‘โซลาร์ คอร์ปอเรทฯ’ ธุรกิจที่ต้องจับตามอง!! เจ้าของรับผลตอบแทนมั่นคง กำไรสูงลิ่ว ผู้เล่นเก่ารีบชิงความได้เปรียบ รายใหม่ต้องรีบเข้าตลาด

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มีหรือแผงโซลาร์หลายๆ แผงจะเรียกว่า โซลาร์ฟาร์ม เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง และมีรายได้ที่มั่นคง เพราะการซื้อขายไฟฟ้านั้น ปกติแล้วจะมีการทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้ผู้ขายไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการรายได้ของบริษัทได้ดี

แต่ขณะนี้มีอีกหนึ่ง ธุรกิจเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์กำลังมาแรง คือ โซลาร์ คอร์ปอเรท พีพีเอ (Solar-Corporate PPA) เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการจะติดตั้ง และผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เพื่อขายตามความต้องการของลูกค้า (ผู้รับซื้อไฟฟ้า) ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรม หรือ แม้กระทั่งอาคาร ซึ่งมีทั้งรูปแบบการติดตั้งในพื้นที่ของผู้ผลิตไฟฟ้า หรือในพื้นที่ของผู้รับซื้อเอง (ผู้ใช้)

จุดที่ทำให้ผู้ซื้อไฟฟ้าให้ความสนใจไม่เพียงแค่สะดวก รวดเร็ว เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทำให้ทุกขั้นตอน แต่ยังเป็นเพราะผู้ประกอบการจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน แล้วค่อยเรียกเก็บค่าไฟฟ้าภายหลัง (ใช้ก่อนจ่ายที่หลัง) แถมยังเป็นราคาที่มักจะต่ำกว่าอัตราค่าไฟที่ซื้อจากภาครัฐซะด้วย!!

โดยมีข้อมูลจาก ‘ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย’ มองธุรกิจพลังงานสะอาดโซลาร์ คอร์ปอเรท พีพีเอ มีแนวโน้มเติบโตสูง

เพราะตอบโจทย์ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการประหยัดค่าไฟแต่ไม่ต้องการลงทุนเอง โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจพลังงานสะอาดของไทยจะขยายตัว 37,700-118,000 ล้านบาท ในปี 2580 หรือขยายตัว 17.5-54.8 เท่าจากปี 2563 และผู้ประกอบการที่มีโอกาสเข้าสู่ธุรกิจนี้ ประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับจ้างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

และที่ทำให้ธุรกิจนี้มีเสน่ห์สุดๆ เป็นเพราะ ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการน้อยราย ภาวะการแข่งขันยังค่อนข้างต่ำ และมีกำไรสูง โดย EBIT Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 22.8% ในช่วงปี 2560-2562 เทียบกับผู้รับจ้างติดตั้งโซลาร์เซลล์ EBIT Margin เฉลี่ยเพียง 4%

พูดถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ขอแวะมาดูข้อมูลของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในตลาดหุ้นไทย 3 อันดับแรก ว่ามีสัดส่วนจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากน้อยแค่ไหน? และผลงานช่วง 6 เดือนแรกที่เพิ่งประกาศออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง เพราะการเข้าสู่ธุรกิจ Solar-Corporate PPA นั้น ผู้ประกอบการที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถือว่าจะได้เปรียบผู้ประกอบการที่เริ่มต้นใหม่

#EGCO กำลังผลิตไฟฟ้าโซลาร์สูง
เริ่มจาก บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO มีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,016 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 29 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,695 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 321 เมกะวัตต์

โดยแยกเป็นสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 289 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการจีพีเอส 26 เมกะวัตต์ ,เอ็นอีดี 63 เมกะวัตต์ ,โซลาร์โก 57 เมกะวัตต์ ,เอสพีพี ทู 8 เมกะวัตต์ ,เอ็นเคซีซี 113 เมกะวัตต์ ,เอสพีพีไฟว์ 8 เมกะวัตต์ ,เอสพีพี ทรี 8 เมกะวัตต์ ,เอสพีพี โฟร์ 6 เมกะวัตต์

และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปี 2564 มีรายได้รวม 6 เดือนแรก 18,879 ล้านบาท ลดลง 10% YoY กำไรสุทธิ 2,095 ล้านบาท ลดลง 55%

#RATCH กำไรไตรมาส 2 โตกระโดด
ต่อมา บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) RATCH มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนรวม 8,290.31 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังการผลิต 7,052.94 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และอีก 1,237.37 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา

โดยแยกเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งหมด 106.41 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการโคราช 3 กำลังการผลิตติดตั้ง 7.2 เมกะวัตต์ , โครงการโคราช 4 กำลังการผลิต 7.2 เมกะวัตต์ , โคราช 7 กำลังการผลิต 7.2 เมกะวัตต์

โครงการไทรประปา กำลังการผลิต 8.67เมกะวัตต์ , โครงการไทรใหญ่ กำลังการผลิต 11.24 เมกะวัตต์ โครงการไทรทอง กำลังการผลิต 6.86เมกะวัตต์ , โครงการไทรย้อย กำลังการผลิต 3.57เมกะวัตต์ , โครงการไทรเสนา กำลังการผลิต 3.01เมกะวัตต์ , โครงการไทรสะพาน 1 กำลังการผลิต 5.61เมกะวัตต์ , โครงการไทรสะพาน 2 กำลังการผลิต 2.21เมกะวัตต์ , โครงการไทรตาโต้ง กำลังการผลิต 1.14เมกะวัตต์ และโครงการ Collinsville รัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย กำลังการผลิต 42.5เมกะวัตต์

ขณะที่รายได้รวม 6 เดือนแรก 19,217.47 ล้านบาท ลดลง 7.5% YoY กำไรสุทธิ 4,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73%

#GPSC ขยายการลงทุนเพิ่ม
ปิดท้ายที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนรวม 6,613 เมกะวัตต์

โดยแยกเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งสิ้น 127.91 เมกะวัตต์ ดังนี้ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) 39.5เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โครงการ2) 0.99 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (โครงการ1) 0.87 เมกะวัตต์ ,บริษัท ไทย โซล่าร์ รีนิวเอเบิล จำกัด 80 เมกะวัตต์ ,บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด 5 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน โซล่าร์ 1.55 เมกะวัตต์

ขณะที่รายได้รวม 6 เดือนแรก 34,858 ล้านบาท ลดลง 4% YoY กำไรสุทธิ 4,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%

ถึงแม้ว่าสัดส่วนของกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของทั้ง 3 บริษัทจะยังไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ แต่เรามองว่าบริษัทเหล่านี้ยังมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาด Solar-Corporate PPA โดยอาศัยความได้เปรียบจากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ปัจจุบัน

เพราะธุรกิจ Solar-Corporate PPA มีแนวโน้มการเติบโตสูง และถือเป็นโอกาสสำหรับการเข้าลงทุนโดยผู้เล่นหน้าใหม่ โดยกำไร และผลตอบแทนมั่นคงแน่นอน จะเป็นตัวดึงดูดให้มีผู้เล่นเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET ,krungthai

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #GPSC #EGCO #RATCH #Solar-CorporatePPA