AI ตรวจจับกลโกงทุกรูปแบบ จะได้ผลแค่ไหน? เปิดข้อมูลสถิติ 5 ปีย้อนหลัง ตลาดทุนโกงกันยับ!!

อีกข่าวที่เป็นเรื่องดีสำหรับวงการตลาดทุนบ้านเรา คือการที่ ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)’ ผู้คุมกฏของตลาดทุน ได้พัฒนาโครงการ E-Enforcement

ซึ่งเป็นการเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น และยังช่วยตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุน สรุปได้ง่าย ๆ ว่าจะมีการนำมาใช้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ

AI-Enforcement ซึ่งจะนำ AI เข้ามาตรวจสอบการทำผิดด้านราคาในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะช่วยชี้พฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ และระบุช่วงเวลาที่เกิดพฤติกรรมผิดปกติ ซึ่งปัจจุบันเริ่มนำมาใช้งานจริง และอยู่ในการพัฒนาระยะที่ 2 และ 3 โดย AI จะไปช่วยจับพฤติกรรมที่มีความผิดปกติ เก็บสถิตินำมาวิเคราะห์พฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้นต่อไป

Corporate Surveillance เป็นการใช้ระบบออนไลน์ช่วยตรวจจับความผิดปกติเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ว่าเกิดการกระทำที่ทุจริตหรือไม่ โดยได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 ขณะที่แผนงานในอนาคตก็จะทำในเรื่องของ non-financial data, การพัฒนาเพิ่มระบบตรวจสอบความสัมพันธ์บุคคล, Implement AI & Machine learning โดยมีเป้าหมาย ตรวจจับและคัดครองธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว ยับยั้งไม่ให้ความเสียหายลุกลาม ลดระยะเวลาในการทำงาน และลดจำนวนกรณีทุจริต คาดเห็นความชัดเจนในปี 2565

E-Link ระบบช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคลและทางการเงิน รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ในอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายและรวดเร็วมากขึ้น ช่วยยับยั้งความเสี่ยงหาย ช่วยความสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดที่รวดเร็วขึ้น

ซึ่ง ก.ล.ต. มองว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการโครงการ E-Enforcement เพื่อช่วยกระชับและสร้างความรวดเร็ว แม่นยำในการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาจากการทำงานเดิมระดับ 20-30%

สำหรับมาตรการการกำกับดูแลที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และเราเคยได้เห็นกันมาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การติดเครื่องหมาย Trading Alert หรือ Cash Balance รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี RPA หรือ Robotic Process Automation มาช่วยอ่านรายงานของผู้สอบบัญชี เพื่อหาข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีแทนก.ล.ต. โดยเทคโนโลยีนี้เริ่มใช้ช่วงกลางปี 2562 ที่ผ่านมา

Info_Crime-03

ทาง ‘Business+’ ได้รวบรวมข้อมูลสถิติการบังคับใช้กฏหมายจากก.ล.ต. ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2560-2564) พบข้อมูลว่าในปี 2563 เป็นปีที่การกระทำผิดในตลาดทุนมีจำนวนน้อยมาก แต่ในปี 2564 ตัวเลขกลับเพิ่มสูงขึ้น

โดยสถิติทางอาญาของปี 2564 (การเปรียบเทียบ/กล่าวโทษ) ยังค่อนข้างสูง และเมื่อดูสถิติมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าในปีนี้มีผู้กระทำผิดจำนวนมากถึง 24 ราย (เทียบปี 2563 มีแค่ 10 ราย) และค่าปรับสูง 161.23 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 เพียงแค่ 35.58 ล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น ‘เรา’ มองว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้กับตลาดทุนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และน่าติดตามต่อว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน? เพราะการใช้เทคโนโลยีจะสามารถทุ่นเวลาในการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทต่าง ๆ ที่มีมากถึง 800 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (รวม SET และ mai) ซึ่งปกติแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องใช้เวลาจำนวนมาก ๆ ในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ การตรวจจับการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติโดย AI จะเข้ามาทำให้กระบวนการตรวจสอบรวดเร็วขึ้น ซึ่งหากสำเร็จทั้ง 3 รูปแบบตามแผนของ ก.ล.ต. ก็จะทำให้ตลาดทุนบ้านเรามีมีพัฒนาการที่ดี “การตรวจสอบการทุจริต และตรวจสอบงบการเงินที่แม่นยำ รวดเร็ว ทันเวลา จะดึงความเชื่อถือจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น นำมาซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเวียนในประเทศมากขึ้นในท้ายที่สุด”

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ก.ล.ต.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #กลต #ตลาดทุน #ตลาดหุ้น #STOCK #กลโกง