เปิดข้อมูล 6 แบงก์ใหญ่ ‘ธนาคารกรุงไทย’ ครองแชมป์ปล่อยสินเชื่อสูงสุด!!

ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ผ่านมา ความต้องการสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักมาจากการขอสินเชื่อในภาคการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความต้องการสินเชื่อทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการส่งออก (เป็นไปตามแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น)

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็นธนาคารที่มียอดการปล่อยสินเชื่อสูงที่สุดใน 6 ธนาคาร (กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, ทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB)

โดยธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อสูงถึง 2,560,332 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564) ส่วน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ยังครองแชมป์ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (จัดอันดับจากสินทรัพย์สูงที่สุด) และยังเป็นธนาคารที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศมากที่สุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ มีสินทรัพย์อยู่ที่ 4,275,690.76 ล้านบาท ด้วยสาขาที่มากถึง 1,117 สาขา แบ่งเป็นสาขาในประเทศ 1,097 สาขา และสาขาต่างประเทศ 20 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564) อีกทั้ง ธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นธนาคารที่มีเงินฝากมากที่สุดสูงถึง 3,124,277 ล้านบาท

#แนวโน้มความต้องการสินเชื่อไตรมาส 4
มาดูแนวโน้มความต้องการสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่ใกล้ประกาศผลการดำเนินงานออกมาแล้ว ซึ่งเป็นการสำรวจของ ธปท. พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs มีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจในภาคการค้าต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามการดำเนินธุรกิจที่กลับมาเป็นปกติหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ก็ต้องการสภาพคล่องเพื่อใช้ประคับประคองธุรกิจ

ส่วนในภาคการผลิตต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการส่งออก อีกทั้งต้องการสินเชื่อเพื่อควบรวมกิจการ แต่ในส่วนของความต้องการสินเชื่อเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้พบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2564 ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกหมวดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด โดยความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดที่จะปรับดีขึ้นและจากการส่งเสริมการขาย ทั้งนี้ สง. ส่วนหนึ่งมองว่าครัวเรือนบางกลุ่มจะยังระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของการระบาดในอนาคต

สำหรับแนวโน้มภาพรวมของกลุ่มธนาคารประเทศไทยปี 2565 ‘ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics’ มองว่า การที่ประเทศไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเป็นระบบจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นตัว จึงถือเป็นปีที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย น่าจะมีการฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจไทย จากความต้องการสินเชื่อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในหลากหลายกลุ่ม

เบื้องต้น ttb analytics คาดว่าสินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ 5.5% จากการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่เงินฝากมีทิศทางเติบโตลดลง โดยขยายตัวจากการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

ในฝั่งการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ SMEs รายย่อย มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการในการเสริมสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงธุรกิจและจัดการสต๊อกสินค้าในภาคการค้าและการบริการ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ประกอบกับแรงสนับสนุนของสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้คาดว่าสินเชื่อธุรกิจ SMEs จะกลับมาเติบโตอีกครั้งที่ 4.5% ในปี 2565

ส่วนสินเชื่อรายย่อย คาดว่าจะเห็นการเติบโตได้จากสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น 7%) จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อภายในประเทศจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV)

ที่มา : SET, BOT, ศคง.
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #กลุ่มธนาคาร #BANK #ธนาคารพาณิชย์