FDI+TDI ส่วนผสมสำคัญ สู่การยกระดับเศรษฐกิจระดับประเทศ

การยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ไปถึงขีดสุดได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการเติบโตของศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากร รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว ยังสามารถสร้างการแข่งขันให้กับประเทศในหลาย ๆ ภาคส่วน

แต่เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของโรค COVID-19 ตลอดช่วงเวลา 3 ปี มูลค่าการลงทุนทั่วโลกจึงได้หดตัวลง และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง นั่นเป็นผลให้สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้กล่าวถึงการฟื้นฟูการลงทุนให้กลับมาสู่การฟื้นตัว

แต่ไม่ใช่เพียงเป็นการฟื้นในระดับปกติเท่านั้น แต่ยังพูดถึงการฟื้นตัวที่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนกลับมาดียิ่งกว่าเดิม บนหลักการของความยั่งยืนและยืดหยุ่น (ตามรายงาน World Investment Report 2021) ดังนั้นหลายประเทศจึงได้หยิบยกเอาเรื่องการฟื้นฟูการลงทุนโดยเฉพาะ FDI ขึ้นมาเป็นธีมหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง

ในปี 2564 ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อยู่ที่ 1.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 64% จากปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 หนักที่สุดจนทำให้ FDI ทั่วโลกลงไปแตะระดับต่ำที่สุด และเมื่อเจาะข้อมูลเข้าไปถึงสาเหตุของการฟื้นตัว จะเห็นว่าในปี 2564 การลงทุน FDI ฟื้นตัวได้จากการควบรวมกิจการ และซื้อกิจการที่ค่อนข้างจะเฟื่องฟู

นั่นเป็นเพราะเมื่อมีธุรกิจขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถไปต่อได้ช่วง COVID-19 จึงจำเป็นต้องขายกิจการ เพราะไม่อาจทนผลขาดทุนได้ไหว ซึ่งการขายกิจการนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนจึงได้มีการตัดขายทั้ง ๆ ที่อาจจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่ยังมีเงินทุนแข็งแกร่งได้เข้าซื้อกิจการด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูก เพราะในขณะนั้นหลาย ๆ ประเทศต่างต้องใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัว และทำให้เงื่อนไขทางการเงินผ่อนคลายมากขึ้น

และเมื่อมอง FDI ที่เข้ามาในไทยของปี 2564 ก็ได้มีการปรับตัวตามการลงทุนโลกเช่นกัน โดย FDI ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 14,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 468,171 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปี 2563 ที่ถูกถอนการลงทุนไปถึง 4,947.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 158,205 ล้านบาท (ซึ่งคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตรากลางของค่าเฉลี่ยรายปี 2021 ที่ 31.9771 ดอลลาร์สหรัฐ)

โดยประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มี FDI มายังประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ตามด้วยประเทศเนเธอร์แลนด์ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์

อุปสรรคของ FDI ในปี 2022

แต่ถึงแม้ว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาจะเห็นการฟื้นตัวของ FDI ทั้งภาพรวมของโลกและของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองสภาพแวดล้อมของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจระหว่างประเทศและการลงทุนข้ามพรมแดน จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปี 2565 เพราะในปีนี้เกิดสงครามจากรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก

ทำให้ในปีนี้นอกจากจะยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แล้วยังเกิดวิกฤตอาหาร เชื้อเพลิง และการเงินขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งความไม่แน่นอนที่ยังคงยืดเยื้อนี้ได้ทำให้เกิดแรงกดดันต่อนักลงทุน

เมื่อมาดูข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) เราจะเห็นว่ากระแส FDI ทั่วโลกดีดตัวขึ้นเป็น 972 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบแบบเต็มไตรมาสจากสงคราม) แต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 เป็นไตรมาสแรกที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว กดให้กระแส FDI ทั่วโลกลดลง 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

สาเหตุหลัก ๆ คือ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะรักษาสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้มากกว่าจะนำไปลงทุน

นอกจากนี้เมื่อมองข้อมูล FDI ของไทยในไตรมาส 2 ของปี 2565 พบว่าปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดย FDI โดยรวมเหลือเพียง 759.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากไตรมาส 1 ของปี 2565 อยู่ที่ 5,686.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการปรับตัวลดลงไปถึง 86.64% หนึ่งในสาเหตุนั้นเกิดจากประเทศที่มี FDI มายังประเทศไทยมากที่สุดอย่างญี่ปุ่นถอนการลงทุนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปี 2564 ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยถึง 99,666 ล้านบาท แต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565 ถอนการลงทุนไปถึง 50,506 ดอลลาร์สหรัฐ

โดยญี่ปุ่นได้ถอนเงินลงทุนจากไทยไปอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ได้ถอนการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม อย่างเช่นในกรณีของ พานาโซนิค สุวินทวงศ์ ที่ได้ถูกปิดโรงงานและย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม นั่นเป็นเพราะว่าเวียดนามเป็นสมาชิกข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific PartnershipResearch) เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น

ซึ่งแตกต่างกับไทยที่ไม่ยอมเข้าร่วม เนื่องจากเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงจากภาคการเกษตร ที่มองว่าข้อตกลง CPTPP จะไปลิดรอนสิทธิเกษตรกร นำไปสู่การเสียค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น รวมไปถึงจะต้องมีต้นทุนจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการเปิดตลาดบริการและการลงทุนให้ต่างชาติ

และเมื่อไทยไม่เข้าร่วมกับข้อตกลงดังกล่าว จึงทำให้เกิดการถอนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ โรงงานญี่ปุ่นในไทยย้ายไปเวียดนามแล้วกว่า 20 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่การลงทุนของญี่ปุ่นเป็นการลงทุนด้านการผลิต ตั้งแต่ยานยนต์จนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ซึ่งเดิมทีสิ่งจูงใจในการลงทุนในประเทศไทย คือค่าแรงถูก ทักษะฝีมือดี รวมไปถึงไทยมีสิทธิส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสิ่งอำนวยความสะดวกมีครบ ขณะที่ไทยยังเป็นตลาดส่งออกชั้นหนึ่งของสหรัฐฯ และยุโรป แต่คุณสมบัติเหล่านี้ได้ถูกเวียดนามแซงหน้าไปจนหมดแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นก็ได้ส่งผลกระทบถึงรายได้และอัตราเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ‘Business+’ แล้ว แม้ไทยจะไม่ได้ทำ CPTPP แต่ไทยยังมีเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) กับ 5 ใน 7 ประเทศสมาชิก นั่นคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม จะเหลือเพียงแคนาดากับเม็กซิโก ทำให้คาดการณ์ว่าการค้าของไทยกับทั้ง 5 ประเทศ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะช่วยทดแทนข้อเสียเปรียบนี้ได้

นอกจากนี้ ในแง่ของการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับภูมิภาค รวมถึงเวียดนาม

5 ความโดดเด่นของประเทศไทยที่จะเป็นตัวดึง FDI

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นสำหรับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจจากต่างชาติ เกิดจากข้อได้เปรียบมากมายที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุน และเปิดโอกาสของรัฐบาลไทยต่อนักลงทุนต่างชาติ ด้วยโครงการและสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลไทยที่พยายามทำให้ประเทศเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

โดยความน่าดึงดูดใจของประเทศไทยที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร โดยใช้เกณฑ์ความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับโลก 5 ข้อหลัก ๆ คือ

1. สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งปัจจัยข้อนี้ถือเป็นปัจจัยแรกและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดจากทั้งหมด 5 ข้อ โดยไทยถือว่ามีจุดแข็งจากความเสี่ยงในแง่ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียและแปซิฟิก

เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสม พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ สภาวะอากาศค่อนข้างดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาลเป็นส่วนมาก และยังมีปริมาณฝนเพียงพอแก่การกสิกรรม ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับภัยธรรมชาติบ้างแต่ถือว่าไม่บ่อยมากนัก และการเกิดภัยธรรมชาติไม่รุนแรง

นอกจากนี้เมื่อมองในแง่ของสภาพแวดล้อมในมุมของสังคมและเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่า ไทยถือเป็นประเทศที่ค่าครองชีพที่ไม่สูงจนเกินไป รวมถึงประชากรยังมีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูง

2. เศรษฐกิจแบบ Dynamic โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเติบได้สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เราจึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต หรือพูดให้เห็นภาพคือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วฉับพลัน ทำให้เกิดพัฒนาการในทุกอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

3. ทัศนคติที่เปิดกว้างและเป็นบวก โดยประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับเป็นที่ 5 ของเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน ในหมวดประเทศที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2022 (usnews.com) โดยที่การจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลกจะวัดประสิทธิภาพด้วยตัวชี้วัดที่ประกอบไปด้วยหัวข้อเหล่านี้
– ความสามารถในการปรับตัวของประเทศ
– สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการ
– คุณภาพชีวิตความมีเอกลักษณ์
– สิทธิทางสังคม
– อิทธิพลทางวัฒนธรรม
– การเปิดกว้างต่อธุรกิจ
– สถานะของประเทศในเวทีโลก
– การท่องเที่ยว
– มรดกทางวัฒนธรรม

โดยที่ผ่านมา ต่างชาติมองว่าไทยมีทัศนคติที่เปิดกว้างและเป็นบวก จึงทำให้มีมุมมองที่ดีต่อประเทศไทย มีจุดสนใจที่เป็นบวก ซึ่งเป็นที่นิยมชมชื่นของชาวโลก เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้มาเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ซึ่งอีกส่วนที่สำคัญคือทรัพยากรมนุษย์ของไทยที่มีความสามารถ รวมถึงมิตรไมตรีของคนไทย ความมีน้ำใจของคนไทย

4. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน เราพบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับจาก สถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการ (International Institute for Management Development : IMD) ประจำปี 2564 ให้อยู่ในอันดับที่ 43 เพิ่มขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2563 ซึ่งประเมินจากการที่ประชาชนเข้าถึงน้ำ ถนน และไฟฟ้าได้มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญในการลงทุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในระบบ 5G

แม้เราจะอยู่ในอันดับที่ไม่ได้โดดเด่นมากนักในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน แต่การให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางการคมนาคมผ่านการลงทุนสร้างถนน และการขยายการให้บริการน้ำประปาอย่างทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล ยังเป็นข้อมูลที่ทำให้ต่างชาติมองว่าเรามีความน่าเชื่อถือ

5. ต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ขณะที่หากมองในแง่ของเทคโนโลยีอย่างการส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ลดการใช้เงินสดและเช็ค พบว่าคนไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินจนเรียกได้ว่าประเทศไทยมีต้นทุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่ำที่สุดในโลก

ดังนั้น ต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศไทยจึงได้เปรียบในการแข่งเรื่องต้นทุน เพราะเงินสด เช็ค หรือการโอนเงินของประเทศอื่นนั้นมีต้นทุนสูงกว่าประเทศไทย

นอกจากนี้ หากมองในแง่ของประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ไทยยังได้รับการจัดอันดับจาก IMD ประจำปี 2564 ให้อยู่ในอันดับที่ 21 โดยตลาดแรงงาน (Labour Market) ปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 10 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของอัตรากำลังแรงงาน และอัตรากำลังแรงงานในระยะยาวที่มีอันดับสูงขึ้น

รวมถึงนโยบายของประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้เข้าสู่กำลังแรงงาน และสามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้ ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันมาตรฐานสากล ทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย

ทั้ง 5 ปัจจัยถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะยังดึงดูด FDI จากต่างประเทศ ซึ่ง FDI ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการ

FDI ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ
ในส่วนของ FDI นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ เพราะ FDI นั้นเป็นหนึ่งในตัวแปรของดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) เนื่องจากดุลการชำระเงิน คือ ผลรวมสุทธิของรายรับและรายจ่ายของประเทศที่เกิดจากการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

โดยรายได้และรายจ่ายของแต่ละประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สะท้อนภาคเศรษฐกิจจริง และดุลบัญชีเงินทุน ที่สะท้อนในส่วนของภาคการเงิน ซึ่ง FDI นั้นอยู่ในส่วนของบัญชีการเงินจึงมีส่วนที่เป็นตัวสนับสนุนดุลการชำระเงินในด้านของรายได้ที่เข้าสู่ประเทศ

นอกจากนี้ FDI ยังเป็นตัวสำคัญที่กระตุ้นให้ประเทศเกิดการพัฒนาในแง่ของโครงสร้าง และการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งโดยเจ้าของทุนยังมีอำนาจในการดูแลกิจการ และยังมีการนำทรัพยากรการผลิต แรงงาน และเทคโนโลยีเข้าไปยังประเทศที่ลงทุน ขณะที่ FDI นั้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว ประเทศจึงให้ความสำคัญมากกว่าการลงทุนทางอ้อม หรือการลงทุนระยะสั้น ๆ

โดยส่วนสำคัญของ FDI ที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนามีทั้งหมด 4 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย
1. เป็นทุนที่สําคัญและช่วยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ
2. เพิ่มโอกาสให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่สูงขึ้น
3. ช่วยส่งเสริมการสร้างงาน และช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประเทศผู้มาลงทุนที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
4. ช่วยเพิ่มการลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม FDI ยังคงมีจุดอ่อนอยู่บางกรณี เพราะการลงทุนโดยตรงนั้นเป็นการลงทุนในระยะยาว สาเหตุเป็นเพราะต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดตั้งโรงงาน และต้องมีการนําเข้าเครื่องจักร จึงจำเป็นต้องมีการกู้เงินมาเพื่อใช้ในการลงทุนและอาศัยการวางแผนและเตรียมตัวด้วยระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน การดึงดูดเม็ดเงิน FDI จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

นอกจากนี้ FDI ยังค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัญหาทางด้านการเมืองของประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งการเมืองที่ยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงประเทศชาติเพื่อดึงดูด FDI ได้มากที่สุด โดยการให้สิทธิพิเศษ และสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน โดยคำนึงถึงผลกระทบในมิติเศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรัฐบาลจะต้องมีแผนรองรับการปรับตัว และเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจที่เข้ามาดำเนินในประเทศมากยิ่งขึ้น

TDI อีกหนึ่งความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อีกหนึ่งการลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ คือ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Thai Direct Investment Abroad: TDI) โดย TDI คือธุรกรรมการลงทุนของผู้ลงทุนที่มีถิ่นฐานในประเทศไทยมีต่อธุรกิจที่มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (ที่เป็นกิจการในเครือ) โดยที่ผู้ลงทุนถือหุ้นของกิจการในเครือหรือกิจการที่นำเงินไปลงทุนตั้งแต่ 10% ขึ้นไป จะถูกเรียกเป็น TDI

ทั้งนี้ TDI มีความสำคัญของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้งหมด 6 ข้อหลัก ๆ
1. ช่วยในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันขันและเติบโตได้ โดย TDI ส่งผลดีต่อการขยายตลาดใหม่ ๆ หรือรักษาส่วนแบ่งการตลาดในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่หรือมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตสูง (Market Seeking) โดยเป็นตัวช่วยได้อย่างดีในภาวะที่เศรษฐกิจของไทยมีอัตราการเติบโตน้อยกว่าเศรษฐกิจของประเทศอื่นในภูมิภาค

2. ช่วยในการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ และวัตถุดิบ รวมไปถึงแรงงานที่อาจจะดีกว่า หรือถูกกว่าในประเทศ โดยธุรกิจหลายแห่งเลือกที่จะออกไปลงทุนโดยตรงในประเทศที่มีความสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่าในประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่าหลายประเทศยังคงมีทรัพยากรการผลิตที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าไทย ไม่ว่าจะเป็นพม่าและเวียดนาม ซึ่งมีความพร้อมในแง่ของก๊าซธรรมชาติ หรืออินโดนีเซีย ที่มีความได้เปรียบในแง่ของแหล่งน้ำมันดิบ

นอกจากนี้ปัจจัยด้านค่าจ้างแรงงานเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานของไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องอีก จากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีค่าแรงต่ำกว่าและมีการให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ในการลงทุน

3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรวมถึงการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ (Efficiency Seeking) โดยการที่ธุรกิจในประเทศได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ทำให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการแสวงหาเทคโนโลยี และการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะการไปลงทุนนั้น จะทำให้สามารถได้ออกไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการในต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจที่มีศักยภาพสูง และยังทำให้มีโอกาสในการแสวงหาเทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่าในประเทศ เพื่อนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของตนได้มากขึ้น

4. ช่วยในด้านการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจ โดยการออกไปลงทุนในต่างประเทศสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจ ทั้งในแง่ของแหล่งผลิต วัตถุดิบ แรงงาน รวมถึงการกระจายตลาดทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรหรือตลาดจากภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว

5. ช่วยสร้างสมดุลต่อเงินไหลเข้าและไหลออกของประเทศ โดยที่การไปลงทุนในต่างประเทศทำให้เกิดธุรกรรมเงินตรา เพราะที่ผ่านมาแล้ว สำหรับประเทศไทยมักจะเป็นเงินไหลเข้าเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หรือการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างชาติ

ดังนั้นการออกไปลงทุนในต่างประเทศจึงทำให้เกิดสมดุลของเงินไหลเข้า/ไหลออกได้เป็นอย่างดี ช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมให้ภาคการส่งออกและภาคการผลิตสามารถปรับตัวได้ อันจะช่วยให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

6. ช่วยเลี่ยงอุปสรรคทางการค้า หรืออาจช่วยให้ประเทศได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จากการได้เข้าไปผลิตสินค้าในบางประเทศ ที่จะเป็นการสนับสนุนและเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นแล้วว่า TDI นั้น นอกจากจะช่วยในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้แล้ว ยังช่วยให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยน และระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประโยชน์ในด้านการค้า หรือการมีส่วนช่วยในการพัฒนาตลาดการเงินของประเทศได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ดังนั้น ทั้ง FDI และ TDI ต่างก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการยกระดับเศรษฐกิจ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในเวทีโลก ส่วนหนึ่งเพื่อลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรในประเทศ และช่วยแสวงหาโอกาสทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะนำประเทศชาติไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง FDI และ TDI นั้น จะสามารถเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเรียนรู้ และการซึมซับเทคโนโลยีของเจ้าของประเทศ เพราะทักษะเทคโนโลยีต้องอาศัยระยะเวลาในการถ่ายทอด ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้วางรากฐานให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เพื่อลดแรงกดดันต่อภาวะเงินทุนไหลออก และต้องบริหารจัดการให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

ที่มา : ธปท.
.
เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #FDI #TDI