แนวคิด ‘ความจริง 3 อย่าง’ เบื้องหลังการพา บริษัทฯ เติบโตในแบบ ดร.สมพร สืบถวิลกุล

“ทุกเรื่องที่ทำต้อง ‘คิดจริง’ หมายถึงการต้องเข้าไปศึกษามันจริง ๆ รู้จริง ๆ ว่าเรื่องนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราศึกษามาดีและคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ขั้นต่อไปก็คือ ‘ทำจริง’ เพื่อให้สิ่งที่คิดเกิดเป็นผลลัพธ์แห่งความสำเร็จขึ้นมา”

การจะบริหารจัดการองค์กรใดองค์กรหนึ่งให้ได้อย่างยาวนานนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยเหตุและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มากมายที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อสภาพแวดล้อมของทั้งตัวธุรกิจนั้น ๆ อย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้ยังต้องเข้าใจเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องอื่นอันมีผลต่ออุตสาหกรรมของตัวเองอย่างกว้างขวางเพื่อให้สามารถพาองค์กรก้าวข้ามช่วงเวลาอันท้าทายต่าง ๆ ไปได้

 

แต่สิ่งที่ยิ่งท้าทายไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจะสามารถพาองค์กรอยู่รอดไปได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้บริหารยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่องผ่านการมองเห็นโอกาสในอนาคตของอุตสาหกรรมที่ตัวเองอยู่รวมไปถึงโอกาสที่เกี่ยวเนื่องที่เอื้อให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อมาพาให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้าได้แบบก้าวกระโดดและยั่งยืน

 

ถ้าจะให้กล่าวถึงหนึ่งในผู้บริหารของประเทศไทยที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยมาตลอดหลายปีที่ผ่านจากการที่องค์กรก้าวข้ามวิกฤตต่าง ๆ  มากมายแถมยังสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีชื่อของ ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คงจะเป็นไปไม่ได้

เนื้อหา

ความสำเร็จขององค์กรในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทาง ดร.สมพร เผยว่า หากต้องการจะให้เปรียบเทียบนั้นก็อาจจะเปรียบได้กับการเปลี่ยนผ่านจากบริษัทชั้นเยี่ยม หรือ Good company ไปสู่บริษัทชั้นยอด หรือ Great company “ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาใหม่ ๆ ทิพยประกันภัย ยังมีตัวตนของความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่มาก ในแง่ของคนยังคงมีความเป็นภาครัฐอยู่เยอะมาก ผมจึงเริ่มจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กรเป็นเรื่องแรก”

 

ภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วซึ่งเข้ามาส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมไทย ทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมาของสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ปัจจัยเหล่านี้ได้เข้ามา ‘ดิสรัปชัน’ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงแรกเลยก็คือ ‘อุตสาหกรรมการเงิน’

 

จากสถานการณ์นี้ทำให้ทาง ดร.สมพร มองว่าในไม่ช้าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจะถูก ‘ดิสรัปชัน’ อย่างแน่นอน ท่านจึงมองว่าแทนที่จะรอให้ตัวเองถูก ‘ดิสรัปชัน’ และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก บริษัทฯ ควรจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้ซะเอง

 

นิยามของคำว่า ‘ประกันภัย’ ในอดีตนั้นอยู่บนพื้นฐานของ ‘การบรรเทาความเสียหายให้กับผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดเหตุวินาศภัย โดยบริษัทฯ จะจ่ายเป็นตัวเงินเท่านั้น แต่ภายใต้แนวทางใหม่ซึ่งทาง ดร.สมพร ได้สร้างขึ้นมา ทิพยประกันภัยได้สร้างนิยามให้กับธุรกิจใหม่อีกครั้ง โดยได้มุ่งไปที่การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้าและคู่ค้าโดยไม่ได้มุ่งเป้าอยู่ที่แค่เรื่องของตัวเงินเท่านั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “การเป็นอิสระจากความกังวล”

 

รวมไปถึงการดึงเอาหลักการอย่างการวิจัยการตลาด หรือ Marketing Research เพื่อให้บริษัทฯ ทราบถึงความต้องการของลูกค้าและคู่ค้าอย่างถ่องแท้ ตรงนี้ทำให้บริษัทฯ สามารถปรับผลิตภัณฑ์ประกันให้สอดคล้องไปกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม

 

ตรงนี้ทำให้บริษัทฯ สามารถส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปให้กับลูกค้าได้อย่างตรงใจมากขึ้น สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม รวมไปถึงแตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดด้วย ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างทีม TIP Smart  Assist, TIP Cat และอื่น ๆ อีกมากมายก็มาจากจุดเริ่มต้นตรงนี้ และนี่จึงเป็นที่มาของการเติบโตในแง่เบี้ยประกันภัยซึ่งเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมกำไรเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า จากตัวเลขที่ราว 400-500 ล้านบาทต่อปี

 

ปัจจุบัน ใน 1 ปีบริษัทฯ สามารถมีกำไรเกือบ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ในมิติของราคาหุ้นปรับขึ้นจากประมาณ 10 บาทต้น ๆ ไปสู่มากกว่า 50 บาท ซึ่งในความเป็นจริงราคาควรเป็น 2 เท่า เนื่องจากทางบริษัทฯ เคยจ่ายปันผลเป็นหุ้นแบบ 1 ต่อ 1 มาแล้วครั้งหนึ่ง

 

“เมื่อก่อนเราจะคิดผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรต่าง ๆ เรามักจะใช้ผู้เชี่ยวชาญและคนที่อยู่ในธุรกิจนาน ๆ มาบอกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ควรเป็นอย่างไร มีหน้าตาอย่างไร และราคาควรเป็นเท่าไร แต่วันนี้ไม่ใช่อย่างนี้อีกแล้ว เราได้ดึงเอาหลักการการวิจัยการตลาดเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าด้วยการพูดคุยกับผู้ใช้บริการจริง ๆ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงใจกับลูกค้าของเราให้มากที่สุด

 

ความสำเร็จตรงนี้ยังถูกตอกย้ำจากหน่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลซึ่งเป็นผู้ประเมิน เช่น เราได้รางวัลจาก Forbes ให้เป็นบริษัทที่ดีที่สุดที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท รวมไปถึงการได้รับการประกาศผลโดย คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กำกับดูแลให้เราเป็น Best Company หลายปีต่อเนื่องกัน”

 

กุญแจแห่งความสำเร็จของการบริหาร

ดร.สมพร เผยว่า เรื่อง ‘คน’ ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ อาคารสำนักงาน เทคโนโลยีคุณภาพสูง สิ่งเหล่านี้สามารถใช้เงินซื้อได้ แต่บุคลากรเป็นสิ่งที่สร้างได้ยาก บริษัทฯ โชคดีที่สามารถสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญที่สุดคือมีความรักในองค์กร ทิพยประกันภัยมีพนักงานจำนวนมากที่อยู่กับองค์กรเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ จำเป็นที่จะต้องสร้างทีมงานที่ดีขึ้นมาให้ได้ รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทั้งในระดับพนักงานกับพนักงาน และพนักงานกับฝ่ายบริหาร ตรงนี้นำมาสู่การกล้าที่จะให้ความไว้วางใจและพร้อมมอบอำนาจให้พนักงานสามารถทำการบุกเบิกสิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้

 

“ตอนที่ผมมาทำงานที่นี่ใหม่ ๆ ทุกอย่างมันวิ่งไปที่ตัว CEO หมด จะทำอะไรก็ตามแต่ต้องให้ผู้บริหารสูงสุดอนุมัติ ตรงนี้ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ได้ยากเพราะต้องรอการตัดสินใจของคนคนเดียว และมันทำให้พนักงานระดับกลางและระดับล่างลงมาไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้ไม่เกิดเครื่องยนต์เล็ก ๆ ที่ช่วยกันผลักดันให้องค์กรวิ่งไปข้างหน้า

 

แต่หลังจากผมเข้ามาและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร ผมได้จัดการกระจายอำนาจลงไปสู่หน่วยงานขนาดเล็กต่าง ๆ ผมจะเหลือทำเฉพาะเรื่องของนโยบายและเรื่องใหม่ ๆ เท่านั้น รวมไปถึงการผลักดันให้พนักงานกล้าที่จะคิด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และการกล้าที่จะรับผิดชอบ ตรงนี้ทำให้ทิพยประกันภัยสามารถที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้อย่างมหาศาล

 

ดร.สมพร เพิ่มเติมว่า ตรงนี้ช่วยตอกย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือเรื่องคน ถ้าบริษัทฯ สามารถทำให้คนทำงานรู้สึกรักและภูมิใจในการทำงานกับองค์กรได้ พนักงานก็จะอยากอยู่กับเราไปนาน ๆ เพราะอยู่แล้วได้รับความเชื่อมั่น ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้สามารถแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

ความจริง 3 อย่าง

ด้านเคล็ดลับการบริหาร ดร.สมพร บอกว่า เน้น 3 เรื่อง คือ ทุกเรื่องที่ทำต้อง ‘คิดจริง’ หมายถึงการต้องเข้าไปศึกษามันจริง ๆ รู้จริง ๆ ว่าเรื่องนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราศึกษามาดีและคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะทำ ขั้นต่อไปก็คือ ‘ทำจริง’ เพื่อให้สิ่งที่คิดเกิดเป็นผลลัพธ์แห่งความสำเร็จขึ้นมา

 

สุดท้ายก็คือ ‘จริงใจ’ กับทุกคนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคู่ค้า พนักงาน ลูกค้า หรือทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา เพราะการทำธุรกิจประกันวินาศภัย ‘ความไว้วางใจ’ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นการที่เราจริงใจกับทุก ๆ คนก็จะทำให้เราได้รับความจริงใจกลับมาเช่นกัน

 

การบริหารในแบบ ‘สองนคราประชาธิปไตย’

นอกจากนี้ ดร.สมพร ยังเพิ่มเติมอีกว่า ทิพยประกันภัยนั้นบริหารคนบนแนวทางที่เรียกว่า ‘สองนคราประชาธิปไตย’ คือคนที่อยู่ในโลกของการทำงานแบบดั้งเดิมก็สามารถทำงานแบบดั้งเดิมต่อไปได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ของเราก็ทำงานบนวิถีใหม่

ช่วงแรก ๆ เรามีการทดลองเอาคนดั้งเดิมมาทำงานแบบวิถีใหม่ปรากฏว่าคุณภาพในการทำงานลดลงเพราะเขาไม่ถนัด ขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่นตัวเอง ทำให้เราตัดสินใจว่า แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ชอบแบบเดิมก็อยู่กับการทำงานบนวิถีเดิม เพราะลูกค้าที่อยู่กับกลุ่มนี้ก็มีจำนวนมาก ส่วนใครถนัดดิจิทัลก็ให้เดินหน้าเต็มตัวสู่วิถีใหม่ไปเลย

 

คน ถือเป็นเรื่องท้าทาย เรามีคนหลากหลายเจเนอเรชันการที่จะทำให้ทุกคนมองไปยังเป้าหมายเดียวกัน การทำให้ทุกคนรู้ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราต้องเรียนรู้กันใหม่หมด ในอดีตเราออกแบบกรมธรรม์มาหนึ่งกรมธรรม์ขายให้ทุกคนเลย สมัยนี้ไม่ใช่แล้วเพราะความต้องการของคนแตกต่างกันไป

 

เมื่อก่อนขายแบบแยกเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ต้องไปฝังอยู่ในสินค้าอื่น ๆ หรือบริการอื่น ๆ ตลาดปัจจุบันมีความเฉพาะตัวมากขึ้น เราจำเป็นต้องศึกษาลงลึกมากขึ้นเพื่อตอบสนองลูกค้า เวลาในการออกกรมธรรม์ก็เช่นกันสมัยก่อนจะออกแต่ละทีใช้เวลานาน

 

แต่ปัจจุบันออกได้เร็วขึ้น ไวขึ้น ง่ายขึ้นมาก ตัวอย่าง TIP Lady กรมธรรม์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ หรืออย่าง TIP อัพทูไมล์  สำหรับคนที่มีรถหลายคันหรือคนที่ใช้รถน้อย เราก็ให้ซื้อประกันภัยตามระยะทางที่ขับ ตามจำนวนกิโลเมตรต่อปีที่คุณใช้ ผู้ใช้ก็ซื้อประกันภัยตามนั้นได้เลย

เขียนและเรียบเรียง : เอกพล มงคลพัฒนกุล
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ทิพยประกันภัย