12 จุดแข็งและจุดอ่อนของจีนตลอด 100 ปี ความผิดพลาดมากมาย เบื้องหลังความยิ่งใหญ่

นาทีนี้คงจะไม่มีคำพูดของใครในโลกนี้ที่จะทรงพลังไปกว่าเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่าง สี จิ้นผิง ที่ประกาศกร้าวต่อหน้าประชาชนของตัวเองนับพันล้านคนทั่วประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ ว่า

“ประชาชนจีนจะไม่ยอมให้ใครมา รังแก กดขี่ ข่มเหง ใครที่คิดกล้าทำเช่นนั้น พวกเขาจะต้องหลั่งโลหิต เมื่อกระแทกกับกำแพงเมืองจีนที่หล่อหลอมขึ้นมาจากเหล็กกล้าโดยประชาชนจีนกว่า 1,400 ล้านคน”

นี่คือคำพูดของผู้นำประเทศซึ่งเป็นเบอร์สองของโลกในเวลานี้ที่ว่ากันว่าเสมือนประกาศต่อชาวโลกและชาวตะวันตกทั้งหลายให้ทราบถึงความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการจะก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งของโลกให้ได้จากนี้

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี นับจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนชนจีนในปี ค.ศ.1949 หลังจากนั้นก็ครองความยิ่งใหญ่มาจวบจนวันนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมาทำความเข้าใจและย้อนดูประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปัจจุบันมีสมาชิกพรรคมากถึง 91 ล้านคน ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีนอย่างรองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าตลอด 100 ปีที่ผ่านมาอะไรทำให้พญามังกรตัวนี้ยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้

ความจริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นถูกก่อนตั้งขึ้นในช่วงปี 1921 แต่กว่าจะได้ปกครองจีนก็ต้องรอจนถึง 1949 และแรกเริ่มเดิมทีพวกเขาก็เป็นเพียงพรรคเล็ก ๆ เท่านั้นซึ่งถือเป็นพรรคของชนชั้นแรงงานด้วยซ้ำไป ซึ่งเดินทางผ่านห่วงกลียุคของประเทศพร้อมทั้งต้องต่อสู้กับรัฐบาลของประเทศในขณะนั้นอย่างสาธารณรัฐจีน (ไต้หวันในตอนนี้) จนสุดท้ายก็ได้ชัยชนะมาปกครองประเทศ

ผู้นำของจีนนำตั้งแต่ปี 1949 จนถึงวันนี้มีด้วยกัน 5 รุ่น แต่เรื่องราวสำคัญ ๆ เกิดอยู่ในช่วงของท่านเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้นำคนแรก ซึ่งมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมากมายจากการบริหารประเทศของเขา นโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward : 1958 – 1960) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีที่มุ่งแก้ไขปัญหาเกษตรและอุตสาหกรรมแต่สุดท้ายปรากฏว่าล้มเหลว “เหมา เจ๋อตุง เดินผิดพลาดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอยากจะผลิตอะไรที่ตัวเองไม่มีความได้เปรียบ พร้อมปิดประเทศไปด้วย และยังมีการปฏิวัติวัฒนธรรมควบคู่ไปอีก ทำให้ในยุคเหมาเกือบ 30 ปี จีนยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาในระดับโลกได้”

ขณะที่ในยุคของผู้นำอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง เจ้าของคำพูดที่ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ จับหนูได้ก็พอ” คือยุคที่จีนเปลี่ยนถ่ายประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจระบบตลาด พร้อมเร่งให้เกิดการปฏิรูปและเปิดประเทศ ซึ่งสิ่งที่เขาทำยังคงตกทอดมาเป็นมรดกจนถึงทุกวันนี้ และอีกนโยบานที่สำคัญในยุคเขาก็คือ การบังคับใช้ “นโยบายลูกคนเดียว” เพื่อควบคุมการขยายตัวของประชากร (ตรงนี้แอดมินคาดว่าเป็นข้อตกลงกับทางชาติตะวันตก เพราะชาติตะวันตกนั้นมีนโยบายชัดเจนในเรื่องของการควบคุมประชากร ซึ่งขณะนั้นจีนยังไม่แข็งแกร่งพอจะมีอำนาจต่อรองกับต่างชาติ)

ขณะที่ในยุคปัจจุบันประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งขึ้นนั่งตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2012 และประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2013 มีเป้าหมายที่ชัดเจนในช่วงแรกคือ มุ่งฟื้นฟูชาติ และจีนต้องแข็งแกร่งขึ้น พร้อมขจัดความยากจนเป็นสำคัญ ซึ่งในยุคของเขาสามารถขจัดความยากจนได้มากถึง 100 ล้านคนเลยทีเดียว “เน้นความเป็นชาตินิยมที่สูงมาก พร้อมความเชื่อในเรื่องความยิ่งใหญ่ของความเป็นชาติจีน”

แม้ในยุคของผู้นำอย่างสี จิ้นผิง จะถูกมองว่าค่อนข้างอนุรักษ์นิยมมากจนนิตยสาร The Economist เรียกคนรุ่นปัจจุบันของจีนนี้ว่า “Gen Xi” เลยทีเดียว แต่เขาก็ว่ากันว่าจีนในยุคนี้ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมเฉย ๆ แต่เป็นอนุรักษ์นิยมแบบ “ไฮเทค” เพราะมีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านตัวเองตลอดเวลา

นั้นทำให้ทางรองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อน 12 ใน 100 บนเส้นทางอันยิ่งใหญ่ของจีนในวันนี้ว่าต้องผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้างกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกในวันนี้

12 จุดแข็งและจุดอ่อนของจีนตลอด 100 ปี

1.ไม่หมกมุ่นยึดติดกับอุดมการณ์คร่ำครึงมงาย มีการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามยุคสมัย คิดว่าจะทำยังไงให้ชาติบ้านเมืองเจริญและประชาชนอยู่ดีกินดี

2.มีการพัฒนาโมเดลเป็นของตัวเอง ไม่หลอกตำราฝรั่ง เรียนรู้แล้วปรับให้เหมาะสม กับการปกครองแบบบนบริบทของตัวเอง และตอบรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

3.ทำอะไรค่อยเป็นค่อยไป มีการทดลองก่อน แล้วค่อยขยายผลออกไป ตัวอย่างเช่น สกุลเงินดิจิทัลที่เริ่มจากเมืองเล็ก ๆ ก่อน แล้วถ้าผลตอบรับดีค่อยขยายผลไปสู่ในระดับที่ใหญ่ขึ้น

4.มีการปรับตัวเองตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

5.ไม่หนีปัญหา ยอมรับมัน แก้ไขมัน เรียนรู้มัน แม้แต่ความผิดพลาดของคนอื่น จีนก็เรียนรู้

6.ผู้นำจีนมีวิสัยทัศน์ คิดใหญ่ มองไกล ตัวอย่าง โครงการเส้นทางสายไหม (BRI)

7.ต้องสร้างความชอบธรรม ด้วยผลงานที่จับต้องได้

8.ปลูกฝังให้คนในชาติ รักชาติยิ่งชีพ ภูมิใจในชาติ ซึ่งตรงนี้ส่งพลังงานบวกให้ประเทศมีแรงขับเคลื่อนเพื่อฟื้นฟูชาติต่อสู้กับการรุกรานของฝรั่ง

9.ไม่ปฏิเสธความผิดพลาดในอดีต ทุกคนพลาดได้แล้วก็ยอมรับ

10.จุดประกายให้คนในชาติมีความฝันร่วมกัน อยากคิดอะไรคิด ถ้าน่าสนใจรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนในสิ่งเหล่านั้นให้เติบโต ตัวอย่าง Chinese Dream มี 2 เรื่องสำคัญคือ ความฝันแรกอยากให้คนจีนมีกินมีใช้ทั่วหน้า ฝันที่สองในปี 2049 สาธารณะรัฐประชาชนจีนจะครบ 100 ปี เป้าหมายขอเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลของโลก ไฮเทค มั่งคั่ง สวยงาม เชิดชูอารยธรรมจีน ในมุมกองทัพ ไม่ใช่แค่รบได้ แต่ต้องรบชนะเท่านั้น

11.เน้นการแข่งขัน เชื่อว่าในการแข่งขันจะนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพให้กับตลาด ตัวอย่าง การปล่อย Tesla เข้าสู่ตลาด EV ของจีน

12.มีความเด็ดขาด ปิดกั้นสื่อ กลั่นกรองสื่อ เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เพราะสื่อตะวันตกมักจะมีเป้าหมายเข้ามาปลุกปั่นคนในประเทศอื่น ๆ ให้มีปัญหากัน

ขณะที่จุดอ่อนของระบบจีน คือ ความเสี่ยงที่มาจากตัวผู้นำเองเพราะ ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ไม่มีการคานอำนาจ เสี่ยงจะกลายเป็นลัทธิบูชาบุคคล อยู่ในอำนาจนานเกินไป ถ้าวันหนึ่งไม่มี สี จิ้นผิง จีนจะตกอยู่ในความเสี่ยงสูงมาก

นอกจากนี้ในยุคของสี จิ้นผิง ยังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกมากมายอย่างการขจัดความยากจนที่ทำไปได้ร่วม 100 ล้านคน โดยมุ่งไปที่ความยากจนในชนบทเป็นหลัก แม้ความเลื่อมล้ำยังมีอยู่ รวมไปถึงช่องว่างรายได้ก็ยังมีอยู่ แต่โดยภาพรวมจีนเดินไปในทิศทางที่แข็งแกร่งผ่านกลยุทธ์ที่รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น เรียกว่า 2D กับ 3M

D1 : Direction คือต้องมีทิศทางชัดเจน ตรงจุด เพราะความยากจนในแต่ละพื้นที่มีสาเหตุไม่เหมือนกันต้องไปดูแต่ละพื้นที่ด้วยตัวเอง

D2 : Data การออกแบบนโยบายโดยใช้ฐานข้อมูลจะช่วยให้จีนแก้ปัญหาได้อย่างแม่นยำ (Data Driven Policy)

M1 : Man ส่งบุคลากรลงไปช่วยแก้จนด้วยตัวเอง ใช้ข้าราชการเกือบ 3 ล้านคนลงไปคลุกคลีกับหมู่บ้านและชาวบ้าน และจะต้องดูแลจนกว่าจะหายจน

M2 : Money ใช้เงินเป็นแสนล้านหยวน แต่ไม่แจก เน้นวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทาง และระบบคมนาคม การแจกเงินจะมุ่งผ่านเบี้ยยังชีพให้เฉพาะคนที่เปราะบางมาก ๆ กว่า 20 ล้านคน

M3 : Material ทรัพยากร นำสิ่งของลงไปช่วย โดยไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่ลงไปช่วยแก้จน แต่ยังมีบริษัทเอกชนจีนเข้ามาช่วยแก้จนด้วย

ปัจจุบันจีนฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,200 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 19.7 ล้านโดสต่อวัน

ข้อมูล : NEWS1, รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

#BusinessPlus #เศรษฐกิจจีน #สาธารณรัฐประชาชนจีน #พรรคคอมมิวนิสต์จีน #GDPจีน #100ปีจีน