AMADO

Long Term Investment กลยุทธ์ขับเคลื่อน AMADO ไปไกลกว่า ‘แบรนด์อาหารเสริม’

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนกันยายน 2566 จะพาผู้อ่านไปพบกับแนวความคิดจาก 2 ผู้บริหารจาก บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด คุณธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคุณกาลย์กัลยา ภูโชคอนันต์  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้ปั้นแบรนด์ AMADO ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” แต่ความน่าสนใจคือ การไม่หยุดที่จะพัฒนาธุรกิจของ ‘คุณเชน ธนาตรัยฉัตร’ ทำให้ปัจจุบันอมาโด้มีโมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงจนเกิดเป็น Ecosystems ซึ่งเกิดจากการวางรากฐานธุรกิจในระยะยาว (Long Term Investment) ทั้งเป็นผู้วิจัยและผลิตสินค้า รวมถึงการ Distribution สินค้าสู่สายตาผู้บริโภค ไปตลอดจนถึงการนำ Data ที่สะสมมาตลอด 10 ปีของการทำธุรกิจ แล้วขับเคลื่อนการตลาดด้วยข้อมูล หรือ Data Driven Marketing ด้วยการนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์หาความต้องการของลูกค้าในเชิงลึก (Customer Insight) สู่การออกแบบโปรโมชันและนำเสนอสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของตลาด ทำให้วันนี้ ‘อมาโด้’ ไปไกลกว่า ‘แบรนด์อาหารเสริม’

โดย คุณธนาตรัยฉัตร เปิดเผยกับเราว่า ผลประกอบการในปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน ยังคงเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ทุกวิกฤตที่เข้ามากระทบการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2564 อย่างเช่นสถานการณ์ COVID-19 ที่เข้ามากดกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่กระทบกับธุรกิจอาหารเสริม รวมไปถึงปัญหาในการบริหารต้นทุนธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง ทั้งในแง่ของเรตติ้งที่ไม่คงที่ และค่าใช้จ่ายช่วงออกอากาศ (Air time) ที่บริหารจัดการได้ยาก ซึ่งอมาโด้ได้นำบทเรียนเหล่านี้ มาพัฒนาและปรับกลยุทธ์จึงส่งผลให้ในปี 2565 ผลการดำเนินงานมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง ที่ได้ทำการกำหนดความเสี่ยง และความเหมาะสมของผลตอบแทน โดยเฉพาะการกำหนดมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) รวมถึงราคายุติธรรม (Fair Price) สำหรับการเข้าลงทุน หรือเลือก Channel ได้ถูกต้องและเหมาะสมกับผลตอบแทนที่บริษัทจะได้รับ

ปัจจุบันช่องทางที่สร้างรายได้ให้กับอมาโด้มากที่สุดคือ ทีวีโฮมช็อปปิ้ง ซึ่งอมาโด้มี Air Time 5 ช่องหลักที่มีเรตติ้งสูง และเป็นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม ได้แก่ ช่อง 3, ช่อง 7, Amarin, MONO และ PPTV และยังมี Air Time ในฝั่งเคเบิลทีวีอื่น ๆ มากกว่า 2 ช่อง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอมาโด้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารช่องทางการขายผ่านโทรทัศน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการได้ Air Time จาก 5 ช่องโทรทัศน์หลักก็เข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี

สาเหตุที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นเพราะโมเดลธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งของอมาโด้ ถือเป็นระบบ Ecosystems ที่ไม่เบียดเบียนช่องทางโทรทัศน์ โดยในช่วงที่มีการ On Air Amado Shopping และมีการโปรโมต เพื่อขายสินค้าก็จะช่วยเพิ่มคนดูให้กับช่องได้มากขึ้นเช่นกัน

“อย่างเช่นช่อง 3 มีคนดู 200,000 คน แต่เมื่ออมาโด้นำมา On Air ยอดคนดูอาจะเพิ่มเป็น 240,000 คน ซึ่งกราฟเรตติ้งของอมาโด้จะเป็นปากปลาฉลาม โดยอมาโด้เป็นฟันบนที่เห็นการพัฒนาได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการที่มีหลายช่องทางโทรทัศน์ส่งผลดีกว่าการมีช่องเดียว ซึ่งไพ่ทั้ง 5 ใบที่เรามี ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่เราต้องเข้าใจเกมธุรกิจอย่างถ่องแท้ เพื่อเลือก Air Time ที่สร้างยอดขายที่ดี และสร้าง Brand Awareness ให้กับเรา” คุณธนาตรัยฉัตร กล่าว

ขณะที่ช่องทางขายทางออนไลน์ อมาโด้ ยังมุ่งเน้นและวางแผนพัฒนาอยู่เสมอ แต่คุณธนาตรัยฉัตร กล่าวว่า ด้วยอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อาทิ Facebook ที่มักมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์อยู่ตลอดเวลาอาจทำให้ควบคุมต้นทุนได้ยากกว่าช่องทางโทรทัศน์ที่มีความเสถียรภาพมากกว่า ส่วนฝั่งตัวแทนจำหน่าย (Dealer) นั้น ยังสามารถสร้างยอดขายให้กับบริษัทฯ ได้ราว 20% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนรายได้ที่รักษามาตรฐานได้เป็นอย่างดี

โดยคุณธนาตรัยฉัตร ได้มุ่งเน้นไปที่การบริหารกำไรขั้นต้น (Margin) ของธุรกิจทั้งในช่องทางออนไลน์และโทรทัศน์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยอมาโด้จะต้องรับความเสี่ยงได้ไม่เกิน 25-30% ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ช่องทางขายเกิดความผันผวนเกินขอบเขตที่วางเอาไว้ก็จะหยุดดำเนินการชั่วคราว ซึ่งที่ผ่านมาช่องทางโทรทัศน์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้น และยังสามารถบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการสต็อกสินค้าที่แม่นยำมากขึ้น ด้วยการใช้ Data แบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าช่วงเวลาที่ On Air มีลูกค้าเข้ามาดู และสั่งซื้อสินค้ามากน้อยแค่ไหน

Silver Age รันยอดขาย
ในแง่ของกลุ่มลูกค้าหลักของอมาโด้นั้น คุณธนาตรัยฉัตร กล่าวกับเราว่า ยอดขายส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่มีอายุและมีกำลังซื้อสูง หรือเรียกอีกอย่างว่า Silver Age เป็นกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นลูกค้าระดับบนที่มักจะเกิดความภักดีต่อแบรนด์สูง (Brand Loyalty) ดังนั้นในช่วงที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ก็จะทำให้อมาโด้ได้รับอานิสงส์จากยอดขายที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ อย่างกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เริ่มมีการเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ หลังจากที่แบรนด์อมาโด้เป็นที่รู้จักและโปรโมตผ่านโทรทัศน์มาตลอด 3 ปีจนทำให้เกิดความสนใจ และกล้าที่ลองผลิตภัณฑ์มากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อ ‘Business+’ ได้ลองพิจารณาถึงความเหมือนและความแตกต่างของโมเดลธุรกิจอมาโด้ เปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด พบว่า ในปัจจุบันผู้เล่นหลักที่ยังคงดำเนินธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งมาอย่างต่อเนื่อง แต่จุดเด่นของอมาโด้ คือ การมีส่วนแบ่งการตลาดฝั่งธุรกิจอาหารเสริม (Supplement) ที่แข็งแกร่งจากการที่อมาโด้เป็น Real supplement ซึ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการวิจัยอย่างเข้มข้น (R&D) ผสมผสานกับการมองหานวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ อมาโด้มีการสร้าง Ecosystems ของธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งที่แข็งแกร่งด้วยการใช้ DATA มาวิเคราะห์และพยากรณ์ เพื่อสร้างความสดใหม่ของเทป และเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งการเก็บข้อมูลของอมาโด้นั้น สามารถเทียบเคียงกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) หรือ Hypermarket ได้อย่างสูสี

จุดเด่นของแบรนด์อมาโด้

สำหรับจุดเด่นของโมเดลธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งของอมาโด้นั้น คือการนำเสนอสินค้าให้กับพาร์ตเนอร์ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์ได้มากขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งอมาโด้สามารถสร้างยอดขายผ่านช่องทางเทเลเซลล์ พร้อมปิดการขายได้เป็นพันสาย อีกทั้งมีช่วงเวลาการ On Air ที่มีเรตติ้งสูงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีค่าบริการที่ต่ำกว่าตลาดซึ่งนับเป็นจุดแข็งของอมาโด้ที่ผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถที่จะลอกเลียนแบบได้

“ที่ผ่านมาอมาโด้ได้มีการนำเอาสินค้ากลุ่มสินค้าธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคมา On Air ขายผ่านโทรทัศน์ เช่น ปลาทูน่าซีเล็ค, Vitasure ไวต้าชัวร์ เครื่องดื่มนมแพะ ซึ่งทำให้เจ้าของแบรนด์สามารถคืนทุนได้ และยังเสียค่าใช้จ่ายทางการขายน้อยกว่าการฝากวางขายที่ Hypermarket ยกตัวอย่างเช่น การขายแค่ 3 เทปของแบรนด์นั้น ๆ ยอดขายที่ได้เท่ากับวางขายที่ Hypermarket หนึ่งเดือน” คุณธนาตรัยฉัตร กล่าว

สำหรับแผนการในอนาคตในธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งนั้น จากการที่มีพันธมิตรจำนวนมาก และมีอีกหลายแบรนด์ที่ให้ความสนใจ จึงทำให้อมาโด้มีการศึกษาแผนที่อาจจะ Spin-off บริษัทออกมาเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

สำหรับแผนการมุ่งเน้นของบริษัทใหม่ อาจจะเป็นการแบ่งแยกการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งแผนธุรกิจที่จะเข้ามาเป็น KEY Drive ให้อมาโด้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

นอกจากนี้ ในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) อมาโด้ได้ขยายธุรกิจด้วยการเปิดระบบสมาชิก (Membership) เพื่อต้องการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งจะดึงดูดลูกค้าด้วยการให้สิทธิประโยชน์กับสมาชิก ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในแง่ของการเพิ่มปริมาณการซื้อซ้ำ (Repeat)

ส่วนแนวโน้มของธุรกิจอาหารเสริมทั่วโลก ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้อมาโด้มีโอกาสที่จะเติบโตตาม โดยปี 2566 ถือเป็นปีที่ 9 ที่อมาโด้ดำเนินธุรกิจมาอย่างมั่นคง โดยธุรกิจอาหารเสริมของอมาโด้ยังมีแรงขับเคลื่อนที่ดีจากลูกค้าในประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะเห็นการเติบโตอย่างน้อย 5% ซึ่งการเติบโตหลักคาดว่าจะมาจากผลิตภัณฑ์ชงดื่ม

กลยุทธ์ Long Term Investment นำพา ‘อมาโด้’ สู่แบรนด์ชั้นนำ

คุณธนาตรัยฉัตร กล่าวว่า ในอดีตอมาโด้เผชิญวิกฤตมากมาย จึงต้องมีการคิดวางแผนธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดเวลา โดยกลยุทธ์ที่บริษัทฯ ใช้ต้องเป็นการวางแผนระยะยาวด้วย Long Term Investment ซึ่งแผนการลงทุนในระยะยาวนี้ ทำให้เกิดหลายมุมมองที่กว้างขึ้น ทั้งในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย การแก้ไขปัญหาทั้งภายในและภายนอก หรือการลด Supply บางประเภท จนทำให้มีการตัดสินใจเลือก On Air หลายช่องทางโทรทัศน์ดีกว่าช่องเดียว โดยในอนาคตอันใกล้นี้อมาโด้อาจจะเพิ่ม Air Time ในช่องที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลายเป็นจิ๊กซอว์ 1 ใน 4 ของ 24 ชั่วโมงของช่องนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่ง และก่อให้เกิดเป็น Brand Awareness ในกลุ่มผู้บริโภค

R&D-Marketing หัวใจหลัก ‘อมาโด้’

ในมุมของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของอมาโด้นั้น คุณกาลย์กัลยา ภูโชคอนันต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงความสำคัญของ R&D และการตลาด ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญขับเคลื่อนของอมาโด้ ที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างมีคุณภาพและยากจะลอกเลียนแบบว่า “อมาโด้ให้ความสำคัญกับคุณค่าโภชนาการในแต่ละวันที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ ซึ่งนักวิจัยมีการคิดค้น ค้นหา อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน โดยในทุกผลิตภัณฑ์อมาโด้ จะมีการพัฒนาในห้องปฏิบัติการ (Lab) เสมอเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

และเมื่อทุกอย่างออกมาตามผลลัพธ์ที่อยากได้ก็จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แต่อยู่ภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล ทุกคนสามารถจับต้องได้ นับเป็น Key Concept ที่อมาโด้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันการวิจัยต้องควบคู่มากับทีมการตลาด (Marketing) ซึ่งต้องปรับตัวตามเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยฝ่าย R&D กับทีมการตลาดก็จะมาระดมความคิด เพื่อหาความต้องการของผู้บริโภค และทำการศึกษาหาข้อมูลเพื่อสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ของอมาโด้ต้องมีค่าโภชนาการที่สมเหตุสมผล และเห็นผลลัพธ์ได้จริงเท่านั้น

“เราเชื่อว่านวัตกรรมใหม่ ๆ จะมีเข้ามาตลอดเวลา ซึ่งในงานวิจัยแต่ละครั้งที่เรานำมาพัฒนาออกเป็นผลิตภัณฑ์ คือ สิ่งที่ดีที่สุด ในช่วงเวลานั้น ๆ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ของอมาโด้จะไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาถูกแต่จะเน้นไปที่ปริมาณการขาย ด้วยการเอาวอลุ่มไปสู้กับราคา นี่คือสิ่งที่เราทำ” คุณกาลย์กัลยา กล่าว

