60 วัน 60 เรื่อง!! เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กับเส้นทางสู่ Content Creator

ช่วงเวลาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอย่างหนักอย่างธุรกิจโรงภาพยนต์ ได้มีการตอบสนองต่อวิกฤตนี้อย่างมาก ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินงานอย่างหนักในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน วันนี้ Thebusinessplus จะพามาพูดคุยกับคุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ถึงมุมมองการดำเนินงานของบริษัทในวันนี้ว่าเป็นอย่างไร โอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตครั้งนี้ได้มอบอะไรให้กับพวกเขาบ้าง

เราเพิ่มกลับมาเปิดดำเนินงานได้ในช่วง 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานี่เองคับ ลูกค้าเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ตอนนี้ทางรัฐบาลขอความร่วมมือให้คนเข้าชมภาพยนต์ได้ไม่เกิน 50% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และจาก 50% นี้เรามียอดการซื้อตั๋วเข้าชมอยู่ที่มากกว่า 70% จากยอดที่เราได้รับอนุญาตให้ขายตั๋วได้ ถืงว่าขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เรามีหนังเข้าฉาย 7 วัน 7 วันเรื่องต่อสัปดาห์ นั้นทำให้ทั้งเดือนเรามีฉายมากถึง 30 เรื่อง และจะเป็นแบบนี้ไปอีก 2 เดือนคือพฤศจิกายนและธันวาคม

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับทางต่างประเทศอย่างอังกฤษและสหรัฐสองประเทศนี้มีความใกล้เคียงของผู้เข้าชมในโรงเกือบเท่ากับปี 2019 แล้ว สำหรับตัวเลขผู้เข้าชมในตอนนี้ ในส่วนของไทยเราต้องรอมาตรการผ่อนปรนที่มากขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ทั้งในแง่ผู้เข้าชมและการับประทานเครื่องดื่มและขนมที่สามารถบริโภคในโรงภาพยนต์ได้ ตอนนี้เรามีคอนเทนต์ที่อั้นรอเข้าฉายมากกว่า 100 เรื่อง

2 เดือนสุดท้าย 60 วัน 60 เรื่อง

ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีปกติจะมีวันหยุดค่อนข้างเยอะซึ่งตรงนี้ถือเป็นผลดีกับทางธุรกิจโรงภาพยนต์ เพราะคนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันเยอะขึ้น รวมไปถึงเวลาเคอร์ฟิวที่ขยายเพิ่มขึ้นทำให้เรามีรอบฉายมากขึ้นตอนนี้เรามีรอบฉายโดยเฉลี่ยวันละ 3 ถึง 4 รอบ ซึ่งถ้าในเดือนพฤศจิกายนนี้มีการผ่อนปรนมากขึ้นรอบฉายเราก็น่าจะขยับขึ้นไป 5-6 รอบฉายต่อวันต่อโรงภาพยนต์ได้

3 เดือนที่เหลือจากนี้ในแง่ผลการดำเนินงานเรามองเป็นบวกมาก ๆ เพราะหนังทุกเรื่องที่เข้าฉายเราเห็นตัวเลขชัดเจนอย่าง ชาง-ชี (Shang-Chi) เนี่ยตอนนี้ประมาณ 50 ล้านบาทแล้ว (ณ วันที่สัมภาษณ์) ขณะที่ Fast and Furious 9 จบวันแรกรายได้เกิน 10 ล้านได้ไม่ยากเย็นและเรามั่นใจว่าจะจบที่ 100 ล้านได้ไม่ยากสำหรับหนังเรื่องนี้ (คาดการณ์ ณ วันที่สัมภาษณ์) และทุกสัปดาห์จากนี้จะมีหนังที่คาดว่าจะทำ 100 ล้านบาทเข้าฉายทุกอาทิตย์ และเนื่องจากเป็นหนังคุณภาพทำให้เรามั่นใจว่าคนจะออกมาซื้อตั๋วชมภาพยนต์

ปี 2565 มุ่งขยายสาขาต่างจังหวัด

เมเจอร์ มองปี 2565 ค่อนข้างเป็นบวก โดยเราเตรียมมุ่งขยายสาขาในต่างจังหวัดทั้ง บิ๊กซี และโลตัส เป็นหลัก ขณะที่ต่างประเทศอย่างกัมพูชาก็จะมีการขยายสาขาเพิ่มด้วย เพราะเราค่อนข้างมั่นใจในตัวเลขที่กลับมาแล้ว ด้านปริมาณภาพยนต์ตอนนี้ เมเจอร์ ได้รับการยืนยันว่าจะสามารถได้รับลิขสิทธิ์ฉายภาพยนต์จากฮอลลีวูดกว่า 150 เรื่องที่จะฉายในปีหน้าและจะมีหนังไทยที่ทาง เมเจอร์ สร้างเองประมาณ 15 – 20 เรื่องในปีหน้า ค่ายอื่น ๆ ของไทยอีก 30 เรื่อง รวม ๆ แล้วปีหน้าจะมีหนังเข้าฉายมากกว่า 200 เรื่องเลยทีเดียว ในแง่คอนเทนต์เราค่อนข้างมั่นใจ

