โลจิสติกส์ไทยว่ายทวนราคาน้ำมัน ต้นปีเปิดกิจการเพิ่ม 444 ราย แนวโน้มทั้งปี 2565 ยังเติบโตได้อีก!!

สถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศไทยช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้เห็นการเติบโตในทิศทางที่ดี โดยมีกิจการเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 39.6% โดยธุรกิจด้านการบริหารจัดการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้าเติบโตอย่างโดดเด่น สวนทางกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปลายปี 2564 (ล่าสุดกลุ่มวิจัยเศรษฐกิจโลกของธนาคารแห่งอเมริกามองว่าราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกอาจขึ้นไปถึง 200 เหรียญต่อบาร์เรล หากสหรัฐฯ และพันธมิตรนาโตระงับการนำเข้านํ้ามันดิบจากรัสเซียทั้งหมด)

ซึ่งราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของธุรกิจโลจิสติกส์ ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเท่ากับธุรกิจโลจิสติกส์จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่หากอยู่ในช่วงที่ธุรกิจไม่สามารถปรับราคาขนส่งสูงขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนจะทำให้กำไรลดลง (รายได้-ต้นทุน = กำไรสุทธิ) และในช่วงที่เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้รายได้ของประชาชนน้อยลง หากธุรกิจปรับค่าบริการหรือสินค้าเพิ่มขึ้นสูงเกินไปจะยิ่งทำให้ประชาชนเลือกที่จะออมเงินมากขึ้น และใช้จ่ายน้อยลง

อย่างไรก็ตามหลังจากเจอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยซื้อสินค้าหน้าร้านก็ปรับเปลี่ยนมาใช้การซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลดีโดยตรงต่อธุรกิจขนส่ง ถึงแม้ว่าตอนนี้หน้าร้านจะกลับมาเปิดบริการเหมือนเดิมเกือบ 100% และราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นทำให้บางร้านต้องปรับราคาขนส่งขึ้น แต่ผู้บริโภคได้คุ้นชินกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ไปแล้ว จึงทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้ายังค่อนข้างสูง

โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยข้อมูลว่าเดือนมกราคมปี 2565 มีธุรกิจโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจำนวน 444 ราย (เพิ่มขึ้น 39.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย

– การขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย เติบโต 26.4%
– การขนส่งสินค้าทางถนน จำนวน 68 ราย เติบโต 83.8%
– กิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า จำนวน 33 ราย เติบโต 32%

และธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพื่อสนับสนุนการผลิตและกระจายสินค้าและวัตถุดิบที่ในปี 2564 มีนิติบุคคลธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 207 ราย เพิ่มขึ้น 53.3% รวมการลงทุนเป็นมูลค่า 908.17 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นถึง 284% เมื่อเทียบกับปีก่อน)

หากเจาะข้อมูลเข้าไปจะพบว่าเป็นนิติบุคคลกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (ทุนจดทะเบียนสูงตั้งแต่ 10-500 ล้านบาท) ทั้งหมด 7 ราย ซึ่งมีการลงทุนรวม 71% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

ซึ่งธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ ที่ดำเนินกิจการอยู่ขณะนี้ทั้งหมด 1,276 ราย ส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วน 46% และปริมณฑล 20% (ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ) และพื้นที่เขต EEC 11% (ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรี)

ส่วนในเขตจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าภูมิภาค ยังมีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจคลังสินค้าค่อนข้างน้อย เช่น เชียงราย มีเพียง 6 ราย , หนองคาย 7 ราย ,บึงกาฬ 3 ราย ,มุกดาหาร 4 ราย และนครพนม 3 ราย

ดังนั้นธุรกิจคลังสินค้าจึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจหน้าใหม่เพราะยังมีพื้นที่ให้เข้ามาทำตลาดอีกมาก โดยผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงสถานที่ประกอบการเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งของ รวมถึงการพัฒนารูปแบบคลังสินค้าให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตเพิ่มมากขึ้น

ทีนี้มาดูมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกันบ้าง ในเดือนมกราคมปี 2565 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 1.51 ล้านล้านบาท เติบโต 27.7% โดยแบ่งเป็น

– การขนส่งทางเรือ สัดส่วน 66.5% ของมูลค่าการค้ารวม (เติบโต 30.4%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม ส่วนประกอบยานยนต์ และยานยนต์

– รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ สัดส่วน 23% (เติบโต 28.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ และส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น

– การขนส่งทางถนน สัดส่วน 10.4% (เติบโต 10.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ เพชร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และการขนส่งทางราง สัดส่วน 0.1% (เติบโต 9.4%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และไม้อัด

โดยสาเหตุที่ช่วยผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวมาจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 โดยผู้ประกอบการด้านพิธีการทางศุลกากรและผู้ส่งออก ควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมจากความตกลง FTA อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น จีน ลดอากรยานยนต์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 8703 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ รถพยาบาล รถบรรทุกมินิบัส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน เหลือ 15% (ขณะที่ FTA อาเซียน-จีน มีอัตราอากร 25%)

#แนวโน้มการเติบโตในปี 2565
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มองว่าธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะมีส่วนที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการขยายการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP และการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับรถไฟจีน-ลาว

โดยภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมกลยุทธ์การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #โลจิสติกส์ #ธุรกิจโลจิสติกส์