ส่อง ‘ธุรกิจเครื่องฟอกอากาศ’ ในไทย คาดช่วง 5 ปี มูลค่าตลาดโตเฉลี่ย 14%

ประเทศไทย ประสบกับปัญหามลภาวะทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมาคุณภาพอากาศของไทยติด TOP10 อากาศยอดแย่ระดับโลก บ่งบอกถึงระบบการจัดการภายในประเทศอาจยังไม่ดีพอ ซึ่งเมื่ออากาศไม่ดีก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่ไม่สุนทรีย์ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่อากาศแย่ขั้นสุดภาครัฐได้ออกมาประกาศให้งดออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะจะทำให้อัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ฝุ่นแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและทำลายสุขภาพได้ โดยในช่วงเวลานั้นมีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจกว่าหนึ่งล้านคน

สำหรับมลภาวะอากาศเป็นพิษ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยตรงก็คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งหากอยู่ในอากาศปริมาณมากจะเห็นได้จากท้องฟ้าที่หม่น หรืออาจเห็นเป็นหมอกควัน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้มลภาวะอากาศเป็นพิษ หรือเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 หลัก ๆ มีด้วยกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1.การเผา 2.การก่อสร้าง 3.การทำอุตสาหกรรม 4.การคมนาคม และ 5.จุดพลุ/สูบบุหรี่ โดยสถานการณ์ทั้งหมดนี้พบเห็นได้ในทุกวันจึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้หมดไปได้ ซึ่งการบรรเทาที่สามารถทำได้จึงต้องเริ่มจากที่ตัวเองก่อน

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เรามักพบเห็นในชีวิตประจำวัน ก็คือ การซื้อเครื่องฟอกอากาศไว้ที่บ้าน สถานที่ทำงาน หรือแม้แต่พกติดตัวไปด้วย เพื่อให้ปอดได้รับออกซิเจนที่สะอาดและรู้สึกสดชื่น หลังจากที่ต้องฝ่าฟันมลพิษทางอากาศมาตลอดทั้งวัน โดยในบางครอบครัวอาจมีเครื่องฟอกอากาศถึง 3 เครื่องด้วยกัน เพื่อให้อากาศที่วนเวียนอยู่ภายในบ้านเป็นอากาศที่สะอาด

ซึ่งฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญเพราะไม่มีใครอยากเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และไม่อยากให้ลุกลามเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา จึงทำให้ในปี 2566 มูลค่าตลาดเครื่องฟอกอากาศของไทยอยู่ที่ 121.75 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 4,216,446,000 (คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ 34.63 บาท) และคาดการณ์ว่าในช่วงระหว่างปี 2567-2572 จะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ที่ 13.95% ซึ่งที่ผ่านมาตลาดเครื่องฟอกอากาศในไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลให้มีความต้องการโซลูชันการฟอกอากาศเพิ่มมากขึ้น

โดยจะเห็นได้ว่าตลาดเครื่องฟอกอากาศในอนาคตของไทยมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากคนมีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของคุณภาพอากาศที่มีต่อสุขภาพ และมีความกระตือรือร้นที่จะปกป้องความเป็นอยู่ที่ดี จึงได้ลงทุนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้เมื่อสินค้าเป็นที่ต้องการสูง ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องฟอกอากาศก็จะยิ่งเกิดความต้องการแข่งขันกันเพื่อเป็นเบอร์ 1 ในวงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งในเรื่องของราคา เทคโนโลยีนวัตกรรม และคุณภาพสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศต้องติดตามเทคโนโลยีนวัตกรรมให้ทัน อย่างการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้า เช่น การเชื่อมต่อ IoT กับแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน เป็นต้น

สำหรับผู้เล่นหลักตลาดเครื่องฟอกอากาศในไทย มีอยู่ด้วยกัน 10 รายดังนี้

1.บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

2.บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

3.บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด

4.บลูแอร์ เอบี

5.บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

6.บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

7.บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด

8.บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด

9.บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด

10.บริษัท ไดสั้น จำกัด

อย่างไรก็ดีผู้เล่นทั้ง 10 รายนี้ได้มีการพัฒนาสินค้าโดยอัดแน่นเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้าไป และได้มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดผ่านการโฆษณา รวมถึงการมีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น จึงส่งผลให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และถูกยอมรับในตลาด

.

ที่มา : echsciresearch, pollutionclinic

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจเครื่องฟอกอากาศ #เครื่องฟอกอากาศ