3 ข้อต้องระวังก่อนจะขึ้นดอกเบี้ย! เมื่อคนไทยหนี้สูง รายได้ไม่พอรายจ่าย

หลังจากที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า สิ้นปีนี้อัตราดอกเบี้ยเฟดจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% เลยทีเดียว

ดังนั้นในส่วนของไทยที่เจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงเช่นเดียวกัน และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็เป็นแรงกดดัน จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม โดยคาดว่าจะถูกพิจารณาในช่วงเดือน ส.ค. และพ.ย.ซึ่งจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง สิ้นปีจะขึ้นไปอยู่ที 1.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.25%

ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยไทยเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก จากตัวเลขล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทยแตะ 90.2% ของ GDP

โดยปกติแล้วหนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 80% ของ GDP ขึ้นไปจะเริ่มเห็นเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างรุนแรง

น่ากลัวไปกว่านั้นคือ เมื่อนำรายได้ต่อหัวของประชาชนในประเทศ และระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มาเปรียบเทียบกัน เราจะพบว่า ‘ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่มีระดับหนี้เกือบจะสูงที่สุดในโลก’ ซึ่งแตกต่างจากประเทศที่มีหนี้สูงเหมือนกันอย่างญี่ปุ่น แต่ความต่างคือ ญี่ปุ่นมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูง และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นจึงทำให้ประชาชน

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำในด้านความมั่งคั่งของไทย ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นทำให้เกิดโอกาสค่อนข้างสูงในการก่อหนี้สำหรับครัวเรือนรายได้น้อยในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะจากข้อมูลที่ระบุว่า คนรายได้ต่ำที่สุดของประเทศราว 20% จะมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

สำหรับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นกับบ้านเรานั้นเป็น เงินเฟ้อในกลุ่มอาหาร และพลังงาน ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะบริโภค 2 สินค้านี้มากกว่าครัวเรือนรายได้สูง นั่นจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง

ดังนั้น ผลกระทบที่ส่งต่อมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จึงส่งผลกระทบกับบ้านเรา โดย 3 ปัจจัยหลักที่ต้องระวัง หลังขึ้นอัตราดอกเบี้ย คือ

1. การขึ้นดอกเบี้ยจะนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่าภาระหนี้ที่สูงขึ้น : ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบโครงสร้างหนี้ครัวเรือนของไทยกับต่างประเทศ จะพบว่า หนี้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนของหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 34% แต่ประเทศพัฒนาแล้วจะมีหนี้สินด้านนี้ค่อนข้างสูง อย่างสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงถึง 87% และสัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยที่ต่ำของเรานี่เอง ที่จะบ่งบอกได้ว่า เราจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่มากกว่า

อธิบายให้ฟังอย่างง่ายว่า โดยปกติแล้วดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยจะเป็นดอกเบี้ยคงที่ หรือ Fixed Rate ทำให้ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสูงขึ้น แต่ดอกเบี้ยซื้อบ้านของประชาชนยังคงที่ ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ประเภทนี้สูงจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า

และไทยเป็นประเทศที่มีหนี้จากการบริโภคระยะสั้น เพราะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งหนี้ระยะสั้นจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั่นเอง

2. การบริโภคจะหดตัวลง : อธิบายได้จากความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคกับหนี้ครัวเรือนมีความสัมพันธุ์กันค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาไทยอาศัยวัฏจักรหนี้ในการบริโภค เช่น ก่อหนี้เพื่อซื้อรถ ซื้อของ

ซึ่งการเติบโตของการบริโภคที่ถูกกระตุ้นจากการก่อหนี้นั้น ภายหลังจากการขึ้นดอกเบี้ย จะไปกระทบให้การสร้างหนี้ของประชาชนน้อยลง เช่น เริ่มมีการจ่ายหนี้คืนเพราะกลัวดอกเบี้ยสูงขึ้น หรือแม้แต่ธนาคารก็อาจไม่ปล่อยกู้เพิ่ม หรือปล่อยกู้ยากขึ้น เพราะกลัวจะถูกผิดรับชำระหนี้ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคที่จะหดตัวลง (เพราะก่อนหน้านี้เราบริโภคจากการก่อหนี้) และเป็นผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

3. หนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มสูงขึ้น : โดยที่ผ่านมาไทยมีการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษกิจ ซึ่งทำให้ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงเกินรายได้ กระทบไปสู่ภาวะทางการเงินที่ตึงตัว และความมั่งคั่ง นำมาสู่การผิดนัดชำระหนี้ และกระทบต่อภาคการเงินการธนาคารในท้ายที่สุด

จะเห็นได้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถึงแม้จะมีความจำเป็นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีผลกระทบที่ตามมาค่อนข้างเยอะ แต่ไทยก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แตกต่างกันมากจนเกินไป เพราะถ้าห่างมากเกินไปจะมีความเสี่ยงที่เม็ดเงินจะไหลออกประเทศ จนทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าหนักขึ้นกว่าเดิม (ปัจจุบันค่าเงินไทยอ่อนค่ามาอยู่ที่ราว ๆ 35 บาท/ดอลลาร์)

โดยที่ผ่านมามี Case Study จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งคงดอกเบี้ยเอาไว้ จนทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าค่อนข้างมาก และกระทบต่อภาคการนำเข้าอย่างหนัก

ดังนั้น ไทยจึงต้อง Balance ระหว่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ก็ต้องป้องกันไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยแรงเกินไปจนทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤต

สิ่งที่จะแก้ไขได้จึงต้องอาศัยนโยบายทางการคลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นมานานในประเทศไทย นั่นคือ จัดการกับปัญหารายได้เพิ่มขึ้นช้า ไม่ทันรายจ่าย เพื่อยกระดับการเติบโตของการบริโภค และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงต้องปฏิรูปนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : บล.เกียตินาคินภัทร

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เงินเฟ้อ #ขึ้นดอกเบี้ย #เฟด #ธปท #กนง #อัตราดอกเบี้ยนโยบาย