสถิติส่งมอบรถยนต์ BMW และ MINI จำนวน 12,954 คัน แต่ปีนี้ จากสถานการณ์ Covid-19 ส่งผลให้เกิดวิถีการบริโภคใหม่

นิตยสาร Business+ สัมภาษณ์พิเศษ มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา’ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ถึงวิสัยทัศน์และปรัชญาของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่จะส่งมอบสินค้าและบริการที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย

B+ : ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาสินค้าของ BMW

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา : BMW ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้ามาก น้อยคนที่จะทราบว่า BMW ในเยอรมนีได้ว่าจ้างพนักงานด้านไอทีมากกว่า 5,300 คน เพื่อทำหน้าที่คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีเพียงระบบนำทางเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วรวมไปถึงเทคโนโลยี IoT และ AI ซึ่งนับเป็นซอฟต์แวร์ที่สำคัญที่ผู้บริโภคต้องการสถาปัตยกรรมที่เชื่อมต่อรถยนต์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่ง BMW ได้ร่วมลงทุนกับ CRITICAL Software เพื่อก่อตั้งบริษัทร่วมทุน Critical TechWorks ในปี 2018 เพื่อการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ โดยเราเชื่อว่า เราจะสามารถผสมผสานการทำงานระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อการวิจัยและพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต

ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของพลังงาน BMW มีการพัฒนาทั้งเทคโนโลยี Plug-in Hybrid, Electric Vehicle แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละตลาด เพราะแต่ละตลาดลูกค้ามีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น ตลาดเมืองไทย ในกรุงเทพฯ สภาพรถติด เทคโนโลยีที่เหมาะสมคือ พลังงานไฟฟ้า เพราะประหยัดเนื่องจากไม่ได้ต้องการรถที่เคลื่อนที่เร็วมาก ๆ ในเมือง

ทั้งหมดที่บอกมา เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละตลาด แล้วเราก็พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น

B+ : การให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา : การบริการหลังการขายก็มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเช่นกัน ในอดีตเป็นเรื่องของการบริการลูกค้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเป็นช่องทางในการได้รับฟังความคิดเห็นความต้องการของลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้าเพิ่มเติม เพราะความจำเป็นและความคาดหวังของลูกค้าอาจจะเปลี่ยนแปลงจากวันที่ซื้อสินค้า

ดังนั้น การขายสินค้าเพิ่มเติมหลังการซื้อไปแล้วเกิดขึ้นจากการให้บริการหลังการขาย เราจึงร่วมมือกับ 9 ตัวแทนจำหน่ายที่เป็นพาร์ทเนอร์อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการติดต่อกับลูกค้า

B+ : เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 บริษัทฯ ได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินการอย่างไรบ้าง

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา : ในส่วนของบริษัทฯ เราเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพของพนักงานและครอบครัว ดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้า รวมถึงลูกค้าของเราเป็นหลัก เรายังคงดำเนินงานตามปกติ แต่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ และสามารถให้บริการลูกค้าเราได้อย่างปลอดภัยที่สุด

เรามีการประชุมกับคู่ค้าเป็นประจำเป็นทุก ๆ สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์มีการปรับเปลี่ยนเป็นรายวัน แต่เปลี่ยนเป็นการพบปะเป็นราย ๆ แทนการประชุมกลุ่มใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยง

ในส่วนของลูกค้า ดีลเลอร์ของเราก็ยังคงเปิดให้บริการด้านการบำรุงรักษาตามปกติ แต่อาจจะมีการจำกัดจำนวนเข้ารับบริการบ้าง โดยสรุปคือ เราได้ปรับทิศทางให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

B+ : โอกาสในท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา : เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การขายรถยนต์ผ่านช่องทางดีลเลอร์เป็นไปได้ด้วยความลำบาก เพราะลูกค้าไม่สะดวกจะไปชมและสัมผัสสินค้าที่โชว์รูม อย่างไรก็ตาม BMW ได้พัฒนาระบบออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ shop.bmw.co.th ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมาก โดยผู้ซื้อสามารถซื้อรถของเราได้ทุกรุ่นที่เว็บไซต์นี้ และตัวเลขของผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200 – 300% โดยเว็บไซต์มีข้อมูลทั้งในส่วนงานขายและงานบริการหลังการขาย

กรณีตัวอย่างการขาย MINI Electric ที่มีการเปิดตัวออนไลน์ ในเวลาไม่ถึง 1 นาที เราสามารถขายรถได้ 25 คัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เราจะเปลี่ยนไปขายทางออนไลน์อย่างเดียว แต่จะเป็นการผสมผสานระหว่างการขายผ่านโชว์รูมของดีลเลอร์และการขายผ่านออนไลน์ เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้า

 B+ : ในตอนนี้มีการเสนอแนวคิดเช่าขับรถยนต์แทนการซื้อรถใหม่ มีความคิดเห็นอย่างไรกับรูปแบบธุรกิจนี้

มร.อเล็กซานเดอร์ บารากา : การเช่าระยนต์ขับไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ในยุโรปมีรูปแบบนี้มานานแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการยอมรับของตลาดในประเทศนั้น ๆ โดยในประเทศไทยยังคงมีความต้องการที่จะมีรถยนต์เป็นของตนเอง เช่นเดียวกับในเยอรมนีที่ไม่นิยมการเช่า เพราะถือเป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะและความสำเร็จ

ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การเช่าขับได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้งานเร่งด่วน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้บริการขับรถยนต์แบบเช่าผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้

แต่ทั้งนี้ BMW ยังคงเชื่อมั่นว่าตลาดรถยนต์ของไทยยังต้องการซื้อรถยนต์เป็นระยะเวลา 6 – 7 ปีเป็นอย่างน้อย หรือจนหมดอายุการใช้งาน เพื่อเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อให้ลูกหลานหรือขายต่อได้

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้บริโภคอาจจะเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาได้ และเมื่อถึงเวลานั้น BMW ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนรูปแบบตามผู้บริโภค เพราะความคิดของคนแต่ละรุ่นอาจจะไม่เหมือนกัน