First Window โรงหนังก่อนค่อยสตรีมมิ่ง

อย่างภาพยนต์เรื่อง Black Widow ที่สหรัฐได้มีการทดลองฉายในโรงภาพยนต์พร้อมสตรีมมิ่งในวันเดียวกันปรากฏว่ารายได้ของโรงภาพยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และล่าสุดทางบริษัท เดอะวอลต์ดิสนีย์ ได้มีการทดลองโมเดลเรื่อง ชาง-ชี (Shang-Chi) โดยฉายโรงภพยนต์ก่อน โดยให้ทางสตรีมมิ่งดูเรื่องนี้หลังโรงภาพยนต์ 45 วันที่สหรัฐ นั้นทำให้รายได้ของเรื่อง ชาง-ชี (Shang-Chi) ดีมาก นั้นทำให้ทาง ดิสนีย์ ได้ออกประกาศว่าภาพยนต์ทุกเรื่องของบริษัทต้องฉายในโรงภาพยนต์แบบ Exclusive ก่อนอย่างน้อย 45-90 วัน นั้นทำให้รายได้จาก First Window แข็งแรงมากขึ้น เพราะหากอยาดูหนังสดใหม่ต้องมาที่โรงภาพยนต์เท่านั้น

บทบาทใหม่ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

คุณนรุตม์ เผยว่าบทบาทใหม่ที่บริษัทจะเดินจากนี้คือการเป็น Content Creator โดยเราจะสร้างหนังไทย 15-20 เรื่องต่อปี และทุก ๆ ปีจะต้องมีปริมาณหนังเพิ่มขึ้น ทุกเรื่องจะเป็นหนังฟอร์มใหญ่หมดเลยลงทุนมหาศาลและเราจะขายสิทธิ์หนังทั้งหมดไปที่สตรีมมิ่งทุกแพลตฟอร์ม เรามีรายได้จากการขายสิทธิ์ให้ เน็ตฟลิกซ์ ค่อนข้างสูงและเราก็ขายสิทธิ์ไปฉายที่โรงภาพยนต์ที่ต่างประเทศด้วย อย่างตอนนี้เรามีสาขาที่ลาวกับกัมพูชาซึ่งทั้งสองประเทศบริโภคหนังไทยค่อนข้างมากและรายได้ค่อนข้างดี

ส่วนประเทศไหนเราไม่มีโรงภาพยนต์ในอาเซียน เราขายสิทธิ์หมดเลยให้ไปฉายที่โรงภาพยนต์ที่นั้นด้วย ตอนนี้ในขาของ M Picture เราสร้างรายได้จากการขายสิทธิ์ให้ต่างประเทศและสตรีมมิ่งค่อนข้างรายได้ดีมาก พอเราได้เงินตรงนี้มามากเราก็เอาเงินตรงนี้ไปลงทุนสร้างหนังไทยต่อไป นั้นหมายความว่าจำนวนหนังที่ทาง เมเจอร์ สร้างเองก็อาจจะเพิ่มขึ้นจาก 20 เรื่องไปสู่ 25 เรื่องหรือมากกว่านั้นต่อไปได้ เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ของเราคือการเป็น Content Creator ที่สร้างภาพยนต์ไทยไปตลาดโลกด้วย

พฤติกรรมผู้บริโภคในวันที่โลกเปลี่ยน

สิ่งที่เปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภคเลยคือการใช้ออนไลน์มากขึ้นนั้นทำให้บริษัทได้ประโยชน์หลายอย่าง หนึ่งเราสร้างธุรกิจที่เรียกว่า ป๊อบคอนนอกโรงภาพยนต์ ซึ่งเดือนกันยายน 2021 ที่ผ่านมาเราทำรายได้ไปกว่า 50 ล้านบาทเฉพาะในส่วนนี้ โดยขายผ่าน 3 ขา 1.เดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม (ไลน์, แกร็บ เป็นต้น) 2.ไฮเปอร์มาร์เก็ต (กูร์เมต์มาร์เก็ตของพารากอน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และกำลังจะเข้าที่เซเว่นอีเลฟเว่นในเร็ว ๆ นี้) 3.อี คอมเมิร์ซ (Shopee, Lazada และออนไลน์แพลตฟอร์มอื่น ๆ) ขณะที่ขาใหม่อย่างขาที่ 4 ซึ่งเราใช้โมเดลคีออสเป็นบูสไซต์ประมาณ 3 * 5 เมตร โมเดลนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จเพราะลูกค้าจะซื้อป๊อบคอนกลับไปทานที่บ้าน อัตราการเติบโตอยู่ที่ 20% เดือนต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะถึง 100 ล้านบาทในเร็ว ๆ นี้

