3 ยักษ์ใหญ่ บุกธุรกิจเครื่องมือแพทย์!! เปิดทางรอด 5 เจ้าตลาดฯ ก่อนถูกโค่น

ถึงแม้โควิด-19 จะเข้ามากดดันผลประกอบการแทบทุกอุตสาหกรรม แต่กับกลุ่มเครื่องมือแพทย์แล้ว หลายคนอาจจะบอกว่า “ได้รับอานิสงส์ชัดๆ” จริงอยู่ที่มูลค่าการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ในไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่สำหรับวิกฤติครั้งนี้ เป็นได้ทั้งโอกาสที่จะสั่งสมความมั่งคั่ง แต่บางรายก็ยังเจ็บตัวเหมือนกับธุรกิจอื่นเช่นกัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างรายได้หลักของบริษัทฯ ล้วนๆ (ไม่ใช่มีแต่ผลดีนะ)
.
ครั้งนี้เราเลยจะพามาเปิดข้อมูล 5 บริษัทฯ ในตลาดหุ้นไทย ที่มีรายได้หลักจากการขายอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อใช้ตอบคำถามว่า “ช่วงโควิด-19 ยอดขายปังจริงหรือเปล่า โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่ใกล้จะประกาศออกมาจะสวยสดงดงามใช่ไหม?” และทางรอดของธุรกิจคืออะไร ‘เรา’ จะมาสรุปให้ในตอนท้าย
.
#เทคโนเมดิคัล
เริ่มกันที่ บมจ.เทคโนเมดิคัล (TM) เป็นผู้นำเข้าสินค้า 2 กลุ่มหลักๆ คือ 1. กลุ่มอุปกรณ์สิ้นเปลืองที่ใช้แล้วทิ้ง (95% ของรายได้รวม) เช่น อุปกรณ์เก็บ-ดูดสารคัดหลั่ง เสื้อคลุมผ่าตัด ถุงมือยาง สายดูดเสมหะ อุปกรณ์หนีบเส้นเลือด 2. กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ (5% ของรายได้รวม) เช่น เครื่องมือผ่าตัด เครื่องกระตุ้นหัวใจ เครื่องควบคุมอาหารอัตโนมัติ
.
จะเห็นว่า ‘เทคโนเมดิคัล’ จะมียอดขายสินค้ากลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จำนวนมาก จุดแข็งของสินค้าประเภทนี้คือการ “ใช้แล้วทิ้ง” ทำให้สามารถขายได้เรื่อย ๆ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เล่นหน้าใหม่ หลายรายเข้าสู่ตลาด (ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด) เพราะไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก จึงเกิดการแข่งขันราคาที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันเพื่อประมูลงานจากโรงพยาบาลรัฐ กดกำไรขั้นต้นสินค้าประเภทนี้ลดลง นอกจากนี้ยังโดนซ้ำเติมจากค่าใช้จ่ายการขนส่งสินค้าทางเรือ และอากาศ (จากที่รู้กันอยู่ว่าราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง)
.
ทั้งหมดนี้เป็นเป็นเหตุผลที่ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ผ่านมากำไรสุทธิ ‘เทคโนเมดิคัล’ เหลืออยู่ราว 4 แสนบาท จากปีก่อน 12.57 ล้านบาท (-96%)
.
และเมื่อพูดถึงผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายเริ่มเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะการผลิตสินค้าการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้งมากขึ้น จะยิ่งเป็นตัวกดดันกำไรขั้นต้น เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ได้เปรียบตรงที่มีเงินทุนสูงกว่า ผลิตได้มากกว่า เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จึงสามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าได้
.
ดังนั้น หาก ‘เทคโนเมดิคัล’ ไม่บริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายให้ดี ประกอบกับออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เลียนแบบได้ยาก (เช่นสินค้าที่อาศัยความเชี่ยญชาญของบริษัทฯ ที่เหนือกว่าคู่แข่ง) เพื่อให้กำไรขั้นต้นสูงขึ้นอาจจะต้องเจอกับผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม (ซึ่งตอนนี้บริษัทฯ กำลังขอ อย.เพื่อขายชุดตรวจโควิด-19 ให้กับคนทั่วไป น่าจะได้ใบอนุญาติ และมีวางขายในร้านขายยาเร็วๆ นี้)
.
