cloverpower

ทำความรู้จัก “โคลเวอร์ เพาเวอร์” ก่อนเปิดขายหุ้นครั้งแรก 25-27 สิงหาคมนี้ ตั้งราคา 3.90 บาท “ถูก” หรือ “แพง”

หุ้นใหม่ที่จะเข้าตลาดหุ้น ยังเป็นสีสันของตลาดหุ้นไทยมาตลอด และที่ผ่านมามูลค่าการระดมทุนจากการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรกให้กับประชาชนโดยทั่วไปเพื่อเข้าตลาดหุ้น (IPO) ช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันที่เขียนบทความ (24 สิงหาคม 2564) ไทยครองแชมป์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วยมูลค่าระดมทุน 74,451.34 ล้านบาท
และเร็วๆ นี้จะมี IPO น้องใหม่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย คือ บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ ชื่อย่อ “CV” เปิดเสนอขายหุ้นจำนวน 320 ล้านหุ้น ที่ราคา 3.90 บาท/หุ้น เปิดจอง 25 – 27 สิงหาคมนี้ เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) คำถามต่อมาคือ “โคลเวอร์ เพาเวอร์” เป็นใคร? และราคาขาย IPO ที่ 3.90 บาท ถูกหรือแพง?
เริ่มจากคำถามแรก “โคลเวอร์ เพาเวอร์” เป็นใคร? “โคลเวอร์ เพาเวอร์” เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจด้านวิศวกรรม และธุรกิจอื่นด้านพลังงานครบวงจร
ในส่วนของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิต 26.2 เมกะวัตต์ และธุรกิจด้านวิศวกรรม เน้นงานให้บริการงานก่อสร้างโรงไฟฟ้ากลุ่มพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล ขยะ และชีวภาพ และงานก่อสร้างอาคาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานหมุนเวียน ให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาให้แก่ลูกค้า
“โคลเวอร์ เพาเวอร์” จัดตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านกลุ่มวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยมีคุณเศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ หากพูดชื่อนี้ หลายคนจะคุ้นเคยกับบทบาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SBANG (ศแบง) ผู้ให้บริการออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบครบวงจร
ด้วยประสบการณ์ในการทำงานโรงไฟฟ้านานกว่า 15 ปี เพราะฉะนั้นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะทางคงไม่ต้องพูดให้มากความ
#Performance 3 ปีย้อนหลังแข็งแกร่ง!
มาดูด้าน Performance กันบ้าง รายได้รวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 697.80 ล้านบาท ลดลง 44% จาก 6 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ 1,255.17 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแกะดูจากงบการเงินแล้วจะเห็นว่ารายได้ที่ลดลงนั้น มาจากรายได้จากการขายเครื่องจักรและให้บริการวิศวกรรมก่อสร้าง ลดลงไปถึง 59% ส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้าและรายได้จากการให้บริการ ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น นั่นเป็นผลให้กำไรสุทธิงวด 6 เดือนอยู่ที่ 44.78 ล้านบาท (-48%)
แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตของรายได้รวมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มีรายได้รวม 401.32 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 644.45 ล้านบาท และปี 2563 เพิ่มขึ้นมาที่ 2,520.59 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตค่อนข้างสูงเลยทีเดียว (โต 60% และโต 291%)
ราคานี้ ถูก หรือ แพง?
ที่นี้มาดูถึงการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ราคา 3.90 บาท กันบ้าง โดยราคาดังกล่าวคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) 32.5 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิใน 4 ไตรมาสย้อนหลังของบริษัทซึ่งเท่ากับ 156.85 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.63-30 มิ.ย.64) หารจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้คือ 1,280 ล้านหุ้น จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาท
และเพื่อตอบคำถามที่ 2 ว่า ราคา 3.90 บาท นั้น ถูกหรือแพง? เราจะใช้ค่า P/E มาเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เพราะค่า P/E นั้นเป็นอัตราส่วนที่นำเอาราคาหุ้นหารกับกำไรสุทธิต่อหุ้น ซึ่งค่า P/E ใช้ประมาณระยะเวลาคืนทุนให้กับผู้ลงทุนได้ (ยิ่ง P/E ต่ำ ยิ่งเท่ากับว่าจะคุ้มทุนได้เร็ว)
เทียบ #ETC
เมื่อเทียบกับอัตราส่วนในช่วงระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2564 กับบมจ.เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ (ETC) ซึ่งมีรายได้ปี 2563 จำนวน 673.10 ล้านบาท ได้ราคาหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14 บาท และ P/E ที่ 32.79 เท่า (ใกล้เคียงกับ โคลเวอร์ เพาเวอร์ ทั้งในแง่ของราคาหุ้น และค่า P/E)
เทียบ #GUNKUL
และเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่รายได้ระดับ 8,996.95 ล้านในปี 2563 อย่าง บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) กันบ้าง จะเห็นว่าราคาหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.36 บาท และ P/E ที่ 10.79 เท่า (P/E ของ GUNKUL ต่ำกว่า “โคลเวอร์ เพาเวอร์” ขณะที่รายได้สูงกว่ามาก)
เทียบ #TPIPP
สุดท้ายเมื่อเทียบกับ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) มีรายได้ปี 2563 ที่ระดับ 11,401.14 ล้านบาท ได้ราคาหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 4.41 บาท และ P/E ที่ 8.08 เท่า (ในแง่ของ P/E จะเห็นว่า TPIPP มีค่า P/E ค่อนข้างต่ำกว่า “โคลเวอร์ เพาเวอร์” และรายได้สูงกว่าหลายเท่าตัว)
หากเทียบกับ 3 บริษัทนี้แล้วจะเห็นว่าค่า P/E ของ “โคลเวอร์ เพาเวอร์” ค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่า หากนักลงทุนซื้อหุ้น “โคลเวอร์ เพาเวอร์” ที่ราคาเสนอขาย IPO ที่ 3.90 บาท จะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนนานกว่าทั้ง 4 บริษัทที่กล่าวไป (อาจจะแพงไปสักหน่อยเมื่อนำมาเทียบกับผู้เล่นรายอื่น)
แต่ค่า P/E ของ “โคลเวอร์ เพาเวอร์” เป็น P/E ที่คำนวณอยู่บนกำไรสุทธิในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนการเติบโตในอนาคต ซึ่งหากการระดมทุนครั้งนี้เสนอขายได้ครบถ้วนบริษัทจะมีเม็ดเงินมาต่อยอดการลงทุนในอนาคต สูงถึง 1,248 ล้านบาท
โดยบริษัทวางแผนเอาไว้ว่าจะใช้สำหรับพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตติดตั้ง 39.8 เมกะวัตต์ จำนวน 450 ล้านบาท ,ใช้พัฒนาโครงการ และ/หรือเข้าลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
รวมถึงลงทุนในกิจการด้านงานวิศวกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 180 ล้านบาท , ใช้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก กำลังการผลิตติดตั้ง 7.36 เมกะวัตต์ 110 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นแผนการลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจนในแง่ของโครงการที่จะเข้าลงทุน และเม็ดเงินที่จะใช้ลงทุน ซึ่งการลงทุนด้านโรงไฟฟ้านั้น ให้ผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว
นอกจากนี้ บริษัทยังจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และเงินกู้ยืมกรรมการ 330 ล้านบาท ที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท 125 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทมีสภาพคล่องสูงขึ้น นำไปสู่การขยายธุรกิจเพิ่มรายได้ในท้ายที่สุด
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ข้อมูล : SET,ก.ล.ต.
ภาพจาก : cloverpower.co.th
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #CV #IPO #โคลเวอร์เพาเวอร์