 Key Success ธุรกิจอาหารเสริมของอมาโด้

คุณธนาตรัยฉัตร กล่าวว่า Key Success ปี 2566 คือ ต้องหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีขึ้นและทำ R&D ให้เข้มข้นขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างเสถียรภาพด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ และหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้บริโภค นี่คือหัวใจด้าน R&D ที่จะทำให้ผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถล้มอมาโด้ได้

นอกจากนี้เอกลักษณ์ของอมาโด้ คือ จะไม่สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตามกระแสแต่ไม่มีค่าโภชนาการที่เหมาะสม โดย R&D ของอมาโด้จะสร้างความรู้ให้กับลูกค้าเพื่อไม่ให้ความต้องการเบนไปตามทิศทางการตลาดมากเกินไป ซึ่งการวิจัยและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องอาศัยการสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วยการทำ Content Marketing ที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าตลอดเวลา

“เทรนด์การบริโภคอาหารเสริมปัจจุบันจะเน้นเป็นแบบ 2 in 1 ครบจบในกระป๋องเดียว แต่การผสมสูตรเหล่านี้ได้ทำให้ค่าโภชนาการของหลายผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอที่จะสร้างผลลัพธ์กับผู้บริโภค ดังนั้นเราจึงเน้นส่วนผสมแบบเฉพาะเจาะจงไม่ได้ผสมรวมสูตรมากกว่า แต่เน้นไปที่ค่าโภชนาการเป็นหลัก” คุณธนาตรัยฉัตร กล่าว

THE NEXT STEP TO NEXT YEAR

ทั้งนี้เมื่อ ‘Business+’ ได้ถามถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2567 เกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คุณธนาตรัยฉัตร กล่าวว่า ในปีหน้าจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า (Skincare) ให้เป็นกึ่งเวชสำอาง เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งการลงเวทีอุตสาหกรรมเครื่องสำอางครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่อยากเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดใน TV Shopping โดยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าสร้างยอดขายไปแล้วกว่า 300-400 ล้านบาท ซึ่งยอดขายนี้ถือได้ว่าเกินเป้าหมายที่วางไว้มาก และได้รับการตอบรับที่ดี ในปีนี้เราจึงจะเน้นการโปรโมต Skincare เพิ่มมากขึ้น

จากมุมมองของ ‘Business+’ อมาโด้มีการพัฒนาตัวเองจากเมื่อ 2 ปีที่เราได้เคยสัมภาษณ์คุณเชน ธนาตรัยฉัตร ด้วยการวางรากฐานธุรกิจในระยะยาวจากกลยุทธ์ Long Term Investment ส่งผลให้ Core Business ทั้งธุรกิจอาหารเสริม และทีวีโฮมช็อปปิ้งกลายเป็น Ecosystem ที่ครบวงจร และยังมากด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสเติบโตอีกมากในอนาคตด้วยการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์

3 Core Business Strategy 

  • แผนกวิจัยและพัฒนา (R&D : Research & Development) คิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง
  • ช่องทางการจำหน่าย (Distribution) การสร้างช่องทางขายที่หลากหลายและทรงประสิทธิภาพที่ตอบสนองทันทีทันใด (Real-Time Strategic Platform)
  • การขับเคลื่อนการตลาดด้วยข้อมูล หรือ Data Driven Marketing ด้วยการนำข้อมูลลูกค้า มาวิเคราะห์หาความต้องการของลูกค้าในเชิงลึก (Customer Insight) สู่การออกแบบโปรโมชันและนำเสนอสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการของตลาด

3 กลยุทธ์ดังกล่าว เริ่มจากเน้นการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารช่องทางการจัดจำหน่ายของแบรนด์อมาโด้ด้วยการใช้ DATA ขั้นสูง ได้นำพามาทั้งยอดขายที่เติบโตเกินเป้าหมาย จนทำให้อมาโด้สามารถส่งต่อคุณภาพสินค้าที่ไปจนถึง ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดเป็น Brand Loyalty ที่เหนียวแน่น

นอกจากนี้ เมื่อมองถึงการเติบโตของตลาดอาหารเสริมในตลาดโลกแล้ว เราพบข้อมูลว่า ตลาดอาหารเสริมทั่วโลกถูกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 269.5 พันล้านเหรียญในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อปี (ที่มา : Vantagemarketresearch) นั่นทำให้เป้าหมายการมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาทในปี 2566 ของอมาโด้ไม่ไกลเกินจริง

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ , พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS