ติดอาวุธธุรกิจก้าวสู่ศักราชใหม่ ด้วย 6 แนวทางที่ต้องให้ความสำคัญ!!

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 ถูกมองว่าจะทยอยฟื้นตัวหลังจากผ่อนคลายมาตรการคุมเชื้อไวรัส COVID-19 แต่หากมองในมุมกว้างยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถกลับมาแบบเต็มที่ อีกทั้งราคาน้ำมันที่ถูกประเมินว่าจะยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวกดดันการใช้จ่ายของประชาชน ดังนั้น หากภาคธุรกิจต้องการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาศักยภาพ ร่วมกับศึกษาเทรนด์ธุรกิจที่สำคัญไปจนถึงสิ่งที่กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของประเทศให้ดีเสียก่อน

เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายด้าน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การดำเนินธุรกิจไปในแนวทางเดียวกับแผนการพัฒนาประเทศชาติ นั่นเป็นเพราะว่า หากธุรกิจของเราได้รับการสนับสนุนและได้แรงผลักดันจากแผนพัฒนาประเทศ จะทำให้เกิดการเติบโตสูง และเกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน

ท้ายปี 2564 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับร่าง) ได้ระบุถึงประเด็นการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญ พบว่าแผนดังกล่าวครอบคลุมมิติการพัฒนา 6 ทุนหลักที่สำคัญ คือ ทุนทางการเงิน ทุนทางกายภาพ ทุนทางธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ และทุนทางสถาบัน

ซึ่งมิติที่ 1 คือ การส่งเสริมพัฒนาทุนทางการเงินของประเทศ โดยจะปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม ซึ่งจะเร่งต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอยู่เดิม ผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากต่างชาติ และการต่อยอดการลงทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นของไทย ด้วยการเน้นคุณค่าและความยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลง เช่น การเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการฟื้นฟูและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ รวมถึงเพิ่มสัดส่วนภาคบริการนอกภาคการท่องเที่ยวที่เป็นภาคบริการสมัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาควรพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาอัปเกรดต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในเชิงแข่งขันให้มากขึ้น เช่น การเกษตรจะต้องนำเทคโนโลยีการผลิตมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและคัดคุณภาพ ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็จะต้องนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้เพิ่มความสะดวกสบาย ลดการสัมผัส และเพื่อโปรโมตจุดเด่นให้ตรงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ซึ่งนั่นจะเป็นตัวส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาประเทศ

มิติที่ 2 ส่งเสริมการพัฒนาทุนทางกายภาพของประเทศ ด้วยการกระจายศูนย์กลางการพัฒนาและต่อยอดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพไปสู่โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและเทคโนโลยีมากขึ้น โดยอาศัยการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการกระจายการพัฒนาเมือง เพราะไทยมีการกระจุกตัวของการพัฒนาเชิงพื้นที่สูงมาก อีกทั้งหน่วยงานระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาดศักยภาพในการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เมืองหลักในหลายพื้นที่ของไทยยังคงเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสีย ความแออัดขาดแคลนที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้

รวมถึงต้องการขยายความร่วมมือให้เกิดการรวมตัวของภาคเอกชนที่มีศักยภาพในพื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการและช่วยสนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ดังนั้น เพื่อให้เมืองในภาคต่าง ๆ ของประเทศมีศักยภาพสูงขึ้นและสามารถเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนใหม่ พร้อมทั้งการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องอาศัยการลงทุนทั้งในการพัฒนาเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อยกระดับความเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

เราได้เห็นแล้วว่าเจตนารมณ์ของการพัฒนาทุนทางกายภาพของประเทศจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญ รวมไปถึงการจัดการขยะมูลฝอย น้ำเสีย เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการให้เข้าลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการขยะ จัดการมลพิษ ไปจนถึงธุรกิจด้านคมนาคม นอกจากนี้ต้องอย่าลืมว่าการดำเนินธุรกิจจะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของสังคมเป็นหลัก เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค นำไปสู่ความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐบาลก็เป็นอีกหนึ่งการสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันได้เช่นกัน

มิติที่ 3 ส่งเสริมการพัฒนาทุนทางธรรมชาติของประเทศ โดยมีแผนที่จะเปลี่ยนผ่านจากการเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำมาซึ่งมูลค่าและรายได้แต่ละเลยปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่ความยั่งยืน หลังจากมองว่าไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าหลายประเทศ และประชากรจำนวนมากดำรงชีพด้วยการพึ่งพิงภาคการเกษตร จึงต้องเผชิญความท้าทายในการรับมือกับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งแบบแผนการผลิตของผู้ประกอบการและพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนจนถึงปัจจุบันยังขาดการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาประเทศในอนาคตจะไม่สามารถแยกสิ่งแวดล้อมออกจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้อีกต่อไป

ดังนั้นไทยจึงต้องตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดการใช้วัตถุดิบและของเสียจากกระบวนการผลิต

นอกจากนี้ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มสัดส่วนของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตพลังงานและการคมนาคมขนส่ง และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงาน และเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น

พลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่ไทยพยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยกรอบแผนพลังงานชาติสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608-2613 สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) รวมไปถึงส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียว ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียวด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทำให้ธุรกิจพลังงานทดแทนกลายเป็น S-Curve ของหลาย ๆ องค์กร ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานได้ขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน แต่สัดส่วนพลังงานสะอาดในไทยยังไม่สูงนัก ดังนั้น หากองค์กรไหนที่เข้าสู่ตลาดพลังงานสะอาดได้ก่อนก็จะยังได้รับการอุดหนุน และมาตรการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐบาล ถือว่าเป็นการสร้างขีดความสามารถของธุรกิจในอีกทางหนึ่ง

