ประเทศไทยกับ 17 ปี สู่การเปลี่ยนเป็น Aged Society ที่ไวกว่า ‘ญี่ปุ่น’

ไทยใช้เวลา 17 ปีเปลี่ยนจาก Aging Society มาเป็น Aged Society และอีกเพียง 8 ปี จะกลายเป็น Hyper–Aged Society เหมือนญี่ปุ่น แต่เมื่อเทียบความพร้อมของประเทศทั้งแง่ของการเงิน สุขภาพ และสังคม จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการที่รองรับสังคมผู้สูงอายุได้มากกว่าไทยหลายเท่า

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ‘Business+’ ได้อธิบายคำว่า สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) , สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และสังคมผู้สูงอายุระดับสุงยอด (Hyper-Aged Society) กันไปแล้ว ในคอนเทนต์ก่อนหน้านี้ Hyper–Aged Society คำที่ทุกคนจะต้องรู้จักในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในครั้งนี้ เราจะมาพูดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในประเทศไทยที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) อย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้เวลาเพียงแค่ 17 ปีจาก Aging Society มาเป็น Aged Society (ตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2565) โดยปัจจุบันไทยมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 20% ขณะที่มีการคาดการ์ณว่าในอีกปี 8 ปีข้างหน้า หรือ ภายในปี 2574 ไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper–Aged Society)

โดยการเปลี่ยนแปลงของพีระมิดประชากรของประเทศไทยในรอบ 5 ปี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถดูรายละเอียดและรูปแบบของพีระมิดได้ที่เว็บไซต์ พีระมิดประชากรของไทย

จากข้อมูลของพีระมิดประชากรย้อนกลับไป 5 ปี (ปี 2561) โครงสร้างประชากรของไทยยังคงเป็นพีระมิดทรงระฆังคว่ำ หรือ พีระมิดแบบเสถียร (Stable Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างของประชากรที่มีอัตราการเกิดและอัตราการตายไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ซึ่งประเทศที่มีโครงสร้างอายุประชากรลักษณะนี้คือ ประเทศสเปน เดนมาร์ก อินโดนีเซีย และออสเตรีย

อย่างไรก็ตามในปี 2566 หรือภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี โครงสร้างประชากรของไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจะเป็น พีระมิดทรงกรวยปากแคบ หรือ พีระมิดแบบคงที่ (Stationary Pyramid) แสดงถึงโครงสร้างของประชากรที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ มีรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายของประชากรที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งปัจจุบันเราพบโครงสร้างอายุประชากรแบบนี้ได้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา

และในอนาคตหลังจากปี 2566 เป็นต้นไป หากอัตราการเกิดของไทยยังต่ำ เราอาจจะกลายเป็นพีระมิดทรงดอกบัวตูม หรือ พีระมิดแบบหดตัว (Constrictive Pyramid) ที่แสดงให้เห็นว่าประชากรในประเทศมีอัตราลดลง จากจำนวนการเกิดที่ต่ำเช่นเดียวกับจำนวนการตาย โดยโครงสร้างอายุประชากรลักษณะนี้ได้ในประเทศเยอรมัน ญี่ปุ่น บัลแกเรีย และสิงคโปร์

ความแตกต่างของไทย Vs ญี่ปุ่น

หากเทียบประเทศไทยกับทวีปเอเชียแล้ว จะพบว่ายังมีอีก 6 ประเทศที่เป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ก่อนประเทศไทย คือ ญี่ปุ่น (ปี 2537) ฮ่องกง (ปี 2555) เกาหลีใต้ (ปี 2560) ไต้หวัน (ปี 2562) สิงคโปร์ (ปี 2564) ไทย (ปี 2565)

ซึ่งถ้าหากเราเปรียบเทียบความพร้อมของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่เข้าสู่ Hyper-Aged Society แล้ว ถือว่าไทยใช้เวลารวดเร็วกว่าในการเปลี่ยนจาก Aging Society มาเป็น Aged Society ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างประชากรไทยผันผวนมากกว่า

โดยญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปีหลังจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2513 จนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2537 และท้ายที่สุดกลายเป็น Hyper-Aged Society ในปี 2550 ที่ผ่านมา

แต่ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่า คือ ประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ขนาดเศรษฐกิจยังไม่ใหญ่ และมั่นคง นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้นั่นคือ “คนไทยส่วนใหญ่จนตอนแก่” นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นยังมีความพร้อมมากกว่าไทยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุสะดวกกว่า สวัสดิการของญี่ปุ่นที่ดีกว่า มั่นคงมากกว่า

ซึ่งญี่ปุ่นได้มีการปรับอายุการเกษียณตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่

– ปี 2523 มีการขอความร่วมมือให้ขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี
– ปี 2533 อนุมัติให้สามารถจ้างงานต่อได้หลังเกษียณ
– ปี 2541 กำหนดให้อายุเกษียณคือ 60 ปี
– ปี 2543 มีการขอความร่วมมือให้จ้างงานจนถึงอายุ 65 ปี

