FoodAI

นักวิจัยอาหาร-เครื่องดื่มสะเทือน! AI เข้าแทนที่วงการ R&D ชิม-คิดค้นสูตร

โลกในปัจจุบันมีการพัฒนาผ่านระบบกลไกของสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความล้าหลัง และมีสิ่งแปลกใหม่ตลอดเวลา อย่างการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบดิจิทัล เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนา ปัญญาประดิษฐ์ หรือก็คือ AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence เป็นระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกคล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ รวมถึงสามารถแก้ไขปัญหายาก ๆ ได้

ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย สามารถแก้ปัญหาที่ซ้ำซ้อนได้ รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของกิจการอีกด้วย สำหรับต้นทุนที่จะช่วยลดลงนั้น หมายถึง แรงงาน นั่นเป็นเพราะว่า ปัญญาประดิษฐ์มีความแม่นยำ และมีความสามารถที่ระดับเดียวกับมนุษย์ จึงทำให้ผู้ประกอบการเลือกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานแทนการต้องจ้างแรงงาน ที่จะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเติม

โดยที่ผ่านมาปัญญาประดิษฐ์ได้ถูกประยุกต์พัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานในแต่ละภาคธุรกิจ อย่างเช่น การช่วยจัดการปัญหาคลังสินค้าที่ไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปัญญาประดิษฐ์เข้าไปมีส่วนร่วมและทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสนใจ นั่นก็คือ อุตสาหกรรมอาหาร

สำหรับปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร จะทำหน้าที่คัดขนาดและจัดเรียงวัตถุดิบให้ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบเซนเซอร์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านความปลอดภัยอาหาร และการมีกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารในสายโซ่การผลิต ตลอดจนช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนา และผลิตอาหารได้ตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูลผู้บริโภคที่ถูกป้อนเข้ามาในระบบ จากนั้นก็จะเข้ากระบวนการ Data Mining เพื่อประมวลผลและคาดการณ์ เพื่อกำหนด (Simulation) ลักษณะรสชาติที่ผู้บริโภคต้องการ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้สามารถชิมรสชาติอาหารได้ โดยในประเทศจีนได้คิดค้นหุ่นยนต์นักชิมขึ้นมา ซึ่งจากผลการใช้งานทำให้อาหารมีคุณภาพมากขึ้น และมีรสชาติได้มาตรฐานคงที่ในแต่ละจาน แตกต่างจากการปรุงจากฝีมือคนที่บางครั้งอาหารแต่ละจานอาจรสชาติเพี้ยนไปจากเดิม

ล่าสุดปัญญาประดิษฐ์ยังเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยบริษัทเฮลล์ เอ็นเนอร์จี (HELL ENERGY) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังจากฮังการี เปิดตัวเครื่องดื่มชูกำลังชนิดแรกของโลกที่มาจากการสร้างสรรค์ของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งระบบสุดล้ำสมัยนี้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ คิดส่วนผสม รวมถึงชิมและประเมินรสชาติต่าง ๆ ได้อย่างพิถีพิถัน อีกทั้งยังสามารถทำนาย รักษามาตรฐานความปลอดภัย และใช้เครื่องมือทางการตลาดได้อีกด้วย เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์สามารถนำข้อมูลบนโลกออนไลน์มาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงส่วนผสม ยอดขาย งานวิจัยสุขภาพคำแนะนำและเสียงตอบรับจากลูกค้า ตลอดจนถึงการวิเคราะห์เทรนด์สุขภาพโดยเฮลล์ เอ็นเนอร์จี จะมอบหน้าที่ให้เอไอพัฒนาเครื่องดื่มชูกำลังแบบใหม่ตามความต้องการ

ทั้งนี้ปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างสรรค์รสชาติขึ้นมา 3 แบบ เพื่อเลือกรสชาติที่ดีที่สุด จากนั้นจึงเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยีของบริษัทแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก หลังจากชิมรสชาติทั้งหมดแล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติอย่างละเอียด โดยใช้ความสามารถทำนายพฤติกรรมลูกค้าเลือกรสชาติ นับเป็นครั้งแรกที่เอไอรับหน้าที่พัฒนาสินค้าที่มีความซับซ้อนในธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง

อย่างไรก็ดีตำแหน่งที่ต้องพัฒนาและคิดค้นสูตรอาหารนั้น หากในปกติจะเป็นหน้าที่ของนักวิจัยและพัฒนาสูตรอาหาร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ R&D ซึ่งหน้าที่นี้ถือว่ามีความสำคัญในการผลิตสินค้าออกสู่ตลาด เนื่องจากต้องมีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อให้ได้สิ่งที่แปลกไปจากเดิมแต่ต้องดีกว่าและมีคุณภาพ อีกทั้งยังต้องทำการวิจัยให้ได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพราะลูกค้ามักมีความสนใจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โดยในบางองค์กรอาจมีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 1 ใน 10 ในแต่ละปีเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เกิดความสำเร็จได้จริงในอนาคต

ทั้งนี้ปัญญาประดิษฐ์อาจยังไม่ได้มีการใช้ที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมขนาดเล็ก จึงยังต้องมีการใช้นักวิจัยมาช่วยคิดค้นสูตร เนื่องจากอาจติดขัดในเรื่องของค่าใช้จ่าย แต่ก็ในบางธุรกิจก็เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการคิดค้น ด้วยเห็นถึงผลประโยชน์ในระยะยาว ทั้งช่วยลดต้นทุน ได้ความสะดวกรวดเร็ว และการมีคุณภาพ มาตรฐาน ในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2569 ตลาดปัญญาประดิษฐ์ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 29.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สุดท้ายนี้อาชีพนักวิจัยและพัฒนาสูตรอาหาร อาจต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันโลก และเทคโนโลยีมากขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ เพราะอย่างไรก็ดีปัญญาประดิษฐ์ก็ยังมีหลายสิ่งที่ขาดหายไป อย่างเช่น ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งหากไม่มีการป้อนข้อมูล หรือให้เรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิตของมนุษย์ก็อาจจะเป็นแค่เทคโนโลยีธรรมดา

โดยบริษัทที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation อย่าง BE8 ได้ออกบทความเกี่ยวกับกลยุทธ์เพิ่มทักษะความชำนาญด้าน AI ได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้ทุกคนก้าวตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และจะไม่เป็นผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งในบทความนั้นได้แนะแนวทางกลยุทธ์ที่จะทำให้เราสามารถมีศักยภาพเทียบเท่าปัญญาประดิษฐ์ได้ ดังนี้

  1. เพิ่มทักษะด้วยเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์
  2. การยกระดับทักษะ คือ การเรียนรู้ทักษะใหม่ต่างๆ สำหรับหน้าที่การงานที่แตกต่าง หรือขยายกว้างออกไป
  3. เรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเป็นการปรับเพิ่มทักษะความชำนาญใหม่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

ซึ่งแนวทางข้างต้นนี้ทุกอาชีพสามารถเรียนรู้ได้ โดยหากมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันนั้น การดำรงอยู่บนสายงานในแต่ละอาชีพอาจไม่ต้องสั่นคลอนเมื่อโลกมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปงานชิ้นนั้นอาจไม่สมบูรณ์แบบ

.

ที่มา : etda, IQ, ryt9, ธุรกิจ 4.0, softbankthai, beryl8

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #AI #ปัญญาประดิษฐ์ #นักวิจัยอาหาร #อาหาร #เครื่องดื่ม #เทคโนโลยี #อุตสาหกรรมอาหาร