Labor

ตลาดแรงงานปี 2024 แย่งตัวคนเก่งดุเดือด! คีย์เวิร์ด ‘ทำงาน 4 วัน’ ถูกใช้ในการรับสมัครเพิ่ม 400%

การให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กลับมาเป็นกระแสพูดถึงอีกครั้ง ภายหลังจากที่บริษัทในอังกฤษซึ่งเป็นประเทศนำร่องได้เข้าร่วมการทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันมาเกือบ 2 ปี และยังคงมีหลายบริษัทที่ปรับใช้นโยบายนี้อย่างถาวร จากประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง (โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่กลางปี 2565 ซึ่งในขณะนั้นมีบริษัทเข้าร่วมกว่า 70 แห่ง จำนวนพนักงาน 3,300 คน) จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าพนักงานของบริษัทที่เข้าร่วมลาออกน้อยลง มีความสุขมากขึ้น และยังทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมหลายบริษัทวัดผลได้ชัดเจนด้วยการมีผลประกอบการของบริษัทดีขึ้น

นอกจากการปรับเปลี่ยนเรื่องเวลาทำงานจะทำให้พนักงานในบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แนวคิดนี้ยังช่วยแก้ไขปัญหาในตลาดแรงงานได้ อย่างเช่น เยอรมนี ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง นั่นทำให้หลายๆ บริษัทต้องเร่งหาแรงงานมาแทนจำนวนแรงงานที่ขาดไป แต่ค่าจ้างของคนในเยอรมนีอาจไม่เพียงพอต่อรายจ่ายหลังจากประเทศกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้พนักงานออกมาประท้วงขอขึ้นค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งร้องขอความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น เช่น การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ หรือ work from anywhere

จึงทำให้บริษัทต่างๆ ในเยอรมนีทั้งหมด 45 แห่ง ได้เข้าร่วมทดลองในโครงการ ‘ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์’ เพื่อคาดหวังว่าการทำงานรูปแบบนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง (จูงใจให้คนอยากทำงานมากขึ้น) ซึ่งจะมีการทดลองระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2567 ถึงเดือนส.ค.2567 โดยทุกบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองจะต้องให้พนักงานหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน (ทำงาน 4 วัน) และยังคงได้รับค่าจ้างเท่าเดิม

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เทรนด์ของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กลายเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก โดย ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ในปี 2024 คีย์เวิร์ด ‘ทำงาน 4 วัน’ ถูกใช้เพื่อค้นหางานเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี สหรัฐฯ ประเทศในยุโรป (ซึ่งเป็นประเทศที่เริ่มมีการทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไปแล้ว) นอกจากนี้การประกาศรับสมัครงานในแพลตฟอร์มต่างๆ มีข้อเสนอการทำงานแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ หรือแม้กระทั่งข้อเสนอในการทำงานครึ่งวัน (เฉพาะในวันศุกร์) เพิ่มขึ้น 400% (ข้อมูล : The Flexible Working Report)

มองกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็น Aged Society หรือสังคมผู้สูงวัย โดยในปี 2566 อัตราการเกิดของคนไทยน้อยกว่าอัตราการตาย โดยข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติมีการคาดการณ์ว่า ไม่ถึง 30 ปี สัดส่วนแรงงานของไทย ที่มีอายุในช่วง 15-59 ปี ต่อประชากรทั้งหมด จะลดลงจาก 62% ในปี 2566 เหลือเพียงราว 50% ในปี 2593 ซึ่งผลสำรวจที่ออกมาใหม่เมื่อต้นปี 2567 นี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับตลาดแรงงานเป็นอย่างมากในอนาคต

โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง GenZ ที่จะมีพฤติกรรมและความชอบที่แตกต่างกับคนรุ่นอื่นๆ โดยคน GenZ จะชอบการทำงานที่มีเวลายืดหยุ่น อาจจะไม่กำหนดการเข้า-ออกให้ตรงเวลา แต่ชอบที่จะถูกวัดประสิทธิภาพด้วยผลงาน และยังชอบการทำงานแบบ Work From Home และ Work From Anywhere เพราะเป็นช่วงที่เริ่มต้นทำงาน (First jobber) มาพร้อมกับการเกิด COVID-19 ซึ่งในช่วงนั้นจะมีรูปแบบการทำงานแบบ Remote Work ซึ่งเป็นการทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้กลายมาเป็นสัดส่วนแรงงานที่สูงที่สุดในประเทศเมื่อไหร่ก็จะทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับตัว และเพิ่มข้อเสนอด้านการทำงานที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงอย่างที่เยอรมนีเป็น

สุดท้ายนี้เรามาดูตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศที่มีนโยบายการเข้างานแบบยืดหยุ่นที่น่าสนใจกันบ้าง

Lamborghini : ลัมโบร์กินี แบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์หรูสัญชาติอิตาเลียนกับการทำงานแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ (สำหรับพนักงานในฝ่ายการผลิต) ภายหลังจากทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานยุโรปไปเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2566 เพราะเชื่อว่าพนักงานจะทำงานได้มากขึ้นในเวลาการทำงานที่น้อยลง โดย ลัมโบร์กินี ถือว่าแบรนด์ยานยนต์เจ้าแรกๆ ที่ได้ประกาศใช้นโยบายนี้ เพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายของบริษัทหลังโควิด-19 และเพื่อลดต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

Microsoft : ใช้นโยบาย Discretionary Time Off ให้พนักงานลางานได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดวัน และไม่ต้องรออนุมัติ ซึ่งเริ่มประกาศใช้วันที่ 16 ม.ค.2567 ขณะที่ก่อนหน้านี้บริษัท ไมโครซอฟท์ สาขาประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมการทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วัน และมีผลออกมาว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้นถึงเกือบ 40%

Panasonic : แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งบริษัทในญี่ปุ่นที่ให้พนักงานทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งจุดประสงค์เพื่อลบภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่ทุ่มเทโหมทำงานหนักเพื่อองค์กร นอกจากนี้ยังสนับสนุนการทำงานแบบยืดหยุ่นอย่างเต็มที่อย่างเช่น การทำงานทางไกล

Netflix : นโยบายลาพักร้อนแบบไม่จำกัดวันมาตั้งแต่ปี 2547 โดย Netflix เป็นบริษัทแรกๆ ที่มีโนบายลาไม่จำกัดออกมา

นอกจาก 4 บริษัทนี้แล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่เคยเปิดการทดลองทำงาน 4 วัน และมองว่าการทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น Unilever , Toshiba หรือแม้กระทั่ง Samsung

ที่มา : The Flexible Working Report , สำนักงานสถิติแห่งชาติ , กรุงเทพธุรกิจ
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business #ทำงาน4วันต่อสัปดาห์