#เซนต์เมด กำไรโตแรง
มาดูในส่วนของ บมจ.เซนต์เมด (SMD) กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 ค่อนข้างอลังการเหนือความคาดหมาย ปาเข้าไปกว่า 8.02 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิในปีก่อน 2.2 ล้านบาท สาเหตุของการฟื้นตัวหลักๆ มาจาก ยอดขายสินค้าที่เกี่ยวกับการรักษาและป้องกันโรคโควิด-19 เช่น สินค้าช่วยหายใจ เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตรและความดัน เครื่องฟอกและฆ่าเชื้อโรคในอากาศ และเวชศาสตร์การนอนหลับเพิ่มสูงถึง 66.55 ล้านบาท
.
และยังมียอดขายสินค้าทั่วไปที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผาก ที่รายได้พุ่งไปถึง 32 ล้านบาท ตรงข้ามกับสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับการป้องกันโรค จะมียอดขายลดลง เพราะรัฐบาลจะทุ่มงบไปสำหรับการป้องกันโรคระบาดรุนแรกเป็นลำดับแรก
.
จุดแข็งที่ทำให้ ‘เซนต์เมด’ ฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด เป็นเพราะโครงสร้างรายได้หลักมาจากอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้สำหรับการรักษาโควิด-19 โดยตรง เช่น เวชบำบัดวิกฤต มีสัดส่วนรายได้ 49.69% และกลุ่มเกี่ยวกับการช่วยหายใจอีก 26.54% ซึ่งเป็นสินค้าที่ลอกเลียนแบบได้ยาก มีผู้เล่นในตลาดน้อยราย (ตลาดผู้ขายน้อยราย) เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้น จึงไม่เจอผลกระทบการแข่งขันด้านราคาเหมือนสินค้าใช้แล้วทิ้ง
.
และในปี 2564 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 ตัวเลขการติดเชื้อทำนิวไฮทุกวัน ดังนั้น มีโอกาสที่เราจะได้เห็นกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของ ‘เซนต์เมด’ พุ่งทะยานอีกครั้ง
.
#บิสซิเนสอะไลเม้นท์ เน้นเครื่องฉายรังสี
มาต่อกันที่ บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ (BIZ) เป็นอีกรายที่กำไรสุทธิไตรมาส 1 โตกระฉูด สูงถึง 81.76 ล้านบาท เติบโต 435% (เกิน 4 เท่าตัว) จากปีก่อนยังอยู่เพียงแค่ 15.28 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีรายได้จากการให้บริการบำรุงรักษาเครื่องฉายรังสี
.
จุดแข็งคือการเซ็นสัญญากับหน่วยงานรัฐเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ ‘บิสซิเนสอะไลเม้นท์’ จะไม่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 โดยตรง แต่กลับได้รับผลกระทบเกิดอย่างจำกัด เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ผู้นำเข้าน้อย
.
ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่เจอผลกระทบการแข่งขันด้านราคา (ตลาดผู้ขายน้อยราย) และยังมีการทำสัญญาส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์กับหลายโครงการของรัฐ และมีอัตรากำไรขั้นต้นแข็งแกร่งจากการบริหารจัดการต้นทุนของสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ เติบโตแข็งแกร่ง
.
#วินเนอร์ยี่ เมดิคอล กำไรโต
ส่วน บมจ.วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED) เป็นอีกรายที่ถูกพูดถึงว่าจะได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 แต่เมื่อ ‘เรา’ ดูจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ พบว่า “ยังไม่มีสินค้าเกี่ยวโยงกับการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยตรง” และที่ผ่านมาไตรมาส 1 ของปี 2564 ยังได้รับผลกระทบหลังจากโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ
.
ถึงแม้กำไรสุทธิขยับขึ้นมาที่ 10.56 ล้านบาท (+10.63%) แต่รายได้หลักในไตรมาสแรกปี 2564 ลดลง 9.45% จากไตรมาส 1 ของปี 2563 อยู่ที่ 131.38 ล้านบาท (กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนรวมที่ปรับตัวลดลง)
.
สาเหตุที่รายได้ลดลงมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเลือดลดลง 14.67% และรายได้กลุ่มความปลอดภัยของเลือด ลดลง 21.36% เพราะในช่วงโควิด-19 รพ.ทั่วประเทศเลื่อนการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วนออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลากรทางการแพทย์และคนไข้ติดเชื้อ
.
ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพสตรีเพิ่มขึ้น 9.03% จากการขายให้ลูกค้ารพ.รัฐ และโรงเรียนแพทย์ และรายได้จากโครงการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น 1,187% รวมไปถึงรายได้จากการขายเครื่องดักจับยุง และแมลงดูดเลือดที่เพิ่มขึ้น 8.94%
.
