‘บางจาก’ จะได้อะไรจากการซื้อ ‘เอสโซ่’ คุ้มไหม? กับมูลค่ากิจการ 5.5 หมื่นล้านบาทครั้งนี้

วันนี้ยักษ์ใหญ่วงการพลังงานได้ออกมายืนยันข่าวใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาตั้งแต่ปลายปี 2565 เกี่ยวกับดีลใหญ่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสภาพตลาดของอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย นั่นคือ ‘บางจาก’ จะเข้าซื้อกิจการ (Take Over) ESSO” โดยที่ในตอนนั้น ทั้ง บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ( BCP) ที่รู้จักกันดีคือปั้มบางจาก และ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) หรือปั้ม ESSO ยังปากหนักไม่แสดงความเห็นใดๆ กับกระแสข่าวดังกล่าว แต่หลายฝ่ายต่างมองเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง และในที่สุดก็มีการยืนยันจาก 2 บริษัทในวันนี้ (12 ม.ค.66)

โดยที่บางจากเคยประกาศแผนธุรกิจออกมาในช่วงก่อนเกิดข่าวเมื่อปลายปีที่แล้วว่า ต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเน้นลงทุนในธุรกิจน้ำมันในการใช้ในการขยายสาขาสถานีบริการน้ำมัน และยังต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจ Non Oil เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่บางจากเลือกใช้วิธีการซื้อกิจการของคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันอย่างเอสโซ่จึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และมีโอกาสที่จะคืนทุนได้รวดเร็วกว่า เพราะการลงทุนด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาปั้มน้ำมัน หรือการลงทุนโรงกลั่นนั้นจำเป็นต้องขออนุญาต และมีกระบวนการมากมาย

แต่ดีลครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น เราต้องการวิเคราะห์ว่า บางจากจะได้รับอะไรจากการซื้อกิจการครั้งนี้ และจะคุ้มค่าหรือไม่นั้น? เราต้องย้อนกลับมาดูสินทรัพย์ และกิจการที่ทั้ง 2 มี ประกอบร่วมกับราคาที่ทำการซื้อขาย

เริ่มกันที่ข้อมูลทางการเงินของผู้ที่จะเข้าไปซื้อกิจการ โดยข้อมูลของปี 2564 พบว่าบางจาก มีกำไรสุทธิ 7,623.79 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่ากำไรทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 14,388.25 ล้านบาท (ค่าเฉลี่ยของนักวิเคราะห์) จากกำไรงวด 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 12,102.60 ล้านบาท ในแง่เงินสดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของบางจากอยู่ที่ 33,288.12 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 144,435.22 ล้านบาท โดยบางจากเป็นบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างดี ด้วยอัตรากำไรสุทธิ 6.07%

ขณะที่ในส่วนของผู้ขายกิจการอย่างเอสโซ่ เป็นเจ้าของธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม และขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแบบครบวงจร และยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ รวมถึงมีปั้มน้ำมันเพื่อขายให้กับรายย่อย และขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม ค้าส่ง การบิน การเดินเรือ โดยเอสโซ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย วันที่ 6 พ.ค. 2551 (15 ปีที่แล้ว) โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ExxonMobil

ซึ่งเอสโซ่มีกำไรสุทธิ 4,443.21 ล้านบาทในปี 2564 ขณะที่มีการคาดการณ์ว่ากำไรทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 14,251.45 ล้านบาท (ค่าเฉลี่ยของนักวิเคราะห์) จากกำไรงวด 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 11,071.70 ล้านบาท และในแง่เงินสดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดของบางจากอยู่ที่ 33,288.12 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 67,035.62 ล้านบาท เป็นหนี้สินหมุนเวียน  ล้านบาท ด้วยอัตรากำไรสุทธิ 5.55%

โดยการซื้อกิจการครั้งนี้บางจากต้องใช้เงินทั้งหมดมูลค่า 20,198 ล้านบาท จากการเข้าซื้อหุ้นจำนวน 65.99% หรือจำนวน 2,283 ล้านหุ้น (ราคาหุ้นละ 8.85 บาท) ขณะที่การเข้าซื้อหุ้นเกิน 25% ทำให้บางจากต้องทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) จากผู้ถือหุ้นของเอสโซ่ทั้งหมดอีกจำนวน 1,177 ล้านหุ้น หรือ 34.01% ที่เหลือ ซึ่งหากผู้ถือหุ้นทุกคนขายหุ้นให้บางจากครบทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่าเงินประมาณ 12,947 ล้านบาท (คำนวณราคาขาย 11 บาทต่อหุ้น) เท่ากับว่าซื้อกิจการครั้งนี้จะใช้เงินราว 33,145 ล้านบาท จากมูลค่ากิจการของเอสโซ่ (รวมหนี้สิน) 55,000 ล้านบาท

ทั้งนี้หากเราเทียบราคาซื้อขายที่ประกาศออกมาในวันนี้ (12 ม.ค.66) กับราคาก่อนประกาศดีล (11 ม.ค.66) ซึ่งราคาหุ้นอยู่ที่ 11.10 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวนั้น ทำให้เอสโซ่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ล่าสุดอยู่ที่ 38,415.52 ล้านบาท (ต่ำกว่ามูลค่ากิจการของเอสโซ่ 16,584 ล้านบาท) ขณะที่ราคาซื้อขายซึ่งอยู่ที่ประมาณหุ้นละ 8.85 บาท นั้น ยังสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลล่าสุดอยู่ที่ 8.31 บาท

แต่ Market Cap และมูลค่าทางบัญชี นั้น อาจยังไม่ได้สะท้อนถึงอัตราการเติบโต และอัตราการทำกำไรของบริษัทในอนาคตได้ทั้งหมด เราจึงต้องมาดูสินทรัพย์ที่บางจากจะได้รับจากดีลครั้งนี้ประกอบด้วย

โดยหากดีลนี้สำเร็จจะทำให้บางจาก มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 294,000 บาร์เรลต่อวัน และสถานีบริการจะเพิ่มขึ้นไปจากสาขาปัจจุบันมากกว่า 1,200 สาขา เมื่อรวมกับเอซโซ่ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 700 สาขา รวมเป็นทั้งหมดเกือบ 2,000 สาขา โดยสาขาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทันที แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าเครือปตท. และปั้ม PT ที่มีสาขาสูงกว่า 2,000 สาขา

แต่เนื่องจากเอสโซ่มีธุรกิจครบวงจรทั้งคลังน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมัน และยังมีอีกหนึ่งจุดเด่นที่ไม่มีใครแทนได้ นั่นคือ เอสโซ่เป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ซึ่งเป็นเจ้าเดียวที่มีสิทธิในการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน ซึ่งเท่ากับว่าบางจากจะได้รับสิทธินี้ไปโดยปริยายจากการซื้อกิจการครั้งนี้ (กลายเป็นเจ้าของกิจการที่ผูกขาดไปทันที)

และเมื่อมองไปถึงแง่ของการดำเนินธุรกิจแล้ว การซื้อกิจการครั้งนี้จะทำให้บางจากเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) สำหรับธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมี เพราะจะสามารถใช้ทั้งสินทรัพย์ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้จากเอสโซ่เข้ามาทั้งหมด จึงทำให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่เรายังพบข้อมูลว่า เอสโซ่ นั้นเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัททางอ้อมทั้งหมด 6 บริษัท ประกอบไปด้วย
– บริษัท โมบิล เอ็นเทอร์ไพรซิส (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 100% ทำธุรกิจการขายส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม
– บริษัท วิสาหกิจส่งเสริมอุตสาหกรรม จำกัด ถือหุ้น 30% ทำธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
– บริษัท ร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด ถือหุ้น 49% ทำธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
– บริษัท เพซเซตเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด ถือหุ้น 33% ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
– บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด ถือหุ้น 21% ธุรกิจขนส่งน้ำมันทางท่อ
– บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ถือหุ้น 7% ธุรกิจให้บริการน้ำมันอากาศยานแก่สายการบิน

ซึ่งเราเห็นว่านอกจากธุรกิจโรงกลั่น และปั้มน้ำมันที่น่าสนใจแล้ว เอสโซ่ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งการเข้าซื้อเอสโซ่ก็จะทำให้บางจากได้รับสินทรัพย์ในส่วนของบริษัทเหล่านี้ไปครอง และสามารถใช้สินทรัพย์เหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจได้อีกมากมาย

นอกจากนี้เมื่อดูกันที่ความสามารถในการทำกำไรแล้วนั้น แม้เอสโซ่จะมีหนี้สินติดตัวมาค่อนข้างสูงก็ตาม แต่หากยังสามารถทำกำไรสุทธิได้ดีเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็จะทำให้บางจากถึงจุดคุ้มทุนกับการลงทุน 55,000 ล้านบาท ได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี (โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาน้ำมันโลกยังอยู่ในระดับสูง)

ที่มา : SET

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#Businessplus #Business #นิตยสารBusinessplus #บางจาก #เอสโซ่ #BCP #ESSO #ปั้มน้ำมัน