ในปัจจุบันที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคือประชากรมีความต้องการในแง่ของการรักษาพยาบาลที่ค่อนข้างเฉพาะจุดมากขึ้น จากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก คือปัญหาด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท ที่มักรักษาให้หายขาดได้ยาก และต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน ทำให้ผู้คนเริ่มมองหาสถานพยาบาลที่มีการรักษาแบบเฉพาะทางมากขึ้น และด้วยความเชี่ยวชาญของ ‘โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการข้อนี้ได้ ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากคนไข้จนเกิดการบอกปากต่อปากในวงกว้าง
นายแพทย์ดิตถพงษ์ บุญอำพล ศัลยแพทย์และผู้บริหาร โรงพยาบาล เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ โดย บริษัท เอ็น.พี. เมดิคอล จำกัด กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจยังคงยืนหยัดท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนได้อย่างแข็งแกร่ง โดยระบุว่า ภาพรวมการดำเนินงานในปี 2566 ยังคงอิงไปกับเศรษฐกิจภายในประเทศ คือ พบว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงบอบช้ำจากสถานการณ์ COVID-19 อยู่ ส่งผลให้ประชากรมีรายได้ลดลง กระทบต่อกำลังการใช้จ่ายให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคเฉพาะทาง ที่ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับการรักษา อีกทั้งอายุเฉลี่ยของคนในประเทศก็ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มคนไข้ส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลแห่งนี้ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป ทำให้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยกว่าธุรกิจอื่น ๆ อีกทั้งมีการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ ทำให้ในปีที่ผ่านมา ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ มีการเติบโตในส่วนของรายได้อยู่ที่ราว 27% ทั้งนี้ แม้จะมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการเกิด COVID-19 ถือเป็นการเติบโตที่ลดลงจากสถานการณ์ปกติที่มีการเติบโตในส่วนของรายได้อยู่ที่ระดับ 100% ขึ้นไป โดยหากคํานวณอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ในระยะ 5 ปีย้อนหลังของบริษัทฯ จะอยู่ที่ประมาณ 70% ต่อปีโดยเฉลี่ย
โดยจุดแข็งของ ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาทแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยแล้ว หลักการรักษาของโรงพยาบาลที่มุ่งการรักษาคนไข้อย่างตรงจุด ทำให้บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยบางรายที่ผ่านการรักษามาจากที่อื่นแต่ยังไม่หาย เมี่อมาทำการรักษาที่ ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ จากที่เดินไม่ได้ ก็สามารถกลับมาเดินได้ โดยใช้ระยะเวลาการรักษาเพียงแค่ 1 คืน ก็สามารถกลับบ้านได้ อีกทั้งขนาดของแผลที่มีขนาดไม่ถึง 5 มิลลิเมตร และไม่ต้องให้เลือดในการรักษา ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดการบอกปากต่อปากในกลุ่มคนไข้มากขึ้น จนกลายเป็นการประชาสัมพันธ์แบบออร์แกนิกไปโดยปริยาย
ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้ ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ ประสบความสำเร็จ คือ บุคลากรที่มีคุณภาพ โดยนายแพทย์ดิตถพงษ์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “แพทย์ที่ทำงานให้กับโรงพยาบาลแห่งนี้ หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงเปรียบได้กับแพทย์ที่ขับรถฟอร์มูลาวัน คือแม้ว่าแพทย์ในสังคมจะมีหลากหลาย ทั้งรถซีดานทั่วไป หรือรถซูเปอร์คาร์ แต่แพทย์ที่ทำงานที่นี่ต้องสามารถขับฟอร์มูลาวันได้ คือนอกจากจะอยู่ในจุดสูงสุดในวิชาชีพแพทย์ที่เรียนแล้ว ยังต้องมีการปรับจูนความคิดกันใหม่ก่อนที่จะลงสนามรักษาคนไข้ได้ ไม่ว่าจะมาจากโรงพยาบาลแห่งใดก็ตาม เพราะหัตถการบางอย่างเป็นหัตถการที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ในระดับที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็อาจจะทำไม่ได้ ทำให้ต้องฝึกทั้งสกิลและกรอบความคิดใหม่”
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตในส่วนของคนไข้ในปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ 100% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยจากนี้จะมีการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่มีการขยายขอบเขตการรักษามากขึ้น ได้แก่ ข้อเข่า ข้อสะโพก และขยายขอบเขตไปยังการฟื้นฟูความพิการ ที่อาจเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งหากมีการขยายขอบเขตการรักษานี้ จะทำให้คนไข้ที่มารักษากับ ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ มีความพึงพอใจจากการรักษาที่ครอบคลุม นอกจากปัญหาเรื่องกระดูกสันหลัง ดังนั้นการขยายขอบเขตการรักษาจึงหมายถึงจำนวนคนไข้ที่จะมีมากขึ้นไปด้วย
“เราพบว่าปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีการฟื้นฟูความพิการ จึงมองว่าเป็นโอกาสของคนในประเทศที่จะได้รับการรักษา ซึ่งแม้ผลตอบแทนในแง่ของผลกำไรอาจไม่มาก แต่ส่งผลดีต่อสังคม ต่อวิชาชีพที่ทำอยู่ เรารู้สึกว่าเราได้นำเสนอสิ่งดี ๆ ให้กับคนในสังคม ซึ่งถือเป็นรางวัลที่มากกว่าเงินทอง”
นอกจากนี้ ‘เอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ’ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ รอบตัว
“เรามี ESG อยู่ใน DNA ขององค์กร คือการปลูกฝังไปยังบุคลากรทุกคนที่ทำงานอยู่ภายในองค์กรให้มีแนวความคิดเดียวกันในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคต ESG เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก แต่ต้องเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ รอบตัวก่อน โดยที่นี่เริ่มจากการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี คือการปรับภูมิทัศน์ให้ดูดี, การมีไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง ที่ไม่เพียงแค่ในส่วนของพื้นที่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริเวณใกล้เคียง ให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงรู้สึกปลอดภัย ซึ่งมีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้เพื่อประหยัดไฟฟ้า รวมถึงการเอื้อเฟื้อที่จอดรถที่ไม่ได้สงวนไว้เพียงแค่ผู้ที่มาใช้บริการของโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงก็สามารถมาจอดได้หากมีที่ว่าง อีกทั้งยังมีการกำจัดขยะติดเชื้อ หรือวัตถุที่เป็นสารพิษ ไปจนถึงน้ำเสียอย่างถูกวิธี ซึ่งเชื่อว่าจากจุดเล็ก ๆ นี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป” นายแพทย์ดิตถพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย