แวะเช็กสุขภาพ ‘ธุรกิจล้อยาง’ อุตสาหกรรมโลกที่วิ่งได้ไม่รู้จบ

สืบเนื่องจากปีที่แล้ว นักวิเคราะห์หลายฝ่ายได้มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มการขยายตัวของอุตสากรรมต่าง ๆ ที่น่าจับตามองของปี 2022 นี้ และหนึ่งในนั้น คือ อุตสาหกรรมยาง ซึ่งทั้งทั่วโลกเอง ก็มีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพาวัตถุดิบดังกล่าวกันอีกนานหลายปี ทั้งสำหรับใช้ในเชิงการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นถุงมือแพทย์ หรือการนำไปแปรรูปเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ‘อุตสาหกรรมล้อยางพาหนะ’ หนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศอีกด้วย

 

ข้อมูลจาก MarketWatch รายงานแนวโน้มการเติบโตของตลาดล้อยางพาหนะทั่วโลก ที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5.2% ต่อปี ตั้งแต่ 2022 – 2027 ซึ่งอาจแตะมูลค่าสูงถึง 1.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด covid-19 ที่สร้างผลกระทบระยะยาว ทำให้ผู้คนทั่วโลกยังคงกังวลในเรื่องความปลอดภัยของสุขภาพ หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ และหันมาเลือกการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

 

นอกจากนี้ในส่วนของเทรนด์การผลิตล้อพาหนะในปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกันที่คุณภาพของยางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในส่วนการผลิต และการย่อยสลายของผลิตภัณฑ์ก็จำเป็นที่จะต้องมีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

‘ยางรถยนต์สีเขียว’ หรือ ‘Green Tires’ คือหนึ่งในเทรนด์ของวงการอุตสาหกรรมยางพาหนะที่หลายธุรกิจกำลังให้ความสนใจ และต่อยอดสินค้าให้ย่อยสลายได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

ยางรถยนต์สีเขียว คืออะไร?

 

ยางรถยนต์สีเขียว คือ ยางพาหนะเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วการผลิตล้อยางพาหนะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก และยากต่อการย่อยสลายโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งถึงแม้ตอนนี้นวัตกรรมยางรถยนต์ในตลาดทั่วโลก ยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ 100% หรือย่อยสลายได้แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แบรนด์รายใหญ่ทั่วโลกจึงไม่พลาดกระโดดเข้าร่วมวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดให้สินค้าและธุรกิจมีความยั่งยืน

 

โดยในปี 2022 นี้คาดว่า ตลาดยางรถยนต์สีเขียวจะมีมูลค่าสูงถึง 2.70 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2027 อาจมีแนวโน้มขยายตัวแตะ 3.83 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 4.4% ต่อปี ตามรายงานจาก globe news wire

 

Big 3 ผู้นำยางสีเขียวระดับโลก

 

Michelin ถือเป็นอีกหนึ่งในแบรนด์แนวหน้าของโลกจากฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงทั้งในแง่คุณภาพ และประสิทธิภาพของล้อยางพาหนะมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถบรรทุก รวมไปถึงยังมีการให้ความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

โดยปัจจุบันบริษัทฯ ได้ใส่ใจในกระบวนการผลิต และย่อยสลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการใช้วัสดุที่เป็น Non Toxic Base ไม่มีสารเคมี และสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้สูงสุด 20-30% อย่างไรก็ตามทางมิชลิน ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2050 ด้วยการนำวัสดุล้อยางพาหนะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ให้ได้ถึง 100%

 

นอกจากนี้ยังมี Bridgestone บริษัทผู้ผลิตยางสัญชาติญี่ปุ่น แม้ว่าจะดำเนินธุรกิจมากว่า 103 ปี และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่บริษัทฯ ก็ไม่หยุดพัฒนารูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลก โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รายงานถึงความสำเร็จไปอีกขั้นของการสร้างกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน โดยระบุ ปี 2020-2021 ที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้มากถึง 40% นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้กว่า 33% และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากถึง 34%

 

โดยปี 2050 บริษัทฯ มีเป้าหมายในการสร้างคอมมิวนิตีที่ยั่งยืน ด้วยการส่งต่อคุณค่าที่ดีให้กับสังคม ทั้งวิจัยและพัฒนาเลือกใช้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% และสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศให้ได้มากที่สุด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

 

รวมไปถึง The Goodyear tire & rubber company อีกหนึ่งแบรนด์ผู้ผลิตยางหัวใจสีเขียวสัญชาติอเมริกัน ที่ได้รายงานถึงความคืบหน้าของแผนการความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาวัสดุที่สามารถเพื่อประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น

 

อุตสาหกรรมล้อยางไทย วิ่งไปไกลแค่ไหนแล้ว?

 

สำหรับอุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์ของไทยนั้น ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งไทยถูกจัดอันดับเป็นแหล่งฐานการผลิต และส่งออกล้อยางรถยนต์ที่สำคัญ เป็นอันดับ 2 รองจากจีน

 

เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยให้สามารถผลิตวัตถุดิบในต้นทุนราคาที่ต่ำได้ การสนับสนุนจากภาครัฐ และความเชี่ยวชาญของแรงงาน จึงเป็นตัวส่งเสริมสำคัญให้การผลิตล้อยางในไทยมีคุณภาพ และเป็นที่น่าจับตามองของตลาดโลก

 

โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกยางล้อไปทั่วโลกได้มากถึง 4.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยสัดส่วนกว่า 54% เป็นการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานเศรษฐกิจที่ต่ำจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 รวมถึงความต้องการล้อยางพาหนะที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะล้อรถบรรทุกใหญ่ที่มีสัดส่วนการส่งออกถึง 35% ของการส่งออกล้อรถยนต์

 

ประกอบกับข้อมูลจากฝ่ายอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ระบุตัวเลขการผลิตยางพาหนะของไตรมาส 3/2021 (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน) ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนกว่า 40,340 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน 20.56% และส่งออกไปยังทั่วโลกราว 36,629 ล้านเส้น เพิ่มขึ้น 15.56% (YoY)

 

อย่างไรปีนี้แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยางล้อไทย ค่อนข้างเป็นที่น่าสนใจด้วยปัจจัยหลากหลายมิติมีที่ผลกระทบต่อการผลิต ไม่ว่าจะเป็น

(1) ราคาต้นทุน ในส่วนของวัตถุดิบอย่างยางดิบ ที่ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเปิดกรีดยางที่มีผลผลิตมากพอ และสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ที่สำคัญยังมีในเรื่องของการเรียกเก็บภาษีอากรที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และเป็นอุปสรรคการสู้ราคากับคู่แข่งในตลาด

 

(2) ความต้องการของตลาดรถยนต์ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี รายงานถึงสถานการณ์ปี 2021 ที่ผ่านมา ระบุ ช่วง 8 เดือนแรกของปี การผลิตต้องชะลอตัวลงด้วยปัญหาการขาดแคลนของชิปเซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์สำคัญของส่วนประกอบการผลิตรถยนต์ รวมถึงปัญหาจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอ

 

อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์จะคลี่คลายไปแล้วบ้าง แต่กำลังการซื้อผู้บริโภคยังค่อยเป็นค่อยไปอยู่ และคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือตั้งแต่ 2022-2024 การผลิตรถยนต์ในไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-6% ต่อปี ด้วยความคืบหน้าของวัคซีนที่ทั่วถึง และการรับมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงปัจจัยสำคัญอย่างสถานการณ์การขาดแคลนชิปที่บรรเทาลง และจำนวนแรงงานที่ค่อย ๆ กลับมาเพียงพอมากขึ้น

 

(3) กำลังการผลิตล้อยางจากคู่แข่งในตลาด หนี่งในเจ้าตลาดล้อยางโลกก็คงหนีไม่พ้นประเทศจีน ที่มีแนวโน้มขยายตัวการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงมกราคม – กันยายน ปี 2021 ที่ผ่านมา มีจำนวนการผลิตไปแล้วทั้งสิ้น 6.64 แสนล้านตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 16.4% (YoY) เนื่องจากการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดที่ครอบคลุมมากขึ้น การดำเนินของธุรกิจจึงค่อย ๆ กลับฟื้นคืนมาตอบสนองความต้องการของตลาดโลก

 

เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่ถึงแม้ความคืบหน้าเรื่องของการควบคุมโรคเชื่องช้ากว่าจีนอยู่บ้าง แต่ในช่วงที่ผ่านมาผลของความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างมีแนวโน้มไปในทางที่ไม่แย่เท่าไรนัก

 

ซึ่งคาดว่าในอนาคตของอุตสาหกรรมล้อยางไทย ตั้งแต่ช่วงปี 2021-2023 มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากความกังวลของผู้บริโภคที่มองหาการเดินทางในรูปแบบรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นนั่นเอง