2022 ปีแห่งความอันตราย เศรษฐกิจโลก เจอวิกฤตคุกคามรอบทิศ คาดหนาวนี้ยาวนาน “Winter Is Coming”

สถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสยังไม่จบดี แต่ดูเหมือนตอนนี้เรากำลังจะได้โรคระบาดอย่าง ฝีดาษลิง เข้าแทนที่ซะแล้ว โดยจากรายงานข่าว ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 เผยว่าตอนนี้มีประเทศที่พบเชื้อไปแล้วประมาณ 11 ประเทศ ได้แก่โปรตุเกส 14 ราย สหราชอาณาจักร 9 ราย สเปน 7 ราย อิตาลี 1 ราย เบลเยี่ยม 1 ราย สหรัฐ 1 ราย สวีเดน 1 ราย แคนาดา 17 ราย รอการยืนยัน ฝรั่งเศส 1 ราย รอการยืนยัน ออสเตรเลีย 1 ราย รอการยืนยัน เยอรมนี 1 ราย รอการยืนยัน แต่ข่าวดีเกี่ยวกับโรคระบาดนี้ก็คือดูเหมือนจะมีวัคซีนที่สามารถช่วยได้รออยู่แล้วซึ่งนั้นก็คือ วัคซีนไข้ทรพิษ ที่สามารถป้องกันได้ราว 85% และแม้ตอนนี้โรคนี้ยังไม่ได้กระจายตัวรุนแรงไปทั่วโลก แต่ก็แน่นอนว่ามันได้สร้างความกังวลให้ผู้คนจำนวนมากอย่างเลี่ยงไม่ได้ และถ้าหากมันเกิดระบาดรุนแรงขึ้นมาก็มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้

ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2022 ที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่สู่ดีนัก นำโดยสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ติดลบ -1.40% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1% ไปไกล สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ต่ำมากของสหรัฐทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 พวกเขามีอัตราการเติบโตของจีดีพีที่ 6.9% เลยทีเดียว โดยสาเหตุสำคัญของการหดตัวรุนแรงก็มาจากการที่ระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกมีปัญหาทำให้การขนส่งทางเรือต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น พร้อมกับต้นทุนราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงในรอบหลายปี ซึ่งไปกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้น โดยตัวเลขที่รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำหรับเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนเมษายน 2022 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 8.30% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ 8.1% พร้อมทำสถิติใกล้เคียงตัวเลขเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 40 ปี แต่ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ที่ 1% เท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วธนาคารกลางจะต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าเงินเฟ้อเพื่อสกัดเงินเฟ้อพุ่ง แต่รอบนี้ดูเหมือนธนาคารกลางจะยังไม่มีท่าทีขยับมากนัก แต่ในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม 2022 ก็มีสัญญาณจากทางคุณ Esther George ประธานธนาคารกลางสาขา Kansas City เผยว่า “ไม่ว่าตลาดจะแย่แค่ไหนมันก็ไม่เปลี่ยนแผนการที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน” แต่ปัญหารอบนี้คือหลายฝ่ายไม่มองการขึ้นดอกเบี้ยที่ทีละ 0.5-1% อีกแล้ว แต่มองไปที่ขึ้นรวดเดียว 7% เลย เพราะตัวเลขเงินเฟ้อจริง ๆ ที่ทางเว็บไซต์ Shadowstats คำนวณออกมาพบว่าอยู่ที่มากกว่า 15% ขึ้นไป!!

ด้านประเทศจีนเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนหลาย ๆ ปีก่อนโคโรน่าไวรัส และภายใต้มาตรการคุมเข้มที่เรียกว่า Zero Covid-19 ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตพอสมควรและนั้นมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ทำให้อัตราการเติบโตในจีดีพีของประเทศไตรมาสแรกของปี 2022 อยู่ที่ 1.3% ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.5% แต่ก็สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนประกาศที่ 0.6% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในเกณฑ์สูงมากนักที่ 2.1% ในเดือนเมษายน 2022 ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนล่าสุดที่ประกาศออกมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2022 ปรับลดจาก 4.6% ไปสู่ 4.45% ซึ่งก็ถือเป็นการช่วยเศรษฐกิจไปอีกทางหนึ่ง และก็ถือว่าตอนนี้อัตราดอกเบี้ยยังยืนอยู่เหนืออัตราเงินเฟ้อก็ทำให้ไม่มีปัญหาอะไรดูน่ากังวลในตอนนี้สำหรับจีน ต้องบอกว่าดูแข็งแกร่งดีแม้คนภายนอกจากมองแย่ก็ตาม

ข้ามมาดูยุโปรกันหน่อยเจ้าหนี้น่าจะหนักกว่าใครเพื่อนใครเวลาหลังรับผู้กล้าเปิดหน้าสู้กับรัสเซียด้วยการไปแซงก์ชั่นหวังให้รัสเซียเสียสูญแต่กลายเป็นตัวเองสูญเสียซะแบบนั้น เริ่มจากประเทศเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกและใหญ่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรปกันก่อนโดยไตรมาสแรกของปี 2022 เติบโตต่ำมากที่ 0.2% เท่านั้น แต่ก็ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ที่ติดลบที่ -0.3% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนล่าสุดอย่างเมษายน 2022 พุ่งขึ้นสู่ 7.4% ปรัวตัวเพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในเดือนก่อนหน้า พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ 0% มาตั้งแต่ปี 2016 ข้ามมาที่เบอร์สองของอียูอย่างฝรั่งเศสที่ดูเหมือนจะได้ผู้นำคนเก่าอย่างนายเอ็มมานูเอล มาครง เป็นประธานาธิบดีต่อไปอีก 1 สมัย พร้อมผลงานการเติบโตของจีดีพีไตรมาสล่าสุดที่ 0% ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ของปี 2021 ที่ 0.8% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2022 ที่ 4.8% ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.5% พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ 0% และหากดูภาพรวมของทั้งสหภาพยุโรปในไตรมาสแรกของปี 2022 อัตราการเติบโตของจีดีพีจะอยู่ที่ 0.3% เท่านั้น ขณะที่เงินเฟ้อโดยภาพรวม 7.4% พร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ 0% และล่าสุดในวันที่ 26 เมษายน 2022 นายมาร์ตินส์ คาซัคส์ หนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และคาดการณ์ว่า ECB มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้

ตลาดทุนและตลาดเงินโลก

มาเริ่มกันที่ตลาดเงินของสหรัฐกันก่อนโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ณ พฤษภาคม 2022 ขึ้นไปยืนอยู่ที่ระดับ 103.015 ซึ่งนับว่าแข็งค่าที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปีเลยทีเดียว สะท้อนความต้องการเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐกับทุกสกุลเงินบนโลกส่วนใหญ่ก็ต้องบอกว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนับว่าแข็งค่ามากในตอนนี้ เพราะดูเหมือนการทยอยลดสภาพคล่องของดอลลาร์สหรัฐในระบบลงของธนาคารกลางสหรัฐกำลังจะทำให้ประเทศ บริษัท และสถาบันจำนวนมากเผชิญกับวิกฤตสภาพคล่องรึเปล่า? แม้ในมุมหนึ่งทางธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นเองก็เพิ่งจะเทขายพันธบัตรสหรัฐมูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญไปในช่วงวันที่ 2 พฤษภาคม 2022 เพราะผลตอบแทนที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้มูลค่าของพันธบัตรลดลง แต่ก็มีอยู่ค่าเงินหนึ่งที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐนั้นคือ รูเบิล ของรัสเซียซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 ไปอยู่ที่ราว 59 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว

และจากความต้องการดอลลาร์สหรัฐที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้เกิดการเทขายในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 ดัชนี S&P500 ทำจุดต่ำสุดใหม่ของปี 2022 และติดลบไปแล้วกว่า -20% หากนับจากต้นปี ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ก็ปรับลงจากจุดสูงสุดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021 ที่ 15,860.69 ไปสู่ 11,354.62 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวลงกว่า 28.41% โดยไฮไลท์อยู่ที่กองทุน ARK Investment ของคุณเคธี วูด ซึ่งเป็น CEO กองทุนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากการทำผลตอบแทนได้สูงระดับมากกว่า 100% โดยมีหุ้นสำคัญที่เป็นมัดเด็ดคือ เทสล่า ปรากฎว่าตอนนี้ติดลบไปกว่า 73% จากจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งการลงของหุ้นเทสล่าก็แทบจะเกิดขึ้นใกล้เคียงกับการปรับตัวลดลงของตลาดคริปโทเคอร์เรนซีเช่นกัน

โดยประเด็นสำคัญที่คนจับตาก็คือ Stablecoin ที่ชื่อว่า UST ซึ่งผูกอยู่กับคริปโทเคอร์เรนซีที่ชื่อว่า Luna ของแพลตฟอร์ม Terra ปรับตัวลดลงมาเหลือไม่ถึง 0.01 สตางค์ภายใน 2 วัน ทั้ง ๆ ที่สองเดือนก่อนหน้านี้ราคายังอยู่ราว 3,000 บาท (เดือนมีนาคม 2022) หรือมูลค่าหายไปกว่า 99.99% ใน 2 วัน และเนื่องจากแพลตฟอร์ม Terra มีกองทุนที่ใช้รักษาเสถียรภาพของราคาระหว่าง UST ซึ่งเป็น Stablecoin ให้ผูกอยู่กับ Luna แบบ 1 ต่อ 1 ที่ชื่อว่ากองทุน Luna Foundation Guard เจ้ากองทุนนี้มีการซื้อ บิตคอยน์ เข้ามาทำคล้าย ๆ สิ่งที่ IMF ทำก็คือ ระบบตะกร้าเงิน (Basket of Currencies) แต่อันนี้เป็นสไตล์คริปโทเคอร์เรนซี โดยมี บิตคอยน์และเหรียญอื่น ๆ อีกสามเหรียญหนุนหลัง UST เอาไว้ และแน่นอนเมื่อ บิตคอยน์ ถูกเทขายอย่างหนักซึ่งคาดการณ์ว่าก็มาจากเจ้ากอง Luna Foundation Guard นี้เพื่อต้องการเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากเจ้าเหรียญ UST ถูกเทขายอย่างหนัก เมื่อบิตคอยน์ ถูกเทขายสิ่งที่ตามมาคือใครหรือบริษัทอะไรที่ถือเจ้าบิตคอยน์เอาไว้ย่อมขาดทุนหรือมีปัญหาแน่นอนและคือเหตุผลว่าทำไม เทสล่า ถึงลงมาเยอะในช่วงหลัง ด้านดัชนี The Dow Jones Industrial Average Index ก็ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดเดิมที่ราว ๆ 36,338.30 ในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 ไปสู่ 31,261.90 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวลงกว่า 13.96%

ขยับมาดูตลาดทุนในฝากเอเชียกันบ้างนำโดยประเทศจีนโดยดัชนี Hang Seng Indexes ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 อยู่ที่ 20,717.24 ปรับตัวลงมาจาก 30,644.73 ณ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021 ราว 32.39% เลยทีเดียว ส่วนอีกดัชนีของจีนอย่าง SSE Composite Index ปรับตัวลงมาสู่ 3,146.57 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 จากจุดสูงสุดเดิมที่ในปี 2021 ที่ 3,703.11 ในวันที่ 10 กันยายน ด้านของประเทศญี่ปุ่นอย่างดัชนี Nikkei 225 Index ในวันที่ 17 กันยายน 2021 ขึ้นไปแตะที่ 30,500.05 ตอนนี้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 26,739.03 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวลงมาราว 12% นั่นเอง