เรื่องที่ 2 คือ Cashless และ Contactless ลูกค้ามีความกังวลใจมากขึ้นที่จะต้องสัมผัสพนักงาน นั้นทำให้เราปรับโมเดลโรงภาพยนต์เป็น Cashless 100% เมื่อลูกค้ามาโรงภาพยนต์จะต้องไปซื้อตั๋วด้วยตัวเองที่ตู้อัตโนมัติของเราหรืออาจจะผ่านเว็บและแอพพลิเคชั่น โดยพนักงานมีหน้าที่แนะนำวิธีการใช้ตู้ซื้อเท่านั้น ตอนนี้ต่อสาขาจะอยู่ที่ 1-2 คน บางสาขาอาจจะไม่มีคนเลย โดยกระบวนการทั้งหมดคือลูกค้าไม่ต้องสัมผัสหรือใกล้ชิดกับพนักงานเลย เพราะฉะนั้นเราเป็น Cashless Cinema 100% ในกรุงเทพฯ มีแล้ว 50 สาขา และต่างจังหวัดในหัวเมืองใหญ่ โดยคาดหวังว่าในสิ้นปีหน้าทุกสาขาของบริษัทจะเป็น Cashless 100%

Subscriber อีกเส้นทางสำคัญ

ทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้เปิดตัวโปรแกรมที่ชื่อว่า MPass มันจะคล้าย ๆ กับ เน็ตฟลิกซ์ แต่เป็นรูปแบบโรงภาพยนต์ ความหมายคือลูกค้าจ่าย 200 บาท สามารถดูหนังไม่อั้นที่โรงภาพยนต์ได้ 30 วัน ดู 30 เรื่องได้ เรามีมาก่อนโรคคระบาดตอนนี้มีลูกค้าประมาณ 150,000 คนที่อยู่ใน MPass ถ้าคุณเป็นนักเรียนนักศึกษาจ่ายเดือนละ 200 บาท ผู้ใหญ่จ่ายเดือนละ 300 บาท หนังนี้ดูได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเก่าจะใหม่

มองตลาดยุคใหม่ในแบบ เมเจอร์

บริษัทเน้นทำ Digital Live Style มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Cashless Cinema บัตร MGEN สำหรับคนที่มีรอยัลตี้สะสมแต้มแลกตั๋วหนังได้ เรามีโปรแกรมที่เรียก Private Screening สำหรับคนที่อยากจะมาเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อย่างตอนนี้ถ้าจะเหมาโรงที่พารากอนแบบ VIP ราคาเริ่มที่ 8,000 บาท เลือกหนังเลือกเวลาเองได้ดูแค่เฉพาะครอบครัวตัวเอง นอกจากนี้ยังมี Kids Cinema ซึ่งน่าจะเปิดให้บริการในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าในปีหน้าจะเป็น ต่างจังหวัด 60% และกทม. 40% โดยต่างจังหวัดจะใช้ Cinema Low Cost Model หรือ 2 จอต่อหนึ่งสาขา ราคาตั๋วที่ขายในต่างจังหวัดเริ่มต้นที่ประมาณ 60 บาทเท่านั้น

ไทยมีประชากร 70 ล้านคน แต่ตั๋วที่เราขายไม่ถึง 70 ล้านใบต่อปี นั้นหมายความว่าประชากรดูหนังไม่ถึง 1 คน 1 ใบ ต่อปี สำหรับประเทศไทย ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ 4 ใบต่อคนต่อปี เพราะฉะนั้นโอกาสในการโตของโรงภาพยนต์ยังมีอีกมาก เนื่องจากหัวเมืองขนาดใหญ่ในต่างจังหวัดจำนวนมากยังไม่มีโรงภาพยนต์เปิดทำการอยู่ เพราะฉะนั้นเรายังสามารถขยายสาขาได้อีกเยอะ รวมไปถึงหัวเมืองรอง การมาของออนไลน์ทำให้เทรนด์หนังกระจายไปทั่วประเทศผ่าน สมาร์ทโฟน ทำให้คนทั่วประเทศพร้อมที่จะเข้าโรงหนังชมภาพยนต์ใหม่ ๆ จากต่างประเทศพร้อม ๆ กันทันที

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ข้อมูล : เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์