แต่สัดส่วนรายได้หลักยังมาจากธุรกิจเกี่ยวกับเลือด ทั้งผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยเลือด และผลิตภัณฑ์ธนาคารเลือด รวมกันแล้วสูงถึง 60.21% ของรายได้รวม ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านลบจากโควิด-19 มากกว่าได้รับผลดี
.
แม้บริษัทฯ จะออกมาเปิดเผยแผนการผลิตอุปกรณ์ป้องกัน-ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้เห็นออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไปในอนาคต แต่ที่ผ่านมานั้น “บริษัทฯ ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับปัจจัยบวกจากโควิด-19”
.
#อีฟอร์แอลเอม มาเหนือความคาดหมาย
ปิดท้ายที่ บมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) หลายคนอาจจะรู้จักใต้แบรนด์ “วุฒิศักดิ์คลินิก” แต่บริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้จากคลินิกเสริมความงานเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีรายได้จากการขายเครื่องมือแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับอานิสงส์ไปแบบเต็มๆ เพราะสินค้าเกี่ยวข้องกับการรักษาโควิด-19 โดยตรง
.
สินค้าของบริษัทฯ มีตั้งแต่ เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมอนิเตอร์สัญญาณชีพผู้ป่วย (Patient Monitor) เครื่อง Oxygen High Flow และเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดแบบ Portable และช่วงที่ผ่านมาออเดอร์พุ่งกระฉูดทันที
.
หนุนไตรมาส 1 ปี 2564 พลิกเป็นกำไร 35.81 ล้านบาท จากเดิมขาดทุนสูงถึง 391.71 ล้านบาท ด้วยรายได้จากการขายและบริการเครื่องมือแพทย์สูงถึง 416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อน ส่วนธุรกิจความงามไม่ต้องพูดถึง เพราะรายได้ต้องลดลงอยู่แล้ว (ธุรกิจความงามต้องหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา)
.
ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา อี ฟอร์ แอล เอม จะมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2563 แต่ในปี 2564 นี้เชื่อว่าจะเป็นปีที่บริษัทฯ เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2-3 ที่ตัวเลขการระบาดสูงขึ้น และนำไปสู่การล้างขาดทุนสะสมได้เร็ว ๆ นี้ (ตอนนี้ขาดทุนสะสม 2,303 ล้านบาท)
.
#รายใหญ่เริ่มเข้าตลาด
การระบาดที่ผ่านมา 3 ระลอกใหญ่ ๆ เป็นช่วงที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่ (เงินทุนเหลือ) หลายรายที่ต้องการกระจายความเสี่ยง เริ่มแตกไลน์เข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์มากขึ้น
.
อย่างเมื่อต้นปี บมจ.ปตท. (PTT) เจ้าพ่อน้ำมันเมืองไทย และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บริษัทในเครือ หรือแม้กระทั่ง บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ในเครือ ‘ปูนซิเมนต์ไทย’ ซึ่งทั้ง 3 ถือเป็นบริษัทฯ ขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าบริษัทฯ สูง ได้เข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนจีน ซึ่งจะมีสินค้าตั้งแต่การผลิตทั้งแผ่นกรองอากาศ ถุงมือแพทย์ ชุดกาวน์ ไปจนถึง หลอดเก็บของเหลว และตู้แช่แข็งเก็บวัคซีน
.
#ทางรอดของรายเล็ก
แน่นอนว่าการเข้าสู่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของรายใหญ่ จะยิ่งเป็นตัวกดดันผู้ผลิตรายเล็กจากข้อได้เปรียบตรงที่มีเงินทุนสูงกว่า ผลิตได้จำนวนมากกว่า จึงเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ทำให้รายใหญ่สามารถตั้งราคาขายต่ำกว่าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้ และชิงส่วนแบ่งการตลาดไป (ไม่ว่าใครก็ต้องอยากซื้อของราคาถูกกว่าอยู่แล้ว) ซึ่งจะผลิตรายเล็กที่อยู่ในตลาดมาก่อนจึงต้องกดราคาขายตามเพื่อความอยู่รอด
สุดท้ายกำไรจะยิ่งตกต่ำลงไปอีก
.
ทางรอดเดียวคือต้องรีบสั่งสมความมั่งคั่ง เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรม และผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์สูง (ลอกเลียนแบบได้ยาก) ออกสู่ตลาดให้มากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบจากประสบการณ์และใบอนุญาตที่เคยมีเพื่อให้ผู้เล่นรายอื่นเข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น (ตลาดผู้ขายน้อยราย)
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#businessplus #เศรษฐกิจไทย #โควิด-19 #COVID-19 #ชุดตรวจโควิด #อุปกรณ์การแพทย์ #TM #EFORL #SCGP #IRPC #PTT #WINMED #BIZ #SMD