ฝึกทักษะพร้อมใช้งาน AI และ ML เพื่อมาตรฐานธุรกิจที่เหนือกว่า

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรม เราคงได้คุ้นเคยกันดีกับคำว่า ML (Machine Learning) และ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกวิจัยและพัฒนาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถปรับความเหมาะสมให้เข้ากับธุรกิจตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามการปรับตัวของทุกภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรรมยังคงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดระยะยาว

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการ DPU X มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association CEO บริษัท ZTRUS เล่าว่า ความเป็นมาของการนำ AI และ ML มาใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1960 – 1970 หมายความว่า ระยะเวลากว่า 60 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน คอนเซปต์หรือกระบวนความคิดบางอย่างของ AI ยังคงอยู่ และสามารถนำมาปรับใช้กับสาขาธุรกิจต่าง ๆ ได้

ปัจจุบันทุกภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้มีการนำ AI และ ML เข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมากมายที่ต้องมีหุ่นยนต์ เครื่องจักรต่าง ๆ ในการเรียนรู้สภาพแวดล้อม การตัดสินใจ การรักษาความปลอดภัยของตัวเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่ได้รับคำสั่ง หรือแม้กระทั่ง Speech Recognition การสั่งการด้วยคำสั่งเสียง ที่ปัจจุบันคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในการใช้ Siri หรือ Alexa

ย้อนกลับไปในช่วง 2015 – 2016 ที่ผ่านมา AI ยังเป็นสิ่งใหม่ที่หลายอุตสาหกรรมยังไม่คุ้นชิน ซึ่งในตอนนั้น ภาคธุรกิจไหนมีการนำมาใช้ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ และมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเป็นอย่างมาก ในทางกลับกันการมี AI ในปัจจุบันถือเป็นเทคโนโลยีบรรทัดฐานของทุกการใช้งาน หากธุรกิจไม่มีเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเสียหายทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และมีโอกาสรอดต่ำ

ต้องเข้าใจว่า AI จะเข้ามามีบทบาทอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ในช่วง 5-6 ปีที่แล้วใครมี AI ถือว่าได้เปรียบกว่าคู่แข่ง แต่ปัจจุบันใครไม่มี AI โอกาสรอดต่ำ

สำหรับการทำงานที่ต้องพึ่งพา AI นั้น ดร.พณชิต อธิบายว่า เหมาะสำหรับรูปแบบการทำงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และสม่ำเสมอ เช่น งานคีย์เอกสาร ที่มีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำ ๆ หรือการทำงานที่ต้องอาศัยการเคลื่อนที่สินค้าในตำแหน่งเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งงานเหล่านี้เป็นรูปแบบการทำงานที่การกินเวลาทำงานของบุคลากรที่มีทักษะสูงเป็นอย่างมาก AI จึงสมควรที่จะเป็นตัวช่วยในการตอบโจทย์รูปแบบการทำงานเหล่านี้ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

คนที่ทำงานเพียงทำตามสั่ง ก็จะไม่ต่างกับหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์รู้เรื่องทำงานตามคำสั่งได้แม่นยำกว่าเรา แต่ถ้าเรารู้วิธีการสั่งงานหุ่นยนต์ เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น ดร.พณชิต กล่าว

ท้ายที่สุดแล้ว ดร.พณชิต ได้ฝากถึงธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ต้องอยู่ควบคู่กันกับ AI และ ML ไปอีกยาวนานว่า มนุษย์ต้องเรียนรู้การใช้งาน เข้าใจข้อจำกัด เพื่อบรรลุเป้าหมายของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และตามทันกับอนาคตของ AI และ ML ต่อไป

นี่เป็นเพียงบทความส่วนหนึ่งจากเนื้อหาเรื่อง “เตรียมพร้อมอนาคต AI และ ML มาตรฐานธุรกิจ ที่มนุษย์ต้องเหนือกว่า” หากใครต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3nLf1as