แกะข้อมูล ‘พีทีจี เอ็นเนอยี’ กับเป้าหมายปี 65 สุดท้าทาย!! ปั้นกำไร Non-oil สู่ 50% จะเป็นไปได้แค่ไหน?

บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) หรือที่เรารู้จักกับดีในชื่อ ‘ปั๊มพีที’ ปั๊มน้ำมันที่เริ่มต้นจากปั๊มขนาดเล็ก และเติบโตมาด้วยกลยุทธ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ จนในวันนี้นับได้ว่าเป็นเบอร์ 2 ของปั๊มน้ำมันใประเทศไทยได้ประกาศแผนการดำเนินงานปี 2565 ที่ทำให้ได้ตื่นเต้นกันอีกครั้ง

เพราะความน่าสนใจอยู่ตรงที่แผนการขยายธุรกิจ Non-oil ด้วยการตั้งเป้าสัดส่วนกำไรจากธุรกิจ Non-oil เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2569 (ภายใน 4 ปี) ซึ่งเป้าหมายครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเหลือเกินเมื่อดูข้อมูลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะถึงแม้เราจะได้เห็นว่า PTG ได้ขยายธุรกิจ Non-oil มาตลอด แต่จนถึงปัจจุบันธุรกิจหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนคือธุรกิจน้ำมัน

จากการตรวจสอบข้อมูลของ ‘Business+’ ในรายงานข้อมูลในคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำปี 2564 พบว่า PTG มีสัดส่วนรายได้ Non-oil อยู่ที่ 4.2% เท่านั้น ขณะที่สัดส่วนกำไรขั้นต้นจากธุรกิจ Non-Oil คิดเป็น 14.6% แบ่งเป็นธุรกิจแก๊สแอลพีจี 6.2% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 3.3% และธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Max Mart และธุรกิจอื่น ๆ 5.1% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้

ถึงแม้การเติบโตของธุรกิจ Non-oil ในปี 2564 ที่ผ่านมาจะเติบโตได้ถึง 33.1% มาที่ 5,624 ล้านบาท เป็นการเติบโตจากธุรกิจแก๊ส LPG , ธุรกิจร้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Max Mart แต่สัดส่วนดังกล่าวเมื่อเทียบกับรายได้รวมซึ่งอยู่ที่ 133,759 ล้านบาท ยังถือว่าห่างไกล

นอกจากนี้ เรามองว่าอุปสรรคสำหรับการขยายธุรกิจ Non-oil ให้มีสัดส่วนตามเป้าหมายเป็นเรื่องของงบประมาณที่จะต้องใช้ในการลงทุนค่อนข้างสูงทีเดียว ซึ่ง PTG ตั้งเอาไว้ปีละ 1,500-2,000 ล้านบาท (อาจจะมาจากการหาแหล่งเงินทุนจากการกู้ หรือใช้กำไรสะสม)

ซึ่งเมื่อดูจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2364 พบว่าบริษัทมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 5,081.46 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัทนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนอาจจะทำให้ความมั่นคงของบริษัทน้อยลง และอาจจะปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้น้อยลง (กำไรสะสมจะลดลงได้จากกรณีที่บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ หรือนำมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น หรือนำมาขยายธุรกิจ)

ดังนั้น PTG จึงอาจต้องอาศัยการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือการเพิ่มทุน ทั้งนี้เมื่อดูจากสินทรัพย์รวมปัจจุบันเท่ากับ 44,384 ล้านบาท และหนี้สินรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 36,184 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม (Debt to Total Asset Ratio) ค่อนข้างต่ำ เพียงแค่ 0.81 เท่า นอกจากนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นล่าสุด ยังค่อนข้างต่ำเช่นเดียวกันอยู่ที่ 1.9 เท่า (ตั้งเป้าไม่เกิน 3 เท่า)

ทั้ง 2 อัตราส่วนบ่งบอกถึงสภาพคล่องของบริษัทที่ค่อนข้างดีทำให้เห็นว่า PTG ยังสามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีกเยอะ แต่การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นก็จะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายจ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางการเงินแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มสูงขึ้นตามมา

ยิ่งสะท้อนให้เห็นเมื่อดูข้อมูลจากผลประกอบการปี 2564 ซึ่งเราพบว่า รายได้จากการขายและบริการของ PTG อยู่ที่ 133,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.1% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นจากราคาขายปลีกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26.3% จากปีที่แล้ว

ขณะที่ธุรกิจจำหน่ายแก๊ส LPG ก็ได้เห็นการเติบโตเช่นเดียวกัน (ส่วนแบ่งการตลาดทุกช่องทางของ LPG เป็นอันดับที่ 5 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 4.7%)

แต่สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิของ PTG ปรับตัวลดลงจากปี 2563 ถึง 46.87% (เหลือ 1,006.37 ล้านบาท จากปี 2563 ที่ระดับ 1,894.04 ล้านบาท) เป็นเพราะต้นทุนการขายและบริการเพิ่มขึ้น 31.8% จากปีก่อน โดยเกิดจากต้นทุนของธุรกิจน้ำมันที่เป็นสัดส่วนหลักของบริษัทเพิ่มขึ้น (เพราะราคาน้ำมันพุ่งขึ้น)

นอกจากนี้ยังพบว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2563 หลัก ๆ แล้วมาจากค่าโฆษณา ค่าส่งเสริมการขาย และค่าบริการ (เพิ่มขึ้น 28.7% จากปีก่อน) เนื่องจากบริษัทได้วางกลยุทธ์ทางการตลาดในกลุ่มธุรกิจ Non-Oil เพื่อที่จะให้บริษัทสามารถนำเสนอรูปแบบสินค้าและบริการให้กับกลุ่มลูกค้า ด้วยเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ Non-Oil ให้มากขึ้น

เมื่อเห็นข้อมูลทั้งหมดแล้ว ‘Business+’ มองว่า ปัญหาที่ PTG กำลังเจออยู่ตอนนี้เป็นเรื่องของการบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่าย เพราะรายได้ค่อนข้างสูง แต่กำไรสุทธิยังต่ำ

ดังนั้นการขยายธุรกิจ Non-Oil ของ PTG จะคุ้มค่ากับการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อธุรกิจที่ PTG เข้าไปลงทุนต้องเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น (ต้นทุนทางการเงินต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยหากเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน)

โดยปัจจุบันธุรกิจ Non-oil ของ PTG มีทั้งหมด 8 ธุรกิจ คือ
1) ธุรกิจแก๊ซ
2) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
3) ธุรกิจ Retail แบบที่เป็น Offline to Online
4) ธุรกิจขับเคลื่อนยานยนต์โลจิสติกส์และซัพพลายเชน
5) ธุรกิจซ่อมบำรุง
6) ธุรกิจสุขภาพ ทั้งกายและใจ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย
7) ธุรกิจ Digital Platform ทั้งการเงินและ Lifestyle
8) พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด

ซึ่งจากทั้งหมด 8 เสานี้ เรามองว่าธุรกิจที่เป็น “เมกะเทรนด์” ของโลกในอนาคต และเป็นธุรกิจที่จะสนับสนุนให้กำไรให้ PTG ได้อย่างโดดเด่นมี 4 ธุรกิจที่น่าจับตามอง คือ

– ธุรกิจแก๊ซ (ส่วนแบ่งการตลาดของการจำหน่ายแก๊ส LPG ผ่านสถานีบริการเป็นเบอร์ 2 ด้วยสัดส่วน 17.7%) โดย PTG มีแผน Spin-off บริษัทลูกอย่าง ‘บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2565 ซึ่งหากแผน Spin-off สำเร็จ ก็จะทำให้บริบริษัทย่อยแห่งนี้ลดการพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่อย่าง PTG ได้ และบริษัทลูกที่จดทะเบียนใหม่ก็จะสามารถหาแหล่งเงินทุนได้ด้วยตัวเอง (ไม่เป็นภาระกับ PTG)

– ธุรกิจสุขภาพ ทั้งกายและใจ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งเนื่องจากประเทศไทย และอีกหลายประเทศในเอเชียเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อุปสงค์ธุรกิจสุขภาพจึงสูงขึ้นตาม

– ธุรกิจ Digital Platform ทั้งการเงินและ Lifestyle ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง เพราะปัจจุบัน PTG มีฐานลูกค้าจาก Max Card สูงถึง 17 ล้านสมาชิก ซึ่งจะทำให้ต่อยอดได้ง่ายขึ้น

– ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมากมาย เพราะปัจจุบันสัดส่วนรายได้ธุรกิจนี้ยังค่อนข้างน้อย แต่ความต้องการในตลาดค่อนข้างสูง จึงทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรามองว่าหากจะให้เป็นผลดีกับกำไรสุทธิมากที่สุด PTG ควรจะลงทุนขยายธุรกิจ Non-oil ในช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำลง (เพราะน้ำมันที่ต่ำลงจะช่วยให้ต้นทุนราคาน้ำมันบริษัทจะน้อยลงตาม เป็นส่วนช่วยพยุงกำไรสุทธิเอาไว้) เพราะในช่วงแรกที่เข้าลงทุน Non-oil บริษัทอาจจะยังไม่มีรายรับ หรืออาจเจอกับผลขาดทุนสุทธิในบางธุรกิจได้

นอกจากนี้การเข้าลงทุนหรือขยายธุรกิจด้วยการเข้าร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถรับผลตอบแทนได้ทันทีที่เข้าลงทุนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเช่นเดียวกัน เพราะบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้ในทันที ซึ่งกรณีนี้ PTG ได้เปิดเผยว่า มีแผนที่จะร่วมกับพาร์ทเนอร์หรือร่วมทุนกับบริษัทอื่นๆหรือการเข้าลงทุนในบริษัท Startup ต่าง ๆ โดยทุกธุรกิจทั้งหมดจะดำเนินการภายใต้ Max World

#บทสรุป
การขยายธุรกิจ Non-oil จะมีผลดีในแง่ของการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันซึ่งมีความผันผวนสูง แต่การเข้าลงทุนที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินลงทุน และต้องไม่เป็นการลงทุนที่สร้างภาระให้กับบริษัทมากเกินไป

เพราะผลสุดท้าย หากบริษัทมีผลขาดทุนสุทธิผลกระทบเหล่านี้จะไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นได้ ในแง่ของการจ่ายเงินปันผลที่ลดลง และราคาหุ้นที่ปรับตัวลงสะท้อนกำไรสุทธิที่ลดลง ดังนั้น เป้าหมายการขยายธุรกิจ Non-oil ของ PTG ครั้งนี้เรามองว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเป็นอย่างมาก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #PTG #พีทีจี