โจทย์ที่ท้าทายของกลุ่มการแพทย์ ในยุคที่ต้องพึ่งพาคนไข้ต่างชาติน้อยลง

ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาล ถูกมองว่าได้รับประโยชน์จากโควิด-19 เพราะรายได้จากการตรวจและรักษาเพิ่มขึ้น แต่ในมุมของโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างชาติมากกว่าลูกค้าในประเทศ คงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าโรคระบาดนี้เป็นปัจจัยบวกไปเสียทั้งหมด

เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากจะทำให้โรงพยาบาลมีรายได้จากการตรวจโควิด-19 รวมไปถึงการรักษาที่เพิ่มมากขึ้น ข้อมูลของกลุ่มการแพทย์รวมทั้งหมด 23 บริษัทฯ ใน SET พบว่า มีรายได้รวมในงวด 9 เดือนของปี 2564 จำนวน 145,219 ล้านบาท ปรับตัวขึ้น 27.80% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีรายได้รวม 115,440 ล้านบาท

ขณะที่มีกำไรสุทธิสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ด้วยกำไรสุทธิ 22,268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124.08% จากช่วง 9 เดือนของปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 9,937.58 ล้านบาท

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้รายได้และกำไรสุทธิของกลุ่มการแพทย์เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่เกี่ยวกับโควิด-19 เพราะการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงทำให้บริษัทเหล่านี้มีรายได้จากการตรวจและรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยช่วงที่ผ่านมาปัจจัยบวกที่ได้จากโควิด-19 มาจาก

1.การตรวจหาเชื้อโควิด-19
2.การให้บริการหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ หรือ Hospitel
3.การฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน

โดย บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS เป็นบริษัทที่มีรายได้เป็นอันดับ 1 ของกลุ่มการแพทย์ใน SET
– รายได้ 9 เดือนที่ 53,841 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นถึง 5.62% จากช่วงเดียวกันของปี 2563
– กำไรสุทธิ 5,300 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.81% จากช่วงเดียวกันของปี 2563
ในแง่ของ อัตรากำไรสุทธิ BDMS อยู่ที่ 10.08% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มการแพทย์ซึ่งอยู่ที่ 24.47% แสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ ยังบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรน้อยกว่ากลุ่ม

ด้านอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 8.71% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มซึ่งอยู่ที่ 14.36% เท่ากับว่า ความสามารถในการบริหารงานเพื่อให้เกิดผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นค่อนข้างน้อย

แต่ในส่วนของอัตราส่วนหนี้สิน ถือว่าค่อนข้างดี โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ซึ่งใช้แสดงถึงหนี้สินเทียบกับส่วนของเจ้าของค่อนข้างต่ำที่ 0.54 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม 0.67 เท่า จึงแสดงให้เห็นว่าภาระหนี้สินของ BDMS ในตอนนี้ค่อนข้างต่ำเลยทีเดียว

นอกจากนี้เมื่อดูอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ที่ 1.27 เท่า ทำให้เห็นว่า BDMS มีความคล่องตัวสูง สามารถจ่ายคืนหนี้ระยะสั้นเมื่อครบกำหนดได้เป็นอย่างดี

แต่เมื่อมองในส่วนของรายได้ของผู้ป่วยชาวต่างชาติยังคงลดลง จากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3 ของปี 2564 ทาง BDMS มีสัดส่วนรายได้ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 17% และสัดส่วนผู้ป่วยชาวไทย 83% ซึ่งเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าภายหลังเปิดประเทศและผู้ป่วยต่างชาติสามารถเดินทางเข้ารับการรักษาในไทยจะทำให้กำไรสุทธิฟื้นกลับไปสู่ระดับ 1 หมื่นล้านได้รวดเร็วแค่ไหน

สำหรับภาพรวมของธุรกิจการแพทย์ยังมีโจทย์ที่ท้าทาย โดยเฉพาะการพึ่งพารายได้จากนักลงทุนต่างชาติมากกว่าในประเทศ เพราะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ที่ไทยเคยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมสูงมากจากค่ารักษาที่ถูกกว่าหลาย ๆ ประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

มีการประเมินจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ว่า การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศระลอกนี้ที่สถานการณ์ยังคงรุนแรง น่าจะส่งผลให้ภาพรวมของตลาด Medical Tourism ของไทยในปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าไม่ต่ำกว่า 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยตลาดคนไข้ที่คาดว่าจะหดตัวสูงน่าจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย รวมไปถึงจีน และกลุ่มประเทศในอาเซียนอย่าง เมียนมา กัมพูชา และลาว ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด

“ขณะที่ปี 2565 ยังต้องลุ้นว่าการเปิดประเทศจะช่วยหนุนตลาด Medical Tourism ให้กลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอยู่กับตัวเลขติดเชื้อในประเทศ รวมไปถึงการกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพอีกด้วย”

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET , BDMS

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #กลุ่มโรงพยาบาล #กลุ่มการแพทย์