10 ทักษะสู่ผู้นำแห่งยุคดิจิทัล

KOL:แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

ในโลกยุคดิจิทัล โอกาสจะเปิดกว้างให้กับองค์กรที่รู้จักคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพราะ “ความเป็นไปได้ ไม่มีที่สิ้นสุด” และด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้คิดและทำในสิ่งแปลกใหม่ ที่คนรุ่นก่อนไม่สามารถทำได้ แต่ทั้งหมดนั้นก็ต้องแลกมาด้วยความผันผวนรุนแรง เพราะมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกวัน

ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ของเก่า ส่งผลกระทบต่อคนทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงจนบางธุรกิจแทบจะปิดตัวลงชั่วข้ามคืน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้เราขยายตัวต่อยอดธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นความท้าทายที่ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจในทุกวันนี้หลีกหนีไม่พ้น ซึ่งมีข้อคิดอยู่ 10 ข้อที่จะขอฝากผู้อ่าน Business+ ทุกท่าน

ข้อแรก ลักษณะนิสัยที่ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจในทุกวันนี้ต้องมีคือ “ความเป็นครู” ที่รักการสอน รักการถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้เบื่อ และที่สำคัญ ต้องรับมือกับนักเรียนได้ ซึ่งหมายถึงทีมงานภายใต้การบริหารของเราที่มีความหลากหลาย บางคนเฉลียวฉลาดจับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ย่อมเรียนรู้เร็วปรับตัวได้ก่อนคนอื่น จึงเป็นหน้าที่เราที่ต้องบ่มเพาะและให้ความรู้แก่เขาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เขากลายเป็นกำลังสำคัญกับเราในอนาคต

ข้อที่ 2 ต้องรู้จักให้อำนาจและต้องมองข้ามจุดเล็กจุดน้อยเพื่อเป้าหมายใหญ่เป็นสำคัญ เพราะเมื่อเราผ่านบทบาทการเป็นครู นั่นหมายถึง เราถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ทุกอย่างที่มีให้กับเขาเต็มที่แล้ว ก้าวต่อไปก็คือการให้โอกาสเขาในการพิสูจน์ฝีมือด้วยการทำงานจริง ซึ่งแนวทางการทำงานของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันตามบุคลิกและลักษณะนิสัยเฉพาะตัว เราจึงต้องมองข้ามเรื่องหยุมหยิม ไม่จับผิดเขาในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยมองที่ภาพกว้าง คือการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการเป็นหลัก

ข้อที่ 3 ต้องใจกว้างพอ และต้องมองอนาคตของผู้ร่วมงานเป็นสำคัญ เพราะขีดจำกัดของความเป็นเจ้าของธุรกิจทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารหลาย ๆ คนกลัวว่าลูกน้องจะเก่งเกินไป และในอนาคตอาจเติบโตจนกลายเป็นคู่แข่งของเราได้

การคิดเช่นนี้ทำให้ธุรกิจมีขีดจำกัดที่ทำให้เติบโตได้ยาก ตรงกันข้ามกับการเปิดใจให้กว้างขึ้น และมองเขาในฐานะปุถุชนที่ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต หากมองทะลุข้อจำกัดนี้ได้เราก็ย่อมมองหาอนาคตให้เขา ให้เขามีเวทีที่ใช้ความสามารถได้เต็มร้อย โดยมีผลตอบแทนที่เหมาะสม

ข้อที่ 4 ต้องเน้นประสิทธิภาพเป็นสำคัญ เพราะการเลือกคนทำงานทุกวันนี้เราอาจถูกทำให้ไขว้เขว ด้วยอุปนิสัย ความช่างเจรจา เอาใจเก่ง ฯลฯ ซึ่งนั่นไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพจริง ๆ การเลือกคนที่ผลงานจะต้องอาศัยการประเมินผลที่ชัดเจน พนักงานก็จะมีเป้าหมายในการทำงานที่จับต้องและมองเห็นได้ การจะเลือกใครขึ้นมารับผิดชอบในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ย่อมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคนทำงานก็พร้อมจะทุ่มเท เพราะรู้ว่าตัวเองก็มีโอกาสเติบโตได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ข้อที่ 5 ต้องมีทักษะในการสื่อสาร ซึ่งไม่ได้เริ่มที่การพูด แต่เป็นการฟัง โดยต้องหมั่นฟังคนรอบข้างให้มากขึ้นก่อนที่จะเน้นการพูดการเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญรองจากการฟัง ทุกวันนี้เรามักทำสลับกัน โดยเน้นการพูดมากกว่าการฟังซึ่งอาจทำให้เราสื่อสารได้ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

แต่การจะรับฟังก็ต้องอาศัยการเปิดกว้างทางความคิดเช่นเดียวกัน อย่าปล่อยให้การสื่อสารระหว่างทีมงานกลายเป็นการพิสูจน์ความถูก-ผิดของเจ้านายและลูกน้อง เพราะหลาย ๆ คนเลือกที่จะพิสูจน์ให้ลูกน้องเห็นว่าตัวเองคิดผิดเพื่อยกตนข่มท่าน ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นผู้ชนะและได้ทำให้ลูกน้องยอมรับในความเก่งกาจ แต่จะไม่มีวันได้ใจลูกน้องเลย เพราะไม่สามารถสร้างความมีส่วนร่วมกับเขาได้

ข้อที่ 6 ต้องรู้จักสร้างฝัน และไม่ใช่ฝันของตัวเราคนเดียว แต่เป็นฝันของผู้ร่วมทีมด้วย การสร้างฝันยังครอบคลุมถึงการผลักดันให้เขาไปเป็นอย่างที่ฝันเอาไว้ ผู้นำที่ดีต้องรู้จักผลักดันให้ลูกน้องไปถึงเป้าหมายในชีวิตที่เขาต้องการ ซึ่งความฝันนั้นเราอาจชี้นำให้เขาเห็นทิศทางที่ควรจะไป ซึ่งหากเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ก็ยิ่งเอื้อให้เกิดพลังที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นร่วมกัน

ข้อที่ 7 มีวิสัยทัศน์และความพร้อมที่จะทำให้กลายเป็นจริงได้สำเร็จ ซึ่งจำเป็นต้องมี 3 ส่วนประกอบด้วยกันนั่นคือ มีเป้าหมาย มีกลยุทธ์ และมีการทบทวนอยู่สม่ำเสมอ โดยเริ่มจากเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะยิ่งชัดก็ยิ่งทำให้เรามีแผนงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้ได้มากขึ้น

ข้อที่ 8 ต้องโค้ชชิ่งทีมงานอย่างใกล้ชิด ผู้นำต้องแนะนำทีมงานได้ในทุกเรื่อง ซึ่งเดิมบทบาทของผู้นำอาจให้คำแนะนำได้เฉพาะเรื่องของหลักการ เพราะในเรื่องธุรกิจใหม่ ๆ มีรายละเอียดมากมายเต็มไปหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นำจะรู้ไปทุกเรื่อง


แต่ในวันนี้ผู้นำต้องหมั่นศึกษาเรื่องราวใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่เสมอเพื่อให้เท่าทันโลกธุรกิจ เพื่อที่จะมีทักษะในโลกสมัยใหม่ได้เท่าทันกับทีมงาน

ข้อที่ 9 ต้องหลอมรวมทีมงานให้เป็นหนึ่งเดียวกันให้สำเร็จ ไม่แปลกอะไรที่ในแต่ละบริษัทแต่ละแผนกจะมีหลายทีมงานประกอบกัน ควรจะทำให้ในบริษัทมีพรรคมีพวกน้อยที่สุด เพราะการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันในองค์กรเป็นกลุ่มการเมือง ไม่มีทางที่จะทำให้บริษัทเดินไปในทิศทางเดียวกันได้

ข้อสุดท้าย ต้องกล้าตัดสินใจ แม้ว่าบางครั้งทิศทางที่เราต้องเดินไปนั้นอาจไม่ตรงกับใจของหลาย ๆ คน แต่จังหวะและโอกาสที่เกิดขึ้นนั้นมีจำกัดมาก ๆ บทบาทของผู้นำคือต้องรีบคว้าโอกาสไว้ แม้คนในทีมอาจคิดตามเราไม่ทันก็ตาม

ดังนั้น เมื่อกล้าตัดสินใจ ก็ต้องกล้ารับผลจากการตัดสินใจนั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกหรือผิดก็ตาม ยิ่งถ้าผิดก็ยิ่งต้องรับผิดชอบเต็มร้อย จะปล่อยให้เป็นปัญหาของคนในทีมไม่ได้ หรือถ้าเป็นเรื่องที่ถูก เราก็อาจจะใช้การตัดสินใจในวันนั้นมาเป็นครู เพื่อสอนให้เขาเก่งขึ้นได้ในอนาคต

ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติของผู้นำที่เราจะเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปกติในชีวิตการทำงาน แต่คนที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดได้เป็นอย่างดีนี่เอง จะกลายเป็นผู้นำองค์กรต่อไปในอนาคต