ปัจจุบันหลายธุรกิจพยายามหาจุดเด่น สร้างความแตกต่าง เพื่อดึงดูด และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ได้มากที่สุด แต่มากกว่าการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำสมัย สิ่งที่ผู้บริโภคมองหามากที่สุดในขณะนี้ คือผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้ได้มากที่สุด
มีผลสำรวจจาก Credit Suisse Research Institute ระบุว่ากลุ่ม Gen Z และ กลุ่ม millennia ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่จะเลือกบริโภคสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น
โดยเป็นการสำรวจในจำนวน 10,000 คน 10 ประเทศ แบ่งอออกเป็นกลุ่ม Emerging economies หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ 5 ประเทศ นำโดย จีน อินเดีย บลาซิล แอฟริกาเหนือ และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอณาจักร และสหรัฐฯ
ซึ่งผลสำรวจที่ได้พบว่า คนรุ่นใหม่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะ จีน และอินเดีย มีแนวโน้มเลือกบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าคนรุ่นใหม่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
รวมถึงพบว่ากว่า 65-90% ของกลุ่มดังกล่าวมีความวิตกกังวลสูงเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในปัจจุบัน ซึ่งจำนวน 3 ใน 4 พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาตั้งใจใช้ชีวิตด้วยการเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้แผงโซลาร์เซลล์ หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ภายในปี 2040 กลุ่มผู้บริโภค Gen Z และ Millennials นี้ จะคิดเป็น 54% ของประชากรโลก ซึ่งคาดว่าจะมี Consumer Spending หรือ การบริโภคและจับจ่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้นถึง 68% จาก 48% ในปัจจุบัน
หมายความว่าในอนาคตผู้บริโภคกลุ่มนี้ คือ ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของธุรกิจทั่วโลก ผู้พร้อมจ่ายเงินให้กับสินค้า และบริการที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘ธุรกิจ’ จะสามารถสร้างโอกาส และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง?
มาเริ่มกันที่ เตรียมแผน ปรับสินค้า
อย่างแรกก็คงหนีไม่พ้นมองแผนเตรียมการโมเดลธุรกิจ หรือปรับรูปแบบสินค้าและบริการ ให้สอดคล้องกันกับความเป็นแบรนด์ และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคตได้ เช่น
ด้านอาหาร – เป็นเรื่องที่เราได้พูดถึงกันก่อนหน้าค่อนข้างบ่อย ทั้ง Future Food อาหารที่ทำจากแมลง หรือ Plant-based Food อาหารที่ให้โปรตีนสูงทำจากพืช
ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า หลาย ๆ ธุรกิจก็ได้มีการปรับรูปแบบสินค้าเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ยูนิลีเวอร์ (Unilever) ที่ได้ออกจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่ยั่งยืนมากขึ้น และตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขาย plant-based meat หรือโปรตีนจากพืช 1 พันล้านยูโร หรือราว 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้านแฟชั่น – อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นอีกอุตสาหกรรมที่สร้างผลเสียต่อโลกไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะปัญหา Fast Fashion ที่ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ และต้องเร่งแก้กันต่อไป
ซึ่งจากผลสำรวจข้างต้นของบทความ ยังระบุอีกด้วยว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ทราบ และตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างดี โดยมีจำนวนกว่า 20-40% ระบุว่า มีความตั้งใจจะเลือกซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion ลดลง
และที่ผ่านมาหลายคนก็คงได้เห็นแล้วว่ามีแบรนด์ดังระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น H&M, Zara, Uniqlo หรือ SHEIN ถูกจับตามองในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลกแบบ GreenWashing
ซึ่งแม้ปัจจุบันทั้ง 3 แบรนด์จะพยายามปรับการผลิต หรือออกโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงโดนหมายหัว และได้รับการเฝ้าระวังจากผู้บริโภค
ไม่เพียงเท่านี้ ด้านสินค้าอื่น ๆ ก็สามารถปรับได้ทั้งในขั้นตอนของการผลิต ตั้งแต่แหล่งที่มา การออกจำหน่ายสู่ตลาด จนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่สามารถลดการทำลายสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
ยกตัวอย่าง LUSH แบรนด์เครื่องสำอางสัญชาติอังกฤษ ที่ผลิตเครื่องสำอางลดจำนวนการใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ (Naked packaging) เช่น แชมพูก้อน รวมไปถึงสนับสนุนการใช้แนวคิด Refill หรือการให้นำบรรจุภัณฑ์เดิมมาเติมกับผลิตภัณฑ์ภายในร้าน
ลงทุน และต่อยอดด้าน ESG มากขึ้น
ESG ย่อมาจาก Environmental, Social และ Governance คือ แนวคิดการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล ถือเป็นอีกเรื่องที่ Business+ ได้พูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าปีนี้ ถือเป็นอีกปีที่หลายธุรกิจให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้น ด้วยความที่เป็นภาพลักษณ์ที่ดี ดึงดูดนักลงทุน และการตื่นตัวของผู้บริโภคเองที่มองหาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG เช่นกัน
ระวังจับโป๊ะ GreenWashing
GreenWashing หรือการฟอกเขียว คือการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าองค์กรให้ความสำคัญ และแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น บอกไม่หมด โกหก หรือไม่มีหลักฐานรองรับในการอ้างว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความยั่งยืน
ซึ่งแบรนด์ไม่ควรประเมินผู้บริโภคต่ำเกินไป เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลมากมายได้อย่างรวดเร็ว
ยกตัวอย่างแบรนด์รองเท้าชื่อดัง Adidas ที่ออกคอลเลคชั่นรองเท้ารุ่น Stan Smith พร้อมโฆษณา ‘Stan Smith Forever. 100% iconic, 50% recycled’ ซึ่งเป็นที่จับตามองการสื่อของทั่วโลก มองว่าการรีไซเคิล 50% ที่ทางแบรนด์ ไม่ได้ชี้แจ้งให้ชัดเจนว่าส่วนไหนของรองเท้าที่มาจากการรีไซเคิล และอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า 50% ของวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในรองเท้าผ้าใบ ทำจากวัสดุรีไซเคิล
ท้ายที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจในบางสาขา อาจต้องใช้การลงทุน ลงแรงไม่น้อย แต่เชื่อว่าในอนาคตที่กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ กำลังจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่พร้อมแลกเงินเพื่อสินค้ายั่งยืน และธุรกิจก็สามารถคว้าช่วงโอกาสนี้ ในการเติบโตและต่อยอดต่อไป