– ปี 2549 กำหนดให้จ้างงานจนถึงอายุ 65 ปี

ส่วนของประเทศไทยนั้นอายุเกษียณปัจจุบันคือ 60 ปี และในปี 2563 มีการชงเรื่องเพื่อให้รองรับกับสังคมผู้สูงอายุด้วยการเสนอนโยบายในการ “ขยายอายุเกษียณราชการไปเป็นอายุ 63 ปี ในปี 2565 และขยายต่อเป็นอายุ 65 ปี ภายในปี 2575 เพื่อรองรับการปัญหาคนวัยเกษียณว่างงานที่จะเพิ่มขึ้น แต่แผนดังกล่าวยังคงถูกเลื่อนออกไป เพราะรัฐบาลมองว่าการขยายอายุราชการต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมตามแผนปฏิรูปด้านสังคมให้ดีก่อน ซึ่งเรามองว่าหากแผนนี้ยิ่งล่าช้า ก็จะยิ่งส่งผลให้ประชากรวัยทำงานของไทยมีน้อยลง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไทยกำลังจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน

นอกจากนี้ ในประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลมีการลงทุนกับโครงการ Silver Human Resources Centers ซึ่งเป็นศูนย์จัดหางานให้กับผู้สูงอายุ ภายในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนไม่ได้สูงมากนักแต่ก็ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ ส่วนของไทยก็มีนโยบายการจ้างงานเช่นกัน แต่ค่าตอบแทนที่ได้อาจไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ เพราะรัฐบาลต้องจ่ายให้กับข้าราชการจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นที่มีประชากรมากกว่าไทย แต่กลับมีจำนวนข้าราชการที่น้อยกว่า ก็จะยิ่งทำให้เราเข้าใจว่า รัฐบาลไทยต้องแบกรับสวัสดิการของข้าราชการอย่างมากเลยทีเดียว จนทำให้ไม่มีเงินมาลงทุน หรือส่งเสริมสังคมผู้อาวุโสได้ดีเท่าญี่ปุ่น

ทำไมไทยจะกลายเป็น Hyper-Aged Society

สำหรับปัจจัยที่จะเร่งให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดในอีกไม่กี่ปี คือ อัตราการเกิดที่น้อยกว่าการตาย โดยไทยมีอัตราการเกิดที่น้อยกว่าการตาย 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา อัตราการเกิดของไทย ต่ำกว่าจำนวนคนตายเป็นครั้งแรก ด้วยจำนวนเด็กที่เกิดใหม่มีเพียง 5.4 แสนคน แต่มีอัตราการตายจำนวน 5.6 แสนคน และล่าสุดในปี 2565 ไทยมีอัตราการเกิด 5.02 แสนคน และอัตราการตาย 5.96 แสนคน จะเห็นได้ว่าภาวะการเกิดที่น้อยกว่าการตายนี้รุนแรงมากขึ้นในปีที่ผ่านมา

ซึ่งจริง ๆ แล้วอัตราการเกิดของไทยได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา และการเกิดกับการตายที่สวนทางกันนี้ได้ทำให้ไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน และการจัดเก็บภาษีที่ลดลง สวนทางกับสวัสดิการรัฐสำหรับผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศ

แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้คนไทยมีลูกมากขึ้นมาโดยตลอด ด้วยการใช้นโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะจริง ๆ แล้วปัจจัยที่ทำให้อัตราการเกิดน้อยลงนั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายด้าน ทั้งเป้าหมายชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ ภาวะทางสังคมที่มีการแข่งขันสูง สิทธิลาคลอดของไทยยังไม่เพียงพอ ขาดระบบสนับสนุนในการเลี้ยงเด็ก หรือแม้กระทั่งสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็เป็นตัวแปรที่ทำให้คนอยากมีลูกน้อยลง

ยกตัวอย่างประเทศจีนที่ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาด้านประชากรล้นประเทศจนรัฐบาลต้องประกาศใช้ “นโยบายลูกคนเดียว” ตั้งแต่ปี 2522 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป เพราะในขณะนั้นจีนอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ และเพิ่งผ่านสงครามภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ทรัพยากรจำนวนมากถูกทำลาย ประชาชนเผชิญกับความอดอยาก ซึ่งนโยบายลูกคนเดียวที่เข้มงวดนี้ได้ทำให้อัตราการเกิดของประชากรจีนดิ่งฮวบ จนสุดท้ายต้องประกาศยกเลิกการใช้นโยบายลูกคนเดียวลงในปี 2559 และหันมากระตุ้นการมีบุตรแทน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนได้

ล่าสุดข้อมูลจาก World Population Review ได้เปิดเผยว่าสิ้นปี 2565 จีนได้ถูกอินเดียแซงหน้าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกไปแล้ว นั่นเพราะนอกจากนโยบายจากรัฐบาลที่กระตุ้นการเกิดนั้น ไม่เพียงพอ เพราะปัจจัยที่ทำให้คนจีนไม่อยากมีลูกเพิ่มคือค่าใช้จ่ายในการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้รัฐบาลจะอนุญาตให้คู่แต่ละครอบครัวมีบุตรได้ถึง 3 คนก็ตาม ซึ่งทำให้ในปี 2565 จีนกลายเป็นสังคม Aged Society ด้วยประชากรอายุมากกว่า 65 ปี มีสัดส่วน 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ

จากกรณีศึกษาของประเทศจีน ทำให้เราเห็นว่าการจะหวังพึ่งพานโยบายของภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ และไม่ทันการ ดังนั้น ในส่วนของภาคธุรกิจ และครัวเรือนเองจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน เพราะเราอาจจะต้องอยู่กับสังคมผู้สูงอายุไปอีกนาน จึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อพัฒนาทุกมิติ ทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย ความมั่นคงทางการเงิน และทางด้านการใช้ชีวิตในสังคมให้กับผู้สูงอายุ

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุในแง่มุมอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ต่อๆ ไป สามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1