AIS ฉายมุมมองสร้างอนาคตภาคการศึกษาไทย ชี้ทักษะสำคัญในการทรานสฟอร์มบุคลากรรับมือโลกอนาคต

นี่คือช่วงเวลาที่ท้าทายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกสำหรับตลาดแรงงาน เพราะภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้วันนี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษา กับทักษะและวิธีคิด (Mindset) ที่จำเป็นต่อการเตรียมความพร้อมด้านการทำงานของบุคลากรในอนาคต

ทำให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง สแตนฟอร์ด ผ่านหน่วยงาน The Stanford Thailand Research Consortium เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ทำการจัดสัมมนาเพื่อถ่ายทอดผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการวิจัยที่มีชื่อว่า Innovative Teaching Scholars (ITS)

พร้อมสำรวจมุมมองของภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมภายใต้หัวข้อ ‘Future Thailand — Innovation in Education and Workforce Development’

ซึ่งในงานนี้มีผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ คณาจารย์และนักวิจัยในโครงการ ITS จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกับผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในประเทศไทย นำโดยคุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และกลุ่มอินทัช

โดยงานสัมมนานี้มุ่งเน้นการอภิปรายเรื่องกลยุทธ์ในการยกระดับความพร้อมของแรงงานในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุนบุคลากรด้านการศึกษาในการสร้างการมีส่วนร่วม และเตรียมพร้อมเยาวชนของชาติให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต

คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) และกลุ่มอินทัช

 

ซึ่งทางคุณกานติมา ได้ให้เกียรติร่วมแบ่งปันมุมมองจากภาคธุรกิจในเรื่องทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพในอนาคต และการพัฒนากำลังคนในด้านความสามารถทางการเรียนรู้ และความสามารถเชิงนวัตกรรมในประเทศไทย ที่กำลังเป็นที่ต้องการในวงกว้างจากนี้

พร้อมย้ำว่าในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง มันจะส่งผลกระทบในทุกมิติอย่างรวดเร็วและรุนแรง สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ ให้กับคนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวหน้าและแข่งขันได้ในเวทีดิจิทัลระดับโลก

“คนถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้างสังคมให้เข้มแข็ง หากทรัพยากรไม่สอดคล้องกับความต้องการ ก็จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสเติบโตอย่างเต็มที่เพราะข้อจำกัดด้านทรัพยากร วันนี้ภาคการศึกษาจึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน
เพื่อแบ่งปันความเชี่ยวชาญของตัวเอง

และนั่นจะทำให้สถาบันการศึกษาสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและเพียงพอ ซึ่งการทำงานร่วมกันของสถาบันการศึกษาและเอกชนนั้น จะเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาของไทยมีความพร้อมอย่างแท้จริงในการก้าวออกไปทำงาน”

คุณกานติมา เพิ่มเติมว่า ทักษะใหม่ๆ ในอนาคตคงหนีไม่พ้นเรื่องเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์ทุกคนมากขึ้น แต่ที่สำคัญกว่าคือ Mindset ของคนที่ต้องพร้อมจะเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับความแน่นอนที่เกิดขึ้น

“วันนี้เราต้องสอนให้นักศึกษาของเรารู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมากับชีวิตจริง ๆ มากขึ้น ไม่สามารถเพียงแค่ท่องจำแบบเดิม ๆ ได้อีกแล้ว ขณะที่รูปแบบการประเมินนักเรียนนักศึกษาก็ไม่อาจจะใช้รูปแบบเดิมได้อีกเช่นกัน”

ดร. ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร

 

ด้าน ดร. ลาติเซีย บริทอส คาแวคแนโร ได้กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาด้านความไม่สอดคล้องระหว่างการเตรียมความพร้อมของนักศึกษากับทักษะและวิธีคิด (Mindset) ที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการประกอบอาชีพในอนาคต

ความพิเศษของโครงการ ITS คือ การมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษาไทยที่สนใจปรับมุมมองสู่การศึกษายุคใหม่ และผู้นำเชิงนวัตกรรมจากภาคองค์กรระดับประเทศ ซึ่งกำลังมองหาคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสร้างความก้าวหน้าในองค์กรไทยในอนาคต”

ศาสตราจารย์ แชรี แชพเพิร์ด

 

ขณะที่ศาสตราจารย์ แชรี แชพเพิร์ด เป็นผู้นำในการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของโครงการที่มีต่อผู้สอน และวิธีการสอนของอาจารย์ผู้ร่วมโครงการ โดยศาสตราจารย์แชรีรายงานว่าข้อมูลทั้งจากการสำรวจและการสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่า อาจารย์กลุ่มแรกที่เข้าร่วมโครงการ ITS ประสบความสำเร็จในการทดลองในการนำกลยุทธ์แนวทางการสอนในรูปแบบใหม่ไปใช้ อาทิ เปิดโอกาสให้นักศึกษามีอิสระในการตัดสินใจมากขึ้นในห้องเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับอาจารย์บางส่วน แต่แนวทางนี้กลับเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยในงานนี้นอกจาก เอไอเอส ผู้นำด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยแล้วยังมีบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ เข้าร่วมอีกด้วยได้แก่ บริษัท เอพี  (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป

หมายเหตุ

โครงการ Innovative Teaching Scholars หรือ ITS เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมด้านการสอนจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนของตนเอง โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยด้านการศึกษาของ The Stanford Thailand Research Consortium หรือ STRC ซึ่งมุ่งหาแนวทางส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และความสามารถในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง