‘เกาหลีใต้’ กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดที่ปลูกฝังมาจากการแยกขยะ

ประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ ระดับโลกในแง่ของธุรกิจด้านเอนเตอร์เทนเมนต์ ซึ่งได้สร้างรายได้ และทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอิทธิพลต่อระดับโลกอย่างมาก

ขณะที่ในปัจจุบันชาวเกาหลีใต้ได้หันมาสนใจและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น (ซึ่งในอนาคตอาจจะทำให้หลายคนหันมาสนใจการรักษาทรัพยากรกันมากขึ้น จากความมี soft power ของเกาหลี)

ซึ่งสาเหตุที่คนในเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเกิดเป็นกระแสนิยมอย่างง่ายดาย เกิดจากกระแสการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอุปนิสัยการอนุรักษ์นี้ถูกปลูกฝังมาจากการคัดแยกขยะในชีวิตประจำวันที่เห็นได้ในซีรีย์เกาหลีหลายๆ เรื่อง

โดยตลอดมารัฐบาลเกาหลีได้ให้ความสำคัญกับการแยกขยะเป็นอย่างมาก ด้วยการรณรงค์ขึ้นป้ายประกาศ ออกโบวชัวร์ แผ่นพับคู่มือการแยกขยะแจกตามสถานที่ต่าง ๆ โดยจะมีอาสาสมัครมาคอยยืนถือถุงขยะ หรือมายืนเฝ้าถังขยะเพื่อให้คนทิ้งขยะถูกประเภท

ซึ่งปกติแล้ว ชาวเกาหลีใต้จะมีพฤติกรรมและวิถีชีวิตในการแยกขยะเป็นประจำทุกวัน โดยในประเทศเกาหลี มีกฏระเบียบและข้อบังคับในการแยกขยะหลักๆ อยู่ราว 5 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และขยะขนาดใหญ่

สำหรับที่อยู่อาศัยในแต่ละประเภทจะมีกฏในการแยกและทิ้งขยะอย่างเคร่งครัด หากผู้อยู่อาศัยไม่ปฏิบัติตาม อาจต้องเสียค่าปรับให้แก่สำนักงานเขตในถิ่นที่อยู่อาศัยของตนได้ โดยการประกาศใช้กฏและข้อบังคับดังกล่าวฯ ตลอดจนการตรวจสอบที่เข้มงวด ส่งผลให้ชาวเกาหลีแยกขยะอย่างจริงจังและเคร่งครัดสร้างความคุ้นชินและนิสัยที่ดีในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้เรื่องของการคัดแยกขยะจะโดดเด่นแล้ว ในเกาหลีใต้เราจะเห็นได้ว่าร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป จะรณรงค์ให้ผู้บริโภคนำถุงผ้าหรือถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้ในการบรรจุสินค้าเมื่อจับจ่ายใช้สอย หรือหากผู้บริโภคไม่ได้นำถุงมาเองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับถุงกระดาษ หรือถุงพลาสติกที่สามารถนำไปใส่ขยะเพื่อใช้ทิ้งขยะทั่วไปต่อได้

และยังมีบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมายที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นจักรยานให้เช่าทั่วทุกพื้นที่ในกรุงโซลและปริมณฑล โดยนอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการที่เดินทางระยะใกล้หรือต้องการเดินทางในช่วงที่ไม่สามารถโดยสารรถสาธารณะได้ ยังเป็นการช่วยลดมลภาวะจากการปล่อยควันไอเสียจากรถอีกด้วย

ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้ ยังมีร้านจำหน่ายสินค้าแบบ Zero Waste ที่ผู้บริโภคสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ น้ำยาซักผ้า แชมพู โดยนำบรรจุภัณฑ์จากบ้านไปใส่ผลิตภัณฑ์ ช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกและเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจในการรีไซเคิลขวดพลาสติกหรือภาชนะอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่าประเทศอื่นๆ เกิดจากการประกาศใช้กฏหรือข้อบังคับที่ช่วยลดมลพิษต่อทรัพยากรธรรมชาติ และรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจในวิถีชีวิตดังกล่าวมากขึ้น และด้วยความที่เกาหลีใต้จริงจังและเร่งครัดกับการทิ้งขยะมาก จึงมีการกำหนดบทลงโทษของผู้ที่ทิ้งขยะแบบผิดกฏที่เข้มข้นมาก ทำให้คนเกาหลีตื่นตัว และจริงจังกับการทิ้งขยะมากเลยทีเดียว

ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นให้ชาวเกาหลีกระตือรือร้นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วยังทำให้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ดีต่อธรรมชาติมีความต้องการมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้เมื่อหันมาเทียบกับประเทศไทยแล้ว เราจะเห็นว่าไทยเองก็มีสินค้าและบริการมากมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเป็นทางเลือกให้สำหรับผู้บริโภคได้ เพราะประเทศไทยเองก็มีการรณรงค์ให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้สินค้าหลายอย่างในประเทศไทยได้ถูกพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ แก่ผู้บริโภคตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น อย่างสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลของประเทศไทย เช่น กระเป๋าที่ผลิตจากขวดพลาสติก เครื่องหนังที่ผลิตจากใบไม้ หรือเทียนหอมที่ผลิตจากข้าวหอมมะลิ ที่สามารถนำน้ำตาเทียนมาสครับผิวได้

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดเกาหลีมาก เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการนำขยะมารีไซเคิล หรือสินค้าที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่สร้างขยะเพิ่ม ซึ่งเทรนด์การรักษาทรัพยากรเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าอนุรักษ์ทรัพยากรไปยังเกาหลีใต้ได้นั่นเอง

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เกาหลีใต้ #แยกขยะ #สิ่งแวดล้อม