3 สิ่งที่นักลงทุนต้องรู้!! หลัง Facebook เปลี่ยนเป็น META

หลายคนคงผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับกรณีที่ Facebook จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Meta’ หรือ เมตา พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแนสแด็ก (NASDAQ) ด้วยชื่อใหม่ ‘MVRS’ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2021 และวันนี้เราจะมาเขียนให้อ่านว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างธุรกิจ และสัดส่วนรายได้ในอนาคตอีกด้วย

การที่หัวเรือใหญ่อย่าง ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ รีแบรนด์ Facebook และเลือกชื่อที่สะท้อนทิศทางที่จะโฟกัสออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา นั่นคือ การเป็น ‘Metaverse’ จากที่ผ่านมาชื่อ Facebook เป็นเพียงแค่ชื่อ Social media เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น

ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้สัดส่วนโครงสร้างทางธุรกิจของ Facebook ยังมีอีกหลายส่วนด้วยกัน ไม่ได้มีเพียงแค่ Facebook เท่านั้น (ยังมี Instagram , WhatsApp , Oculus และอื่น ๆ)

แถมชื่อ ‘META’ นี้ยังบอกเป้าหมายในอนาคตเอาไว้ว่า “โฟกัสหลักของบริษัทจากนี้จะไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดียอย่างเดียว แต่จะเป็นการมุ่งหน้าผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Metaverse”

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องรู้และเข้าใจ มี 3 สิ่งที่สำคัญ

.
1. ต้องรู้จัก Metaverse ที่จะมาเป็นธุรกิจขับเคลื่อนใหม่ โดย Metaverse เป็นการเรียกสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริง ที่ทำให้ผู้ใช้งานทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR)

อย่างที่เราเคยเห็นในหนัง ที่เข้าสู่โลกเสมือนด้วยเกม เช่นใน อนิเมะเรื่อง ‘Sword Art Online’ ซึ่งอนาคตจะสามารถพัฒนาเข้าไปยังหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น การใช้สำหรับแฟชั่น เพื่อจำลองภาพของผู้สวมใส่โดยไม่ต้องสวมใส่จริง

ถือเป็นการก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่มีโอกาสพัฒนาได้อีกมากมาย เพราะปัจจุบันพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 จนต้องทำให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม เมื่อผู้คนต้องทำงานหรือเรียนผ่านทางออนไลน์ ความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางออนไลน์ให้เสมือนชีวิตจริงก็เติบโตขึ้นตาม ถึงแม้ปัจจุบันจะมีให้เห็นเพียงแค่แว่นตาเสมือนจริง แต่ในอนาคต Metaverse เป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างมาก

2. รายงานที่เกี่ยวกับการเงินเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคาดการณ์เอาไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้หลังจากแผนการรีแบรนด์สำเร็จ ซึ่ง META วางแผนที่จะรายงานในส่วนการดำเนินงานสองส่วน นั่นคือ Family of Apps และ Reality Labs ที่จะเน้นพัฒนาเทคโนโลยีด้าน VR และ AR ซึ่งเป็นการนำวัตถุเสมือนมาใช้กับโลกแห่งความเป็นจริง

การแยกทำรายงานการเงินเป็น 2 ด้าน โดยแบ่งตามประเภทจะทำให้บริษัทมองเห็นข้อมูลได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการทั้งต้นทุน ค่าใช้จ่าย หรือกลยุทธ์เพื่อเพิ่มรายได้แต่ละธุรกิจจะง่ายขึ้น

3. รู้ว่าเปลี่ยนแปลงชื่อมีเจตจำจงอย่างไร? เจตจำนงที่เปลี่ยนแปลงชื่อมาเป็น META สะท้อนให้เห็นว่าต่อจากนี้นโยบายหลักของบริษัทจะเปลี่ยนไปจาก “Facebook-first” มาเป็น “Metaverse-first” นั่น บ่งบอกว่าต่อจากนี้บริษัทจะไม่ได้โฟกัสเพียงแค่ Facebook อีกต่อไป

ถึงแม้ตอนนี้รายได้จาก Facebook จะเป็นรายได้จากโฆษณาบน Facebook เป็นหลัก แต่อนาคตอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป เพราะ META จะมุ่งหน้าผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Metaverse ซึ่งอนาคตอาจจะกลายเป็นลูกผสมระหว่างโซเชียลมีเดีย และโลกเสมือน

นั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้โครงสร้างรายได้ของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้จะยังอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเหมือนเดิม แต่ก็พูดได้ว่าตัวธุรกิจไม่ได้เหมือนเดิมเสียทีเดียว

ปิดท้ายที่รายได้ของ Facebook ในปี 2020 อยู่ที่ 85,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.58 ล้านล้านบาท (+22% จากปี 2019) โดยมีรายได้จากค่าโฆษณาสูงเป็นอันดับที่ 1 ถึง 98% รายได้อื่น ๆ อีก 2% โดยที่ผ่านมา Facebook จะยังคงพึ่งพารายได้จากธุรกิจโฆษณาเป็นหลัก แต่รายได้อื่น ๆ ก็ดูมีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น

มาดูในส่วนกำไรสุทธิในปี 2020 ของ Facebook อยู่ที่ 29,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 875,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึงกว่า 58%

โดย Facebook เป็นบริษัทข้ามชาติอเมริกัน ผู้ให้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมที่ทำการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 และเริ่มซื้อขายบนตลาดหุ้นแนสแด็กอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2012

ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนชื่อบริษัทไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายก็ผ่านการเปลี่ยนชื่อมาทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น Apple Computer ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Apple หรือแม้แต่ Google ที่ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Alphabet และปรับโครงสร้างขึ้นเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘ยานแม่’ เพื่อขยายธุรกิจให้หลากหลายมากขึ้น

ขณะที่ในประเทศไทย ก็มีตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ อย่างกรณีของ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ ที่ผันตัวเองจากธนาคารเป็นโฮลดิ้ง กลายเป็น ‘SCBX’ แตกต่างกันเพียงแค่ SCB มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หลายอย่าง เพื่อขยายขีดจำกัดตัวเองจากแบงก์ กลายเป็นบริษัทด้าน IT ที่สามารถขยายธุรกิจได้หลากหลายมากกว่าเดิม

จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงชื่อนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชื่อเท่านั้น แต่สิ่งที่บริษัทจะโฟกัสหลังจากนี้ต่างหากที่จะทำให้โครงสร้างธุรกิจ สัดส่วนรายได้ เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าถือหุ้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงต่อจากนี้เสียมากกว่า

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : Company News , Meta, Oculus, Technology and Innovation

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #facebook #META