airasiafood-02

ยื้อทุกวิถีทาง!! ‘Air Asia’ ยอมเบียดเจ้าตลาดเดลิเวอรี่ หาทางรอดใหม่ จาก “การบิน” แลนดิ้งสู่ “การกิน” จะทำได้ดีแค่ไหน ?

เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เป็นกลุ่มแรก ๆ แม้ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือเยียวยา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะรายได้จากการบินเป็นศูนย์ เนื่องจากมาตรการห้ามบินของรัฐบาล ทำให้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เริ่มขาดทุนมาตลอด ซึ่งหากดูข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะพบว่า ภาวะขาดทุนของแอร์เอเชียนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2562 ขาดทุน 474 ล้านบาท

ปี 2563 ขาดทุน 4,764.09 ล้านบาท

ปี 2564 ไตรมาส 1 ขาดทุน 1,864.58 ล้านบาท

เมื่อธุรกิจสายการบินเริ่มไม่สดใส สภาพคล่องฝืดเคืองจนน่าเป็นห่วง นี่จึงเป็นสาเหตุให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อหาทางรอดให้ตัวเอง AirAsia Food จึงถือกำเนิดขึ้น!

airasia food

AirAsia Food คืออะไร ?

AirAsia Food คือบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ในแอปพลิเคชัน AirAsia โดยเริ่มทดลองให้บริการในบางพื้นที่ของกรุงเทพฯ เน้นเขตที่มีประชากรและร้านอาหารหนาแน่น ได้แก่ จตุจักร ดินแดง ลาดพร้าว และห้วยขวาง อัดโปรโมชันส่งฟรีใน 6 กม. แรก และหากได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค จะขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากบริการส่งอาหารแล้ว ในอนาคต AirAsia ยังมุ่งหน้าสู่บริการด้านโลจิสติกส์อย่างครบครัน จ่อปั้นบริการซื้อของ (Grocer) ส่งของ (Xpress) และส่งคน (Ride) กรุยหนทางสู่ Super App อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจเดลิเวอรี่และโลจิสติกส์นั้นมีผู้เล่นเจ้าตลาดที่ทั้ง “แข็งแกร่งและสายป่านยาว” อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น

  • Lineman ที่โดดเด่นเรื่องจำนวนร้านอาหาร เพราะมีฐานข้อมูลจาก Wongnai ทั้งยังเชื่อมต่อกับ Rabbit Line Pay ทำให้ง่ายต่อการชำระเงิน
  • GrabFood ที่ได้เปรียบเรื่องจำนวนไรเดอร์ในมือราว 100,000 คนคอยให้บริการ พร้อมค่าจัดส่งแสนถูก เริ่มต้นที่ 10 บาท
  • Foodpanda ที่มีไรเดอร์กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เน้นการให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วถึง
  • Robinhood ที่ชูด้านการเข้าถึงร้านค้ารายย่อย อุดจุดบอดที่เจ้าใหญ่ละเลย เพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภค

ศึกครั้งนี้จึงไม่ง่ายดาย ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่า AirAsia จะสามารถแย่งชิงลูกค้ามาเป็นของตนเองได้หรือไม่ และพิสูจน์ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ จะช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อีกในอนาคต

Photo by Twitter airasia super app

เขียนและเรียบเรียง : ยลชนก โยธีจรัสศรี