แนะหาตลาดส่งออกใหม่ “หลบภัย”สงครามการค้า “อินทรีตีกับมังกร”

จากกรณีที่สหรัฐ อเมริกา ประกาศจะเพิ่มการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเป็นร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 10 วงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะที่จีนได้ตอบโต้ทันควันเช่นกัน โดยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อีกมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แน่นอนว่า การตอบโต้กันไปมาระหว่าง 2มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก กำลังจะสร้างวิกฤติทางการค้าครั้งใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง

แน่นอนว่าสงครามการค้าที่ตอบโต้กันไปครั้งนี้ แม้ว่าพญามังกรดูจะเจ็บตัวมากกว่าแต่ทางฝั่งของพญาอินทรีย์ก็เจ็บตัวไม่ต่างกัน ในขณะที่ประเทศอื่นซึ่งไม่ใช่คู่กรณีโดยตรง อย่างประเทศไทย จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จากสงครามการค้าดังกล่าว

 

หากมองโดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยจะได้รับผลดี เพราะเมื่อสหรัฐฯเก็บภาษีจากจีนในอัตราที่สูง ก็จะมีสินค้าบางอย่างของไทยที่สามารถนำเข้าไปขายในสหรัฐฯได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อจีนเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าบางอย่างของสหรัฐฯสูงขึ้น เช่น สินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สินค้าเกษตรจากประทศไทยส่งออกไปจีนได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้ถือว่าประเทศไทยได้ประโยชน์

 

อย่างไรก็ตามประเทศไทยซึ่งไม่ใช่คู่กรณีและได้รับทั้งผลกระทบและข้อได้เปรียบ ไม่อาจนิ่งนอนใจ การมองหาตลาดใหม่ๆ รองรับไว้ตั้งแต่วันนี้ย่อมดีกว่า ซึ่งตลาดที่อยู่รอบๆ อย่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ก็ยังคงเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เข้าไปจับจองพื้นที่ได้ไม่ยาก หากได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง เพราะสินค้าจากประเทศไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว และที่สำคัญถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อม สงครามการค้าที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤต อาจจะกลายเป็นโอกาสขึ้นมาก็ได้

ทั้งนี้ Bangkok Bank SME มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาด โดย3 สิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อมก่อนขยายธุรกิจออกไปสู่ตลาดอาเซียน นั่นก็คือ

 

1.ความรู้เรื่องกฎหมายในประเทศเป้าหมาย : หากคิดจะขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศ สิ่งที่แรกที่ต้องทำคือการศึกษากฎหมายและกฎข้อบังคับต่าง ๆ รวมไปถึงข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่ต้องการจะไปทำการค้าและการลงทุน ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่สามารถหาได้ตามอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ การมีนักกฎหมายไว้เป็นที่ปรึกษาในกรณีที่ต้องทำหนังสือสัญญาหรือเอกสารที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายเข้ามาดูแลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ละเลยไม่ได้

 

2.ทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมาย IPR : เรื่องนี้สำคัญมาก หากคุณคิดว่าเพียงแค่การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศจะทำให้คุณสามารถไปเฉิดฉายในต่างแดนได้นั้นบอกเลยว่าผิด! เพราะนอกเหนือจาก IPR แล้ว การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญหากคิดที่จะขยายธุรกิจตัวเองออกไปต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยเรามาสารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำทุกขั้นตอนโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย หากรอที่จะจดทะเบียนทางการค้าหลังจากสินค้าของเราติดตลาดแล้วอาจจะมีคนชิงตัดหน้าจดทะเบียนไปก่อนแล้วก็ได้

 

3.ความพร้อมของระบบการทำงาน : องค์ประกอบสำคัญเพื่อรองรับธุรกิจในต่างแดนที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง อาทิ การเก็บข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับนำไปวิเคราะห์ต่อยอดทางธุรกิจ การมีระบบ supply chain ที่แข็งแรงสามารถดูแลให้มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง การตกลงเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างบริษัทกับพนักงาน การจัดการข้อมูลความลับทางธุรกิจ และที่สำคัญควรมีคู่มือในการผลิต คู่มือขนส่งสินค้า เอกสารการรับประกันสำหรับลูกค้าให้พร้อมสำหรับส่งต่อให้คู่ค้าในต่างประเทศได้ทันที

ทั้ง 3 ข้อ ที่ Bangkok Bank SME แนะนำมานั้น เป็นข้อสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะออกไปปักหมุดในเวทีระดับอาเซียน และหากต้องการคำแนะนำแบบเจาะลึกและการลงทุนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือขยายไปในตลาดโลก ธนาคารกรุงเทพ มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านSME พร้อมให้คำปรึกษาทุกแง่มุม คลิกมาได้ตลอดเวลา ผ่าน www.bangkokbanksme.com หรือ โทร call center 1333

 

