LINE MAN ครบ 1 ปี มีดีจนเกาหลีญี่ปุ่นต้องนำไปศึกษา

ความคุ้นเคยของแชตอันดับ 1 อย่างไลน์ ทำให้ธุรกิจที่ต่อยอดออกมาอย่าง LINE MAN ได้รับความนิยมตามไปด้วย และถือเป็นบริการที่มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะแม้แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีเองต่างก็เตรียมที่จะนำคอนเซ็ปต์ของ LINE MAN ไปพัฒนาเป็นบริการที่เหมาะกับประเทศของตน ซึ่งปัจจุบัน LINE MAN มีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 500,000 ครั้งต่อเดือน

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า LINE MAN เป็นบริการแบบโลคอลที่มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ไม่มีบริการของไลน์ในลักษณะนี้ที่ประเทศอื่น ซึ่งแม้แต่ประเทศเจ้าของอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีเองก็ต้องการนำคอนเซปต์นี้ไปปรับใช้กับประเทศของตน ซึ่งปัจจุบันหลังจาก LINE MAN เปิดให้บริการเป็นระยะเวลา 1 ปี ก็มีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 500,000 ครั้งต่อเดือน

“LINE MAN เป็นบริการผู้ช่วยส่วนตัวในชีวิตประจำวันที่ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ไว้ในแอปพลิเคชันเดียวสามารถใช้งานได้ง่ายด้วยการ LOG IN ผ่านทาง LINE ID ได้ทันที ทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะการให้บริการแบบเรียลไทม์ รวมถึงตอบโจทย์ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในประเทศไทย และตอบโจทย์ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยอีกด้วย”

ขณะนี้ LINE MAN มีบริการที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ 4 บริการสำคัญ ได้แก่ 1.บริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery) 2.บริการรับ-ส่งสิ่งของ (Messenger) 3.บริการสั่งสินค้าผ่านร้านสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และ 4.บริการรับส่งสิ่งของผ่านไปรษณีย์ (Postal) ทุกวันครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง โดยบริการสั่งซื้ออาหารมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 70% ส่วนที่เหลืออีก 3 บริการอยู่ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน

โดยเร็วๆ นี้จะเตรียมพร้อมที่จะเปิดบริการใหม่ที่ตรงใจและตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนไทยมากขึ้น และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นเบอร์ 1 ทางด้านบริการผู้ช่วยในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยยังเน้นการออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน(User friendly) และการจับมือกับพันธมิตรมืออาชีพ อย่างเช่นร้านอาหารชั้นนำตั้งแต่สตรีตฟู้ดจนถึงระดับไฮเอนด์ที่คัดสรร อย่าง Wongnai ครอบคลุมกว่า 30,000 ร้าน และพาร์ตเนอร์อย่าง Lalamove ในการบริการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็วเป็นระบบและถึงมือผู้รับได้อย่างปลอดภัย

รวมถึง Alpha Fast และ ไปรษณีย์ไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งที่ให้บริการ ด้วยทีมงานระดับมืออาชีพ ทำให้การขนส่งสามารถทำได้อย่างอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ โดยร่วมพัฒนาบริการที่มีความหลากหลาย และครอบคลุมทั้ง 4 บริการ

อริยะ กล่าวว่า การเติบโตของ LINE MAN ดังกล่าว ยังมาจากการรับส่งข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกย้ายมาอยู่บนบนสมาร์ตโฟนเป็นหลักหรือ “Mobile at the center” ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวตามโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ(E-Commerce) และธุรกิจบริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ (Online Food Delivery) ทำให้ผู้ประกอบการยุคใหม่มองเห็นโอกาสที่ยังเปิดกว้างในการสร้างโมเดลทางธุรกิจแบบ O2O

โดยการนำข้อดีด้านการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและสะดวกสบาย ผ่านช่องทางออนไลน์มาช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านเวลา และงบประมาณ รวมถึงอำนวยความสะดวก และสร้างทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าและบริการในชีวิตประจำวันได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นด้านร้านอาหาร การค้า สินค้าอุปโภคบริโภค การรับ-ส่งสินค้า การเดินทาง และการท่องเที่ยว

ทั้งนี้เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วกลุ่มธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 3.8% ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของไทย และธุรกิจบริการสั่งซื้ออาหารออนไลน์ (Online Food Delivery) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 4.9% ของตลาดธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทยแล้ว ก็พบว่าน่าจะมีโอกาสที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ แอปพลิเคชันในรูปแบบ O2O จากที่มีจำนวนไม่ถึง 5 แอปในปี 2012 นี้ ก็เปิดให้บริการมากกว่า 40 แอปในปี 2017 ไลน์จึงต้องเตรียมเพิ่มบริการที่ตอบสนองความต้องการของคนไทยให้ครอบคลุมมากขึ้น