ด้านราคาคริปโทเคอร์เรนซีอย่างบิตคอยน์ก็ปรับตัวลงอย่างหนักจากราคาสูงสุดที่ 67,566.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนในวันที่ 11 สิงหาคม 2021 ลงมาอยู่ที่ 29,371.21 ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวลงมามากกว่า 56.53% เลยทีเดียว เช่นเดียวกับเหรียญ Ether ของทางเครือข่ายบล็อกเชน Ethereum ก็ปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดที่ 4,812.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคนในวันที่ 11 สิงหาคม 2021 มาอยู่ที่ 1,972.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อโทเคน หรือปรับตัวลงมามากกว่า 59% เลยทีเดียว

ด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญที่เป็นต้นทุนของหลายสิ่งหลายอย่างอย่างน้ำมันดิบ WTI ปรากฎว่านับตั้งแต่ลงไปแตะจุดต่ำสุดที่ 37.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 20 เมษายน 2020 หลังจากนั้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมายืนอยู่ที่ 110.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคา ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวขึ้นมามากกว่า 200% ในเวลา 2 ปี เช่นเดียวกับน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2020 ราคาลดลงมาอยู่ที่ 22.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ขึ้นไปอยู่ที่ 112.91% ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2022 หรือปรับตัวขึ้นมามากกว่า 400% ใน 2 ปี

ต้องบอกว่าสถานการณ์ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเลือกถือเงินสดกันซะมากกว่าโดยดูได้จากตัวเลข Money Market Fund ที่สะท้อนอยู่บนตัวเลขของปริมาณ Reverse Repo อยู่ถึงขั้น All time high ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในตอนนี้ ซึ่งก็สอดคล้องไปกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงมาต่อเนื่องในช่วงหลัง ตรงนี้จะเข้าไปมีผลกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศของทุกชาติ (ยกเว้นสหรัฐ) เพราะเมื่อเงินทุนไหลออกมันจะต้องเปลี่ยนจากสกุลเงินท้องถิ่นนั้น ๆ ไปเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้จะกดดันให้ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดเงินทุนให้ไม่ไหลออก แต่จะไปมีผลกระทบต่อเงินกู้ของเอกชนและประชาชนทันทีที่จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งตอนนี้ภาระก็มากอยู่แล้วเพราะรายได้ส่วนใหญ่น้อยลง และคำถามคือถ้าดอลลาร์สหรัฐยังไม่พอจะทำอย่างไรก็ต้องไปกู้มาใช่รึเปล่า? แล้วต้นทุนที่แพงขึ้นจากดอกเบี้ยละใครจ่ายดี ภาษีของประเทศรึเปล่า? ถ้าสุดท้ายกู้มาไม่มีเงินใช้เขาก็ต้องขายทรัพย์สินของประเทศเหมือนที่ศรีลังกาทำในตอนนี้ (ขายสายการบินประจำชาติ เปรียบได้ดั่งความมั่นคงทางอากาศ) และอาจจะต้องควบคู่ไปกับการพิมพ์เงิน

นอกจากนี้ก็ยังมีสัญญาณอื่น ๆ อีกไม่ว่าจะเป็น ธนาคารด้านการลงทุนทั่วโลกนำโดย Goldman Sachs และ Citigroup ถอดตัวจากการลงทุน SPAC Business, บริษัท Upstart (UPST) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านแพลตฟอร์มการให้กู้เงิน (Lending platform) โดยใช้ระบบ AI และ Cloud โดย Upstart มีจุดประสงค์ เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนที่เกิดขึ้นจากธุรกิจธนาคาร มูลค่าหุ้นปรับตัวลงมากกว่า 50% ภายใน 1 วัน ขณะที่พันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของสหรัฐพุ่งทะลุ 3.1% สะท้อนความกังวลด้านเงินเฟ้อออกมาอย่างชัดเจน พร้อมกันนั้น CDS (Credit Default Swap) พุ่งทะลุ 100 หน่วยมากสุดในรอบ 2 ปี และหนี้การบริโภคก็พุ่งสูงเป็นสถิติในสหรัฐเกือบ 16 ล้านล้านเหรียญอีกต่างหาก