นอกเหนือจากการมองหาตลาดใหม่ๆแล้ว อีกหนึ่งท้าทายที่ต้องจับตามองคือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อมหาอำนาจเกิดการกระทบกระทั่งกัน ย่อมทำให้เกิดลูกหลงขึ้นมาได้ โดยผลกระทบแรก จะเกิดกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังจีน แล้วจีนนำไปประกอบเพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐฯ เช่น ไทยส่งฮาร์ดดิสก์ไปจีน แล้วจีนประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ส่งไปขายสหรัฐฯ เมื่อสหรัฐฯเก็บภาษีสินค้าจีนสูงขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดผลกระทบกับไทยด้วย

 

และหากสงครามการค้ายืดเยื้อออกไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจของไทย เพราะไทยถือว่าเป็นคู่ค้าสำคัญของจีน ทั้งในด้านการค้าและการท่องเที่ยว

เมื่อผลกระทบมีทั้งด้านดีและไม่ดี ประเทศไทยควรต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะเมื่อเกิดสงครามการค้า นอกจากแบบแผนทางการค้าจะเปลี่ยนไปแล้ว ในด้านการลงทุนระหว่างประเทศยังจะเปลี่ยนไปด้วย

 

ขณะนี้เริ่มเห็นบรรดาบริษัทจากสหรัฐ ที่ไปตั้งฐานการผลิตในจีน เริ่มชลอการลงทุนและเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ เพื่อรับมือกับกำแพงภาษีจากการส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, คอมพิวเตอร์ และปิโตรเคมี

 

แน่นอนว่า การย้ายฐานการผลิต ย่อมต้องเป็นประเทศที่ไม่ใช่คู่กรณี ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่เหมาะกับอุตสาหกรรมการผลิตที่สุด เพราะฉนั้น ประโยชน์ที่ได้จะได้รับ นอกเหนือจากการส่งสินค้าไปจีนและสหรัฐฯได้มากขึ้น แต่ยังจะได้อานิสงส์จากการที่บริษัทที่เคยลงทุนในจีนย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้มากขึ้น

 

โดยภูมิภาคอาเซียนโดยรวมจะได้รับประโยชน์ ซึ่งประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุด คือ เวียดนาม เพราะมีความพร้อมทางด้านแรงงาน ที่สามารถรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ รองลงมาคือไทย แม้จะมีความพร้อมในทุกๆด้าน ที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันไทยมีข้อจำกัดด้านแรงงานอย่างพอสมควร ทำให้ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากเท่าที่ควร

 

แต่เมื่อมองถึงในแง่ผลกระทบจากการประเมินของ กระทรวงพาณิชย์ โดย น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เฉพาะกรณีสหรัฐประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าบางรายการเพิ่มจากจีน จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ถือเป็นพิกัดเต็มอัตราและคงต้องติดตามสัปดาห์นี้สหรัฐจะประกาศรายสินค้าที่เรียกเก็บจากจีนเพิ่มกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ามีทั้งดีและไม่ดีต่อประเทศส่งออกไปทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังมองว่าอาจจะไม่ใช่ผลกระทบที่รุนแรงมากนัก เพราะแม้ว่า สหรัฐฯขึ้นภาษีรอบนี้ จะทำให้ไทยส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 หรือ 779 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากยอดส่งออกรวมกว่า 225,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในตลาดจีน ไทยส่งออกไปจีนลดลง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีส่วนต่างประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แสดงให้เห็นว่าแม้การส่งออกของไทยโดยรวมจะลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าไทยยังมีโอกาสเร่งผลักดันการทำตลาดทั้ง 2 ประเทศได้ อีกทั้งประเทศคู่แข่งที่เคยส่งไปทั้ง 2 ประเทศยังมีโอกาสหาตลาดประเทศอื่น ๆ ถือเป็นโอกาสดีของไทยที่หลายประเทศสั่งซื้อวัตถุดิบของไทยเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ดี หากมองเพียงผิวเผิน สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจจะดูเหมือนว่าสหรัฐฯ ต้องการลดความเสียเปรียบจากการดุลการค้าที่เสียให้จีนจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่แท้ที่จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯกำลังสกัดการเติบโตของจีน ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ของโลก และมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ย่อมไม่ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาทาบรัศมีง่ายๆ อย่างแน่นอน

 

ไม่ว่าการเจรจารอบใหม่ระหว่างประธานาธิบดีของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเร็วๆนี้ จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งอาจจะสามารถหาข้อสรุปและยุติสงครามการค้าได้ แต่เชื่อว่า ในอนาคต ย่อมต้องเกิดการกระทบกระทั่งทางเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศนี้อีกอย่างแน่นอน

 

ดังนั้นผู้ประกอบการไทย ควรเตรียมพร้อมหามาตรการรับมือกับสงครามการค้าที่อาจจะยืดเยื้อต่อไปอีกพอสมควร ซึ่งก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน อาทิ การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าสินค้า ต้องระมัดระวังค่าเงินบาทที่จะมีความผันผวน เพราะต้องนำไปแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์หรือเงินหยวน นั่นเพราะเมื่อเกิดสงครามการค้า ค่าเงิน จะผันผวนและอ่อนไหวตามข่าวสารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน