Aspartame

ผลวิจัยล่าสุด สารให้ความหวาน ‘อาจก่อมะเร็ง’ ต้องบริโภคจำนวนจำกัด แต่จะวิจัยลึกขึ้นอีก! อนาคตแบรนด์ใหญ่เสี่ยงโดนสั่งเรียกคืนสินค้า

จากประเด็นข่าวและการวิจัยว่าความหวานเทียม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อย่าง ‘สารแอสปาร์แตม’ (Aspartame) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานเทียม (เคมี) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มลดน้ำหนัก หมากฝรั่ง เจลาติน ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต อาหารเช้าซีเรียล ยาสีฟัน และยา เช่น ยาแก้ไอและแบบเคี้ยว วิตามิน มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ล่าสุด ในวันนี้ (14 ก.ค.2566) องค์กรที่สังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศผลการวิจัยจากหลายหน่วยงาน คือ การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) , องค์การอนามัยโลก (WHO) , องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมด้านวัตถุเจือปนอาหาร (JECFA) ว่า มีหลักฐานที่จำกัด ว่า สารแอสปาร์แตม ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และยังยืนยันว่าปริมาณที่มนุษย์สามารถยอมรับได้ในแต่ละวันคือ 40 มก./กก. น้ำหนักตัว หรือหากให้พูดง่าย ๆ คือ

“หน่วยงานของ WHO ได้ยืนยันว่า การบริโภคสารให้ความหวานนี้ยังปลอดภัยสำหรับคนที่จะบริโภคภายในขีดจำกัดนี้ต่อวัน เช่น น้ำอัดลมไดเอท 1 กระป๋องที่มีแอสปาร์แตม 200 หรือ 300 มก. ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนัก 70 กก. จะต้องกินมากกว่า 9-14 กระป๋องต่อวันเพื่อให้เกินปริมาณที่รับได้ในแต่ละวัน หากไม่มีการบริโภคจากแหล่งอาหารอื่น”

อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ ‘Business+’ มองว่าเป็นประเด็นใหญ่ของโลกที่ต้องจับตาต่อ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการบริโภคที่จำกัดต่อวันแต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกวิจัยและพบความอันตรายในแง่อื่นๆ ในอนาคต เพราะหากมองในแง่ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอาหารแล้ว เราจะเห็นว่าเทรนด์รักสุขภาพ และดูแลรูปร่างของคนทั่วโลกได้นำมาสู่การคิดค้นสูตรการให้ความหวานเทียมแทนน้ำตาล และทำให้สินค้าประเภทนี้ขายดี

ดังนั้น ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมามีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่ม และหมากฝรั่งจำนวนมากที่ใช้สารให้ความหวานนี้ โดยเฉพาะ แอสปาร์แตมคือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ถูกใช้มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก โดยใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายตั้งแต่น้ำอัดลมปราศจากน้ำตาลของโคคา-โคลาไปจนถึงหมากฝรั่งมาร์ส เอ็กซ์ตรา (Mars’ Extra) และเครื่องดื่มชาและน้ำผลไม้ของแบรนด์ สแนปเปิล (Snapple)

ซึ่งในอนาคตหากผลวิจัยออกมาแล้วพบว่า ก่อนให้เกิดโรคร้ายแรงได้จริง ก็จะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ผลิตและออกจำหน่ายไปทั่วโลก กรณีเลวร้ายต้องเรียกคืนสินค้าทั้งหมด และยังต้องแบกรับต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการลงทุนเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะ รวมถึงต้องแบกรับต้นทุนจากวัตถุดิบที่อาจมีการทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ป้อนวัตถุดิบต้นทุนด้วยเช่นกัน

โดยโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก ทุกปี 1 ใน 6 คนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งประเมินปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยคาดหวังว่าจะสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งให้ได้

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.ฟรานเชสโก บรังกา ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหาร WHO ที่กล่าว การประเมินแอสปาร์แตม แม้ว่าความปลอดภัยจะไม่ใช่ประเด็นหลักในขนาดที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็มีการอธิบายถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยการศึกษาเพิ่มเติมและดียิ่งขึ้น

โดยการประเมินครั้งนี้ได้วิเคราะห์ผลกระทบของแอสปาร์แตม อิงตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่รวบรวมจากแหล่งต่างๆ รวมถึงเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ รายงานของรัฐบาล และการศึกษาที่ดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ด้านกฎระเบียบ การศึกษาได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ และคณะกรรมการทั้งสองได้ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าการประเมินมีความเป็นอิสระและเชื่อถือได้ แต่ก็ยังจะยังคงติดตามหลักฐานใหม่ ๆ และสนับสนุนให้กลุ่มวิจัยอิสระพัฒนาการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการสัมผัสสารให้ความหวานกับผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : WHO
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS