อนาคต ‘สยามออโต้แบคส์’ ในมือ PTG

โอกาสของธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ทั่วไปประเภทเร่งด่วน (Fast Fit) อยู่คู่คนไทยมานาน และหัวใจของธุรกิจนี้ก็คือ มาตรฐานของการให้บริการ และราคาที่เข้าถึงได้ง่าย กับมูลค่าตลาดซ่อมบำรุงกว่าแสนล้านบาท อัตราเติบโตต่อปีไม่ต่ำกว่า 10% จึงทำให้เกิดผู้บริการไม่ต่ำกว่า 10 แบรนด์

คำถามคือ ความท้าทายของแต่ละแบรนด์จะรักษายอดขายและชิงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่ง ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงทุกปีอย่างไร

ในประเด็นนี้ คุณรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG รับผิดชอบดูแลบริษัท สยามออโต้แบคส์ จำกัด (AUTOBACS) เล่าถึงโอกาสทางธุรกิจของ AUTOBACS หลังจากนี้กับ Business+ ว่า AUTOBACS เรียนรู้ตลาดไทยอย่าง Conservative บริหารงานแบบ Aggressive

โดย AUTOBACS ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจรอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ได้เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2543 เป็นที่รู้จักของคนไทยตั้งแต่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม AUTOBACS ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2560 เมื่อบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท สยามออโต้แบคส์ จำกัด ในสัดส่วน 38.26% และล่าสุดในปี 2563 ที่ผ่านมาได้ซื้อหุ้นเพิ่มรวมเป็น 76.52% ส่งผลให้ PTG สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจของ AUTOBACS ได้สะดวกขึ้น

โดยภายหลังจากการเข้าซื้อหุ้นศูนย์บริการรถยนต์ออโต้แบคส์สำเร็จ ส่งผลให้บริษัท สยามออโต้แบคส์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการขยายศูนย์บริการในประเทศไทย โดยบริษัทฯ มุ่งหวังที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ non-oil ให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว

จนปัจจุบัน AUTOBACS ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร มีสาขาให้บริการแล้วรวม 39 สาขา โดยเตรียมจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ อีก 4 สาขา ตั้งเป้าเปิดบริหารครบ 56 สาขา ภายในสิ้นปี 2565

และเตรียมแผนขยายสาขาอีกกว่า 100 สาขา ภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 และตั้งเป้าว่าภายใน 2-3 ปีจะต้องเปิดบริการให้ได้ 250-300 สาขา

จากจุดนี้จะเห็นว่า บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG มั่นใจกับแบรนด์ AUTOBACS เพื่อแข่งขันในธุรกิจฟาสต์ฟิตอย่างมาก

เรากำหนดแนวทางการให้บริการ คือ AUTOBACS จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ให้รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ หาสาเหตุของปัญหา และแนวทางการแก้ไข แต่สุดท้ายการจะเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมแซมรถหรือไม่นั้น ลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเอง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากลูกค้าในระยะยาว

ในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่จะเน้นการเปลี่ยนอะไหล่ และ AUTOBACS ก็มีบริการซ่อมบำรุงรักษาให้ด้วย การซ่อมบำรุงช่วงล่างต่าง ๆ ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะจัดแพ็กเกจการดูแลรถยนต์รายปี ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายและไม่มีเวลาดูแลรถได้รับประโยชน์และความสะดวกสูงสุด

รวมถึงยังเตรียมแผนจะขยายธุรกิจ การพรีออร์เดอร์อะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่งพิเศษจากญี่ปุ่น เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ชอบแต่งรถ และชอบแนวสปอร์ต เพิ่มเติม” คุณรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดใจกับ Business+

จะเห็นได้ว่า แนวบริหาร AUTOBACS ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง PTG มีการปรับรูปแบบการบริหารแบบ 180 องศา จากเดิมในช่วงที่บริษัทญี่ปุ่นดูแล เป็นองค์กรที่อนุรักษ์นิยม ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมให้บริการแบบคนไทย ซึ่งต้องนำเสนอคุณค่าของบริการ ดังนั้นจะเห็นว่า ทำไม PTG จึงกล้าลงทุนขยายสาขา AUTOBACS ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

คุณรังสรรค์บอกว่า เขาปรับ AUTOBACS ให้ออกจาก Comfort Zone โจทย์ของธุรกิจนี้คือ ทำอย่างไรให้คนเข้ามาใช้บริการในราคาที่สมเหตุสมผล และกลับมาใช้บริการต่อเนื่อง

มากไปกว่านั้นเขาให้นโยบายว่า AUTOBACS จะอยู่รอดปลอดภัย และต้องนำตัวเองเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอีก 3 ปีข้างหน้า

นี่คือโจทย์ท้าทายอย่างมาก จากโอกาสของตลาดหรือที่เรียกกันว่า Light Maintenance มีบริการครอบคลุมลักษณะงานทั้งดูแลยางรถยนต์, เปลี่ยนถ่ายนํ้ามันเครื่อง-ไส้กรองเปลี่ยนแบตเตอรี่, ตรวจซ่อมระบบเบรก, โช้กอัพ และระบบช่วงล่าง เป็นต้น และมีแบรนด์ธุรกิจฟาสต์ฟิตชั้นนำมากมาย

แน่นอน แบรนด์ AUTOBACS ถือเป็นน้องใหม่ แต่การที่ AUTOBACS มี PTG อบู่เบื้องหลังย่อมจะช่วยสร้างความได้เปรียบพอสมควร

“AUTOBACS ต้องเข้าไปในหัวใจลูกค้าให้เร็วกว่านี้ เป้าหมายนำ AUTOBACS เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นเป้าหมายระยะยาว

แต่เป้าหมายระยะกลางคือ 2-3 ปีนี้ เราวางแผนไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ AUTOBACS ประสบความสำเร็จ ต้องเน้นไปที่การบริการ จะถูกยกระดับให้มากขึ้นหลังจากนี้ ทั้งเรื่องคุณภาพ และความหลากหลายของทั้งการบริการและสินค้า”

นั่นเพราะจุดกำเนิดของ AUTOBACS ประเทศญี่ปุ่น ยึดถือแนวคิดนำเสนอคุณค่าถึงลูกค้า (Customer Centric) และวาง Position เป็นผู้ให้คำปรึกษา (Consulting) คุณรังสรรค์ มองว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเขาและทีมบริการ พนักงานของ AUTOBACS เป็นอย่างมาก!!!

“AUTOBACS เป็นธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ในรูปแบบโมเดิร์นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานในการให้บริการของพนักงานทั้งในงานช่างและงานบริการ โดยมีการตรวจประเมินจากทีมงาน Autobacs ญี่ปุ่นเป็นประจำทุกปี

อีกทั้งยังมีการจัดการอบรมต่าง ๆ ให้พนักงานของเรามีความเชี่ยวชาญในเรื่องรถยนต์ เพื่อส่งต่อความปลอดภัยด้วยมาตรฐานที่ไว้ใจได้ ให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของเรา

หัวใจสำคัญของ AUTOBACS ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นก็ยึดถือแนวคิดนี้เช่นกันคือ ไม่ได้มองว่าเราเป็นธุรกิจรถยนต์ แต่มองว่าเป็นธุรกิจค้าปลีก และเมื่อเป็นค้าปลีกก็จำเป็นจะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ด้วยการเพิ่มเครือข่ายให้แพร่หลายมากขึ้น และเมื่อมีสาขามากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่บริการมากขึ้น กิจกรรมประชาสัมพันธ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักมากขึ้นเช่นกัน”

จะเห็นว่า กลยุทธ์การตลาดของ AUTOBACS จะสื่อสารแบรนด์ให้ลูกค้าเกิด Touchpoint จากสาขาที่เตรียมเพิ่มเป็น 300 สาขา บนมาตรฐานบริการระดับโลก เพื่อสร้าง Brand Experience ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงบันเดิลบริการต่าง ๆ ในเครือของ PTG เกิดโมเดลธุรกิจ Subscription เป็นธุรกิจ Co-Create Ecosystem เพื่อเชื่อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข” ในทุกด้านของช่วงชีวิต และให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

Timeline จุดกำเนิด AUTOBACS
ปี 1947 AUTOBACS SEVEN เริ่มจากธุรกิจขายปลีก ขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์เล็ก ๆ ย่านโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง ถือเป็นร้านที่ขายอุปกรณ์รถยนต์ โดยเฉพาะแห่งแรกของญี่ปุ่น
ปี 1975 ขยายสาขาสู่เมืองฮาโกดาเทะ จังหวัดฮอกไกโด ส่งผลให้ AUTOBACS เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีสาขามากถึง 300 แห่ง
ปี 1990 ได้ก้าวไกลไปประกาศความสำเร็จสู่ต่างแดน ณ ประเทศไต้หวัน เป็นสาขาแรกในปีถัดมา

ออโต้แบคส์ (AUTOBACS) ศูนย์บริการด่วนจากญี่ปุ่น ดำเนินกิจการในไทยกว่า 20 ปี เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยเริ่มเปิดให้บริการสาขาแรกคือ สาขาพัฒนาการ บริหารงานโดย สยามออโต้แบคส์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบริษัทในเครือของตรีเพชร อีซูซุ เซลส์

ล่าสุดในปี พ.ศ. 2563 พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้บริหารปั๊มน้ำมัน PTG ได้ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น และสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ออโต้แบคส์ เซเว่น จำกัด และบริษัท สยาม ออโต้แบคส์ จำกัด ในไทย จำนวน 38.26% และได้เข้าถือสิทธิ์ การบริหารกิจการในไทยแทน พร้อมวางเป้าขยายในปั๊มน้ำมัน PT และนอกปั๊ม

“การขยับธุรกิจสู่ Co-Created Ecosystem หรือการทำธุรกิจแบบสร้างเครือข่าย ผ่านการสร้างสรรค์ร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ภายใต้บัตรสมาชิก Max World ที่เรามีสมาชิกกว่า 18 ล้านคน เพิ่มเป็น 22 ล้านคน”

คุณรังสรรค์ ทิ้งท้ายว่า แผนการดำเนินธุรกิจเชิงรุกทั้งหมดจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจเติบโต แต่ยังทำให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น

และเป้าหมายหลักของ AUTOBACS คือ การขึ้นแท่นอันดับ 1-2 ในธุรกิจนี้ และภายใน 3-4 ปีนับจากนี้ AUTOBACS ยังเชื่อมั่นภาพรวมตลาดในระยะยาว และเชื่อมั่นในศักยภาพของ AUTOBACS จึงยังคงเดินหน้าธุรกิจต่าง ๆ โดยพยายามให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ให้มากที่สุด

หากใครต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://youtu.be/ePafX3mR_cI

ที่มา : AUTOBACS

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #AUTOBACS