‘ขสมก.’ กับจุดกำเนิด ‘หนี้ท่วม’ ถึงวันฟ้าเปิด ครม.ไฟเขียวเงินกู้ 7.5 พันล้าน

สิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งท้องถนนของประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร คงหนีไม่พ้น ‘รถเมล์’ ที่มีหน้าที่หลักในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารแบบสาธารณะ ด้วยค่าโดยสารที่จับต้องได้ ถึงแม้จะต้องแลกมาด้วยระยะเวลาในการรอคอยเที่ยวรถในแต่ละรอบ หรือแม้แต่ระยะเวลาในการโดยสารแต่ละครั้ง ที่มักกินเวลานานกว่ารถสาธารณะรูปแบบอื่น

และถ้าจะพูดถึงผู้ให้บริการรายใหญ่สำหรับรถเมล์ในกรุงเทพฯ คงหนีไม่พ้น ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ’ หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า ‘ขสมก.’ ซึ่งถือเป็น ‘พี่ใหญ่’ ของวงการนี้ ด้วยจำนวนรถที่มีให้บริการกว่า 3,000 คัน ในปัจจุบัน

โดย ‘ขสมก.’ นั้น จัดเป็นองค์กรประเภทรัฐวิสาหกิจ ขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคม และเริ่มให้บริการรถโดยสารสาธารณะภายใต้ชื่อ ‘ขสมก.’ มาตั้งแต่ปี 2519 ด้วยค่าโดยสารที่จับต้องได้ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกหย่อมหญ้า

อย่างไรก็ดี ภายใต้การให้บริการที่แสนจะถูกนั้น เบื้องหลังการบริหารธุรกิจ ‘ขสมก.’ กลับแบกหนี้สินไว้อย่างมหันต์ โดย ‘ขสมก.’ เปิดเผยว่าในปี 2564 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,000-8,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท ทำให้มีผลประกอบการขาดทุน 5,000-6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ‘ขสมก.’ มีหนี้สินค้างชำระรวมทั้งสิ้น 127,797 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 มกราคม 2564)

แล้วหนี้สินของ ‘ขสมก.’ เกิดจากอะไรล่ะ? เชื่อว่าคำถามนี้ต้องผุดขึ้นมาในหัวของทุกคนอย่างแน่นอน เมื่อได้เห็นจำนวนตัวเลขที่น่าตกใจแบบนี้ ซึ่งก็คงต้องบอกว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาลและผลขาดทุนสะสมที่สูงขนาดนี้ มีผลมาจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดย ‘ขสมก.’ ได้มีการเปิดเผยในส่วนของผลกระทบหลักต่อกิจการเอาไว้ดังนี้

ด้านปัจจัยภายใน
1. มีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูง จากโครงสร้างการบริหารจัดการที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าสวัสดิการพนักงาน ค่าบำรุงรักษารถโดยสาร เป็นต้น

2. สภาพรถโดยสารที่ชำรุดทรุดโทรม จากการใช้งานมากกว่า 20 ปี นอกจากจะมีผลกระทบประสิทธิภาพในการให้บริการแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อค่าซ่อมบำรุงที่สูงกว่ารถโดยสารทั่วไป รวมทั้งจำนวนรถโดยสารมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ทำให้เสียโอกาสในการหารายได้

3. ขาดความต่อเนื่องของบุคลากร โดยในแต่ละปีมีบุคลากรทยอยเกษียณอายุ ขณะที่ขาดผู้เข้ามารับช่วงต่อองค์ความรู้ในสายอาชีพเฉพาะด้าน เช่น กฎหมาย บัญชี นิติกร เศรษฐศาสตร์ สถิติวิเคราะห์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2538 ไม่ให้ ‘ขสมก.’ เพิ่มอัตรากำลังในส่วนของพนักงานประจำสำนักงาน