สรุป

เราจะเห็นว่าตัวเลขจีดีพีที่ออกมาทั่วโลกค่อนข้างต่ำมากแม้แต่จีนเองก็ยังไม่ได้โตอะไรมากมาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสหรัฐที่ติดลบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2022 เลยทีเดียว เมื่อจีดีพีซึ่งเป็นดั่งตัวสะท้อนรายได้ของประเทศไม่ดีนัก แต่พอข้ามไปดูหนี้สินของสหรัฐตอนนี้คือ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนี่นับเฉพาะที่สามารถรับรู้ได้จริง ๆ เท่านั้น ขณะที่มูลค่าจีดีพีของสหรัฐตอนนี้อยู่ที่ 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทำให้หนี้สินต่อจีดีพีในตอนนี้พุ่งทะลุไปที่ 129.05% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่รายได้จากภาษีของทุกภาคส่วนรวมกันสำหรับสหรัฐตอนนี้เก็บได้อยู่ที่ราว 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไปราว 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดอกเบี้ยยังคงอยู่ที่ 1% ในตอนนี้

คำถามสำคัญอยู่ตรงนี้คือ ถ้าดอกเบี้ยปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 7% จะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องไปถึง 7% ก็ได้เอาแค่ 3% หรือ 3 เท่าจากตอนนี้ก็นึกแทบไม่ออกแล้วว่าสหรัฐจะเจอกับอะไร การผิดนัดชำระหนี้ของลุงแซมดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งเลี่ยงไม่ได้แล้วใช่รึเปล่าเมื่อดูมาถึงตอนนี้ และเมื่อผิดนัดชำระหนี้สิ่งที่ตามมาคือการปรับลดเครดิตของประเทศและบริษัททั้งหมดในประเทศคราวนี้ต้นทุนทางการเงินของทั้งประเทศจะพุ่งพร้อมกันเลยทีเดียว การลดต้นทุนเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และต้นทุนสำคัญของบริษัทก็คือต้นทุนคนใช่รึเปล่า ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างอเมซอลเตรียมปลดพนักงานรวดเดียว 100,000 คนแล้ว ขณะที่ยักษ์ค้าปลีกอย่าง Walmart ก็บอกว่าของมีเต็มแต่ไม่มีคนซื้อเลย

เมื่อคนตกงานรายได้จะหายไป และมันจะย้อนกลับมาใส่ฝากบริษัทคือคนไม่มีกำลังซื้อเพราะไม่มีเงินและไม่มีเงินเพราะตกงาน แบบนี้ภาษีก็จะเก็บได้น้อยลงหรือพูดอีกมุมหนึ่งคือรายได้รัฐจะหายไป แต่ปัญหาคือรัฐต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย แถมประชาชนยังเจอค่าครองชีพสูงจากสภาวะเงินเฟ้อสินค้าราคาแพงอีก

Print currency out of thin air!! คือทางที่เลี่ยงไม่ได้แบบนี้

และนั้นจะนำไปสู่ Hyperinflation หรือ เงินเฟ้อขั้นรุนแรง รึเปล่า?

ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างมองกันว่าในช่วงประมาณเดือน 8-9 จะเป็นช่วงเวลาที่ รัสเซีย เริ่มปฏิบัติการทางทหารรอบที่ 2 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ โปแลนด์ไม่ก็สหราชอาณาจักร

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจโลก #เศรษฐกิจมหภาค #Economic #การลงทุน #การเงิน #ราคาน้ำมัน #เงินเฟ้อ #คริปโทเคอร์เรนซี #Investment #ดอลลาร์สหรัฐ