10 แนวโน้มของอาหารจากพืชที่กำลังมาแรง เกษตรกรรมฟื้นฟู มาตรฐานใหม่ของภาคเกษตร

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ การเกิดขึ้นของเทรนด์บริโภคอาหารจากพืชในปีนี้ ซึ่งมีอยู่ 10 เทรนด์ที่น่าสนใจ และถือเป็นวิวัฒนาการที่มาแรงที่แวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหารต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งแนวคิดและประเด็นทางด้านสังคมต่าง ๆ

เทรนด์ที่ 1 คือ บรรจุภัณฑ์กระดาษ ซึ่งกำลังเป็นทางเลือกที่บรรดาผู้ผลิตอาหารจากพืชใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ แทนที่พลาสติกที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม โดยรายงานระบุว่ามีแบรนด์อาหารจากพืชจำนวนหนึ่งที่เลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยสิ้นเชิง และมีอีกหลายแบรนด์ที่พยายามลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ตัวอย่างของแบรนด์อาหารเนื้อวีแกน ซึ่งเป็นเนื้อจากพืชที่เริ่มลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์คือ Evil Foods จากรัฐนอร์ทแคโรไลนาใช้ฟิล์มหดตัวในการบรรจุตัวผลิตภัณฑ์เนื้อ และใช้กล่องกระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ภายนอก โดยแนวโน้มเรื่องของการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เป็นกระแสใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก ทำให้ไม่มีธุรกิจใดที่หลบหลีกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารวีแกน

เทรนด์ที่ 2 ฉลากคาร์บอนกลายเป็นความจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากที่บรรดาผู้ใส่ใจในสุขภาพกดดันให้ผู้ผลิตอาหารให้ข้อมูลปริมาณแคลอรีในมื้ออาหาร จนทำให้การเปิดเผยข้อมูลแคลอรีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างถาวรในหมู่ผู้ให้บริการอาหารฟาสต์ฟู้ด และกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการสร้างความโปร่งใสในผลิตภัณฑ์อาหารในขณะนี้คือ การเปิดเผยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของมื้ออาหาร

รายงานระบุว่ามีการวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Carbon Management Journal ตั้งแต่ปี 2012 ที่พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ มีความสนใจใคร่รู้ข้อมูลของสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องของประโยชน์ต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การให้ข้อมูลต่อยูนิตของจำนวนคาร์บอนที่ปล่อยสู่อากาศจากการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงกำลังเป็นแนวโน้มที่มาแรง และมีแบรนด์อาหารมังสวิรัติและวีแกนที่เริ่มติดสลากคาร์บอนแล้วคือ แบรนด์ Quorn และ Oatly ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งคงจะต้องดูผลความนิยมในปี 2021 นี้ว่าเป็นอย่างไร

เทรนด์ที่ 3 กินที่บ้าน เป็นแนวโน้มที่มีรายงานการวิจัยของมูลนิธิ FMI Foundation ที่พบว่ามีชาวอเมริกันที่ทำอาหารกินที่บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น 40% จากเกิดการระบาดของ COVID-19 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการของรัฐที่มีการปิดภัตตาคารและจำกัดไม่ให้มีการทานอาหารที่ร้าน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตและบริการดีลิเวอรีชุดอาหารพร้อมปรุง ปรับปรุงเมนูให้หลากหลายขึ้นโดยการเพิ่ม ชุดอาหารมังสวิรัติและวีแกนพร้อมปรุง

รายงานระบุว่า Blue Apron ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ที่ให้บริการดีลิเวอรีชุดอาหารพร้อมปรุงชื่อดังของนิวยอร์ก มีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น เมื่อเริ่มเปิดบริการเมนูชุดอาหารมังสวิรัติพร้อมปรุง ทำให้มีแบรนด์ดัง ๆ อย่าง Hungryroot ซึ่งเน้นอาหารจากพืชอยู่แล้ว และ Sun Basket เพิ่มเมนูวีแกน เพื่อให้ชาววีแกนสามารถทำอาหารกินเองที่บ้านได้สะดวกมากขึ้น

เทรนด์ที่ 4 กินนอกบ้านพร้อมเร่งตัว เนื่องจากมีการสำรวจพบว่ามีชาวอเมริกันถึง 55%ที่ต้องทำอาหารกินเองที่บ้านมื้อแล้วมื้อเล่าจากการระบาดของ COVID-19 และเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการทำอาหารทำให้คนกลุ่มนี้ พร้อมจะออกไปกินนอกบ้านทันทีที่มีความปลอดภัยในการกินที่ร้านอาหาร จึงคาดกันว่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในยุคหลัง COVID-19

เทรนด์ที่ 5 ปีที่แล้วไก่เทียม ปีนี้ปลาเทียม ปีที่แล้วผู้ผลิตอาหารมังสวิรัติและวีแกนแบรนด์ต่าง ๆ ได้ออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ทางเลือก หรือเนื้อไก่เทียม ผลิตมาจากพืชกันอย่างหลากหลายเมนู จนถือว่าเป็นปีแห่งเนื้อไก่สำหรับชาววีแกน โดยแบรนด์ Daring Foods ออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่เทียมที่ทำจากพืช 100% แบรนด์SIMULATE Foods ออก Nuggs 2.0 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์นักเก็ตไก่

แต่ปีนี้มีแนวโน้มว่า จะเป็นปีแห่งเนื้อปลาทางเลือก เนื่องจากมีแบรนด์ผู้ผลิตอาหารจากพืชสำหรับชาววีแกนอาทิ Good Catch และ Sophie’s Kitchen เริ่มปล่อยผลิตภัณฑ์อาหารทูน่าที่ไม่ได้ทำจากปลาและสินค้าเนื้อปลาทางเลือกอื่น ๆ วางขายตามร้านค้าปลีก ซึ่งเนื้อปลาทางเลือกเหล่านี้ใช้บริโภคทดแทนปลาจริง ๆ ได้จึงเหมาะสำหรับชาววีแกนและยังเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาววีแกนด้วย

เทรนด์ที่ 6 ไข่ทางเลือกโตต่อ โดยไข่ทางเลือกหรือไข่ที่ผลิตจากพืชประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปีที่แล้วเห็นได้จากการเติบโต ของแบรนด์ไข่ทางเลือกอย่าง JUST Egg ซึ่งผลิตจากพืช มาในรูปแบบของเหลวได้รับความนิยมทั้งจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างรวดเร็ว กลายเป็น 1 ในเมนูของภัตตาคารและร้านสตรีทฟู้ด โดยล่าสุดบริษัทผู้ผลิต ทุ่มเงินลงทุน 120 ล้านดอลลาร์ สร้างโรงงานที่สิงคโปร์รับมือความต้องการในตลาดเอเชีย

นอกจาก JUST Egg ที่ทำจากถั่วเขียวแล้วยังมีแบรนด์ไข่เทียมอื่น ๆ ที่โผล่ขึ้นมาเป็นคู่แข่งอย่างรวดเร็วโดยมี 2 แบรนด์ที่น่าติดตามคือ the egg ของ Noblegen จากแคนาดาที่ผลิตขึ้นจากสาหร่ายและ Zero Egg จากอิสราเอล ที่กำลังวางแผนบุกตลาดสหรัฐอเมริกา ขณะที่มีการแพลมข้อมูลการวิจัยออกมาว่าการบริโภคไข่มากเกินไปจะเกิดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทำให้ตลาดไข่เทียมของชาววีแกนมีแนวโน้มเป็นตลาดที่ผู้ผลิตหลายรายหมายปองอยู่

เทรนด์ที่ 7 ส่วนประกอบเครื่องปรุงจากพืชตัวใหม่ ๆ โดยในปี 2021 นี้บรรดาเชฟและผู้สร้างสรรค์อาหารจอมครีเอททั้งหลายพยายามผลิตนมทางเลือกและน้ำมันปรุงอาหารจากพืชตัวใหม่ ๆ จากเดิมที่ผลิตจากอัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต ข้าว และถั่วเหลืองเท่านั้น โดยบรรดาแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มส่งนมทางเลือกและน้ำมันปรุงอาหารจากพืชตัวใหม่ ๆ ลงตลาดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันแล้ว

มีรายงานว่าเครื่องปรุงจากพืชตัวใหม่ ๆ มีทั้งน้ำมันพืชจากมะพร้าวซึ่งเป็นที่นิยมมาระยะหนึ่งแล้ว และยังมีน้ำมันจากอะโวคาโด แมคคาเดเมีย เมล็ดฝักทอง และกัญชงที่ทะยอยวางตลาดในสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารคีโตที่เน้นไขมันสูงของชาวอเมริกัน ตามการรายงานของบริษัทดีลิเวอรี instacart

เทรนด์ที่ 8 เติมวิตามินในทุกของกิน เป็นแนวโน้มที่บรรดาผู้ผลิตอาหารเสริม เพิ่มสินค้าเสริมวิตามินที่มีความแปลกใหม่อาทิ ลูกอมหรือช็อกโกแล็ต และบรรจุอาหารเสริมและวิตามินในแพ็กเกจจิ้งทรงเก๋ไก๋ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในกลุ่มรุ่นมิลเลนเนียล อาทิแบรนด์ Ritual และแบรนด์ Hims ที่ออกแบบแพ็กเกจจิ้งทรงเก๋และมีความเป็นมินิมัลลิสต์ ส่วนผู้ผลิตอาหารสุขภาพหลายแบรนด์เติมวิตามินเข้าไปในของทานเล่นช็อกโกแลต อาทิ Sakara ทำสินค้าโพรไบโอติกส์มาในรูปขนมบอนบอนช็อกโกแลต Antidote Chocolate ทำช็อกโกแลตบาร์เพื่อสุขภาพมีสรรพคุณคลายเครียดไปในตัว รวมทั้งแบรนด์ Sourse ที่ใส่วิตามิน B-12 และคอลลาเจนที่ทำจากพืชในดาร์กช็อกโกแลตที่เป็นอาหารทานเล่น

เทรนด์ที่ 9 กระแสสุขภาพ ‘อแดปโตเจน’ สารปรับสมดุลมาแรงสุด อแดปโตเจนเป็นสารที่เชื่อว่าจะช่วยให้ร่างกายปรับสภาพให้สามารถทนทานความเครียด ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และอารมณ์ได้ เป็นเรื่องที่ใหม่มากแต่รายงานระบุว่าเป็นเทรนด์ ที่ทำให้เกิดกระแสการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์

รายงานของ Brian Kateman ระบุว่า ตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 32% ระหว่างปี 2018 – 2022 และเครื่องดื่ม ‘อแดปโตเจน’ มีสิทธิ์เป็นกระแสใหญ่ในตลาดเครื่องดื่ม โดยมีแบรนด์อย่าง Kin Euphorics และ Proposition Cocktail เปิดตัวสินค้าเครื่องดื่ม ‘อแดปโตเจน’ ที่โฆษณาว่าช่วยให้ผ่อนคลายและช่วยให้เข้าสังคมง่าย โดยไม่มีผลข้างเคียงแบบเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เทรนด์ที่ 10 เกษตรกรรมฟื้นฟูเป็นมาตรฐานสูงสุดใหม่ เป็นแนวโน้มของผู้บริโภคที่เดิมต้องการอาหารที่ไม่สร้างปัญหาหรือสร้างปัญหาน้อยที่สุดให้กับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว มาตรฐานใหม่คือ ต้องเป็นอาหารและพืชผลจากเกษตรกรรมที่มีผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็คือเกษตรกรรมฟื้นฟูซึ่งเป็นเกษตรกรรมใหม่เป็นกระแสตอบสนองต่อผู้บริโภคสินค้าอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารวีแกน

เกษตรกรรมฟื้นฟู เป็นการเกษตรที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ไม่ใช่การทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน อาทิ การปลูกพืชหมุนเวียน หรือการปลูกพืชคลุมดินซึ่งมีการสนับสนุนโดยรัฐบาลของประเทศทั่วโลกและองค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าช็อคโกแลตอย่างบริษัท Alter Eco และ Milkadamia ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมจากพืชโดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วแมคคาเดเมีย

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com