4. การขาดทุนจากการดำเนินงานและหนี้สะสม เนื่องจาก ‘ขสมก.’ เป็นกิจการสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ให้บริการแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นหลักและไม่มีเงินทุนประเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลกำหนดมาตรฐานการให้บริการสูง แต่ ‘ขสมก.’ ไม่สามารถกำหนดราคาค่าโดยสาร ที่เหมาะสมกับต้นทุนได้ รวมถึง ‘ขสมก.’ ต้องเดินรถเชิงสังคมในบางเส้นทางและเส้นทางที่เปิดใหม่ ที่มีผู้โดยสารน้อย ซึ่งทำให้รายได้ต่ำกว่าต้นทุนที่ดำเนินการ ส่งผลให้ ‘ขสมก.’ มีผลประกอบการที่ขาดทุน และหนี้สะสมเกินความสามารถของ ‘ขสมก.’ ที่จะชำระคืนได้

5. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ทำให้ ‘ขสมก.’ มีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงมาก ตลอดจนประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้ในปัจจุบัน

6. สถานที่ทำการ (อู่) ถึงแม้ว่า ‘ขสมก.’ จะมีอู่จอดรถจำนวนมาก แต่ด้วยอู่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ‘ขสมก.’ เป็นการเช่าจากทั้งเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ต้องมีการย้ายอู่เมื่อหมดสัญญาเช่าเป็นระยะ ขณะที่พื้นที่ใหม่ ๆ ที่จะใช้ในการสร้างอู่ เริ่มหายากมากขึ้นและอยู่ไกลมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียจากการวิ่งรถเปล่า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยภายนอกนั้น ประกอบด้วย
1. รถโดยสารประเภทอื่น ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การวิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารบนถนนใหญ่ทับเส้นทางกับรถโดยสารประจำทางของ ‘ขสมก.’ ส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ‘ขสมก.’ ลดลง

2. สภาพแวดล้อมในการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางไม่เอื้ออำนวย จากสภาพการจราจรที่ติดขัดหนาแน่น มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ สภาวะการแข่งขันของขนส่งประเภทอื่นมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการ เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทาง
และมีความสะดวกสบายมากขึ้น

3. เส้นทางเดินรถโดยสารไม่เป็นระบบตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากเส้นทางเดินรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการกำหนดเป็นรายเส้นทาง โดยไม่ได้พิจารณาถึงภาพรวมการขยายตัวของชุมชน และความเจริญของเมืองที่ต้องมีการปรับผังเมือง การขยายถนน ไปสู่นอกเมืองปริมณฑล แต่เส้นทางการเดินรถเท่าเดิม และไม่ได้มีการปรับปรุงตามความเป็นจริง

ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ คงพอจะเป็นคำตอบให้เราได้ว่า เพราะอะไร ‘ขสมก.’ ถึงมีทั้งหนี้สินและผลขาดทุนสะสมมากขนาดนี้ และคงต้องบอกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหา ‘เรื้อรัง’ ที่อยู่คู่กับ ‘ขสมก.’ มาอย่างยาวนาน โดยหากไม่เร่งแก้ไขโดยไว ก็จะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ เสมือนเป็นวัน ‘ฟ้าเปิด’ ของ ‘ขสมก.’ เมื่อทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ‘ครม.’ ได้มีมติอนุมัติให้ ‘ขสมก.’ กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 7,516 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งพบว่าปัจจุบัน (ณ กรกฎาคม 2565) ‘ขสมก.’ ยังคงมีหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 132,565 ล้านบาท

โดยในการกู้เงินครั้งนี้ ‘ขสมก.’ จะเป็นการชำระค่าเชื้อเพลิง 2,250 ล้านบาท, ชำระค่าเหมาซ่อม 1,422 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,844 ล้านบาท ซึ่งการกู้เงินจะทำให้ประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้ถึง 180.95 ล้านบาท

ก็ไม่รู้ว่าการกู้เงินครั้งนี้ จะนำมาซึ่งการเคลียร์หนี้และสะสางปัญหาให้ ‘ขสมก.’ ได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยที่สุดก็ถือเป็นการ ‘พยุง’ กิจการให้ยังคงเดินไปได้ และก็ได้แต่หวังว่าในท้ายที่สุดแล้ว ‘ขสมก.’ จะพบกับทางออกที่ช่วยให้หลุดพ้นจากปัญหาเรื้อรังนี้โดยเร็ว

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, กรมประชาสัมพันธ์, ข่าวสด, InfoQuest

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รถเมล์ #ขสมก. #องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