มิติที่ 4 ส่งเสริมการพัฒนาทุนทางสังคมของประเทศ โดยมุ่งเน้นสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการสร้างโอกาสทางการศึกษา สาธารณสุข และโอกาสในการเข้าถึงบริการทางโครงสร้างพื้นฐาน/บริการสาธารณะอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไข และป้องกันความยากจนเรื้อรัง และการให้คุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสมแก่คนในประเทศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตน เพื่อให้เกิดความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศ

แต่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลที่มีการใช้เทคโนโลยีในทุกมิติของชีวิต อาจนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระหว่างผู้มีศักยภาพและผู้ขาดโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงความรู้แหล่งเงินทุน หรือสวัสดิการทางสังคม อันจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชากรต่อไปได้

นอกจากนี้สังคมไทยได้เปลี่ยนจากโครงสร้างครอบครัวใหญ่ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือการใช้ชีวิตคนเดียวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีครอบครัวข้ามรุ่นจำนวนมาก (ครอบครัวที่มีเด็กและปู่ย่าตายายอาศัยอยู่ด้วยกัน) ซึ่งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุในครอบครัวข้ามรุ่นมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจและเตรียมแนวทางรองรับผลที่อาจเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้สังคมไทยมีความเปราะบางมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ไทยยังมีจุดอ่อนด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม ทำให้ภาครัฐต้องผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ และต้องการให้คนไทยเข้าถึงการศึกษามากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่อยากลงทุนด้านการศึกษาในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงศูนย์ให้ความรู้ในการประกอบวิชาชีพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศซึ่งจะมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

มิติที่ 5 ส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยมีแผนพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ควบคู่กับการสร้างความตระหนักในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีจริยธรรม มีวิจารณญาณและเท่าทัน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการยกระดับคนไทยให้มีความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนสอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเงื่อนไขสำคัญของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสาขาการผลิตหลักและสาขาการผลิตใหม่ ๆ ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และจะยังคงเป็นประเด็นการพัฒนาที่ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อให้กำลังคนของไทยมีความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานและกระแสการพัฒนาที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเท่าทัน

โดยภาคธุรกิจในประเทศไทยมีการปรับตัวขององค์กรและแผนการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงาน จากความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะของแรงงานกับทักษะที่ต้องใช้ในการทำงาน โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระดับสูง อาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานทักษะ ในขณะที่แรงงานระดับล่างซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพัฒนาและสร้างทักษะที่เหมาะสมอย่างเพียงพอจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และจักรกลมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ภายในปี 2577 เมื่อมีสัดส่วนของประชากรสูงวัยสูงถึง 28.1% ของประชากรทั้งหมดทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานตามมา

จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า ประเทศไทยยังขาดแรงงานฝีมือที่มีทักษะเฉพาะทาง โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระดับสูง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานทักษะในอนาคต ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเองและบุคลากรในบริษัทให้สามารถก้าวทันเทคโนโลยีที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญเช่นกัน

มิติที่ 6 ส่งเสริมการพัฒนาทุนทางสถาบันของประเทศ โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้มีความทันสมัย เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สามารถให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐานแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม มีความยืดหยุ่น และการปฏิบัติงานมีความเชื่อมโยงจากส่วนกลางลงสู่ภูมิภาคและสู่ระดับท้องถิ่นได้อย่างมีบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่คนในสังคมส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชน จากการเติบโตแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์ นำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกร้องให้รัฐพัฒนาการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการขาดความเชื่อมั่นในรัฐอาจส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคมขึ้นได้

ภาครัฐจึงต้องเร่งปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการสาธารณะให้มีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบระบบการกำกับดูแลและนโยบายที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนในการที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่พึงได้รับจากการเปลี่ยนแปลงได้สูงสุดและเป็นไปอย่างทั่วถึง รวมถึงรู้เท่าทันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีแนวโน้มแปรผันตามปริมาณการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของประชากร

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแก่ประชาชนในวงกว้าง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทักษะของบุคลากรภาครัฐ เพื่อยกระดับการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศให้สูงขึ้น

จะเห็นได้ว่าการผลักดันเทคโนโลยีของภาครัฐ เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการออกแบบโครงสร้าง และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะปัจจุบันโลกอยู่ในยุคดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นจะนำมาซึ่งอาชญากรรมทางไซเบอร์มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นความต้องการด้าน Cyber Security จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และบริษัทที่เตรียมความพร้อมและมีประสบการณ์กับความน่าเชื่อถือสูงก็มีโอกาสที่จะได้รับงานจากภาครัฐ ซึ่งสัญญาระหว่างเอกชนกับภาครัฐส่วนใหญ่เป็นสัญญาจ้างระยะยาว ทำให้มีรายได้ที่สม่ำเสมอและมั่นคง

ทั้ง 6 แนวทางที่กล่าวมาเป็นดั่งข้อมูลที่ทำให้รู้ทิศทางของการดำเนินธุรกิจสำหรับประเทศไทยในอนาคต ถ้าหากธุรกิจของเราสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศก็เหมือนกับมีภูมิคุ้มกันที่ดี และยังเพิ่มโอกาสในการเติบโตได้สูงอีกด้วย แต่หากเราไม่ศึกษาและวิเคราะห์แผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ก็อาจนำมาซึ่งความเสียเปรียบคู่แข่งในท้ายที่สุด