Hyper-Aged-Society

Hyper–Aged Society คำที่ทุกคนจะต้องรู้จักในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

สังคมผู้สูงอายุหรือ Aged Society เป็นประเด็นที่หลายประเทศยังไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วปัญหานี้ได้เกิดขึ้นกับโลกของเราอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบที่รุนแรง เห็นได้จากการที่ปัจจุบันมีประเทศที่กลายเป็น Aged Society ไปแล้วถึง 53 ประเทศ เท่ากับเกือบ 1 ใน 3 จาก 194 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และในเนื้อหานี้ ‘Business+’ จะมาอธิบายความหมายของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพื่อตอบคำถามที่ว่า “Hyper–Aged Society” คืออะไร

ก่อนที่เราจะไปอ่านเนื้อหาด้านผลกระทบ หรือแง่ในมุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจ เราต้องทำความเข้าใจการแบ่งสัดส่วนโครงสร้างประชากรของประเทศก่อนว่าต้องมีสัดส่วนของผู้สูงอายุเท่าไหร่ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ถึงจะเรียกว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากอ้างอิงตามข้อมูลของ ‘สหประชาชาติ (UN)’ จะพบว่า สังคมผู้สูงอายุ คือ การที่ประเทศมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นเกิน 10% และอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ซึ่งสังคมผู้สูงอายุมีทั้งหมด 3 ระดับ โดยใช้การคำนวณจากสูงอายุหารกับประชากรทั้งหมดเพื่อแบ่งแยกระดับ ได้ดังนี้

การแบ่งสัดส่วนสังคมผู้สูงอายุตามโครงสร้างประชากร

Hyper-Aged

 

          • ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) : คือ ประเทศที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของคนทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของคนทั้งประเทศ
          • ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) : คือ ประเทศที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของคนทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของคนทั้งประเทศ

          • ระดับสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Hyper-Aged Society หรือ Super-Aged Society) : คือ ประเทศที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปตั้งแต่ 28% หรือ มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของคนทั้งประเทศ

ซึ่งทั้ง 3 ระดับนี้ เป็นการแบ่งสัดส่วนโครงสร้างของสังคมตามช่วงอายุของประชากร โดยที่โครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้โครงสร้างอายุประชากรเปลี่ยนแปลงไปนั้น จะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ

1. อัตราการเกิด (Crude Birth Rates)

2. อัตราการเสียชีวิต (Mortality Rate)

ซึ่งประเทศที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายจะมีโอกาสเป็นสังคมผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็ว โดยที่อัตราการเกิด และการเสียชีวิตมีตัวแปร คือ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ การโภชนาอาหาร สวัสดิการภายในประเทศ และทัศนคติ หรือการเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในแต่ละยุค

โดยทั่วไปแล้วการเกิดสังคมผู้สูงอายุมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา นั่นเป็นเพราะว่าประเทศพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการแพทย์มากกว่า ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขและโรงพยาบาลได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้นโยบายของภาครัฐ หรือความพร้อมของภาคเอกชนยังมีมากกว่าในหลาย ๆ ด้าน ทั้ง อาหาร สุขอนามัย และโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาและมีอายุยืนมากกว่า สวนทางกับอัตราการเกิดในประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มลดลง เพราะประชนมีการวางแผนครอบครัว และคุมกำเนิดมากขึ้น

ทั้งนี้เราได้พบว่า ตั้งแต่ปี 2544 ค่าเฉลี่ยของผู้สูงอายุในทุกประเทศทั่วโลกต่างก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย ‘องค์การสหประชาชาติ (UN)’ ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าตั้งแต่ปี 2544-2643 โลกของเราจะกลายเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ พูดง่าย ๆ คือ ประชากรบนโลกนี้จะมีคนแก่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั่วโลก และภายในปี 2582 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก

ซึ่งในภาพรวมแล้ว เหตุผลที่ทำให้หลายๆ ประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเกิดจากเทคโนโลยี และประสิทธิภาพทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นจนส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรยืนยาวขึ้น แต่กลับสวนทางกับอัตราการเกิดทั่วโลกที่ลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้ทำให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกน้อยลงเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน จนทำให้ประเทศต่าง ๆ มีผู้สูงอายุมากกว่าคน เกิด และคนวัยทำงานที่ลดน้อยลง

ปัจจุบันนี้พบว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aged Society ทั้งหมด 53 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย (ใช้เกณฑ์อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14%) โดยประเทศโมนาโก และญี่ปุ่นเป็น 2 ประเทศในโลกที่เป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ Hyper-Aged Society

20 ประเทศผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก

Hyper-Aged

ข้อมูลจาก https://www.statista.com/ และ www.macrotrends.net

อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ สำนักสถิติ หรือสำนักวิเคราะห์จะไม่รวม ‘โมนาโก’ เข้าไปเพื่อใช้ในประเมินภาพรวมของโลก เพราะโมนาโกเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากนครรัฐวาติกัน) และมีจำนวนประชากรไม่ถึง 4 หมื่นคน แต่มีเศรษฐีย้ายเข้าไปอยู่ในโมนาโกในช่วงบั้นปลายชีวิตเป็นจำนวนมากจากการเป็นประเทศปลอดภาษี จึงทำให้เกิดเป็นโครงสร้างที่ไม่ปกติเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในโลก และการเป็นประเทศที่ไม่ปกตินี้ หากรวมโมนาโกเข้าไปในการวิเคราะห์ก็จะทำให้ค่าสถิติต่าง ๆ ผิดเพี้ยน ดังนั้น นักสถิติ และนักวิเคราะห์จึงมองว่า ไม่ควรนำโมนาโกมารวมในค่าสถิติต่าง ๆ ของโลก

ดังนั้น หากไม่รวมโมนาโกแล้ว จะเท่ากับว่า ในปัจจุบัน (2566) บนโลกนี้ยังมีเพียงแค่ประเทศเดียวที่เป็น Hyper-Aged Society นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศเป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน เพราะค่านิยม และทัศนคติของการมีบุตรเป็นเรื่องที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง และใช้เวลาเปลี่ยนแปลงอย่างยาวนาน ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็วแบบญี่ปุ่น ยังต้องใช้เวลาถึง 37 ปีถึงจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด ทำให้หลาย ๆ ประเทศมองว่าสังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องไกลตัว และไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘Hyper-Aged Society’ ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นคำที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว

สำหรับเนื้อหาด้านผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ และประเด็นที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับสงคมผู้สูงอายุอื่นๆ ‘Business+’ จะมานำเสนอในคอนเทนต์ไปกับแคมเปญพิเศษ “The Coming of a Hyper-aged Society” เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ซึ่งสามารถรอติดตามอ่านกันได้ที่แฟนเพจ และเว็บไซต์ของ Business+ https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1