เอื้อมพร ปัญญาใส พร้อมพาแปซิฟิกไพพ์ ปฏิรูปสู่ the Steel Material

พูดกันว่า ‘สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ’ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว สำหรับการเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP ของคุณเอื้อมพร ปัญญาใส ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมไอที มาสู่อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเธอเปรยว่า ไม่ได้เป็นเรื่องหนักใจ แต่มองเป็นความท้าทาย เพราะผ่านการทำงานที่เปลี่ยนแปลงทุกวันในอุตสาหกรรมไอทีมาอย่างโชกโชน

แม้จะดำรงตำแหน่งผู้นำเพียงขวบปี แต่คุณเอื้อมพรก็ได้พา PAP ผ่านวิกฤต COVID-19 พร้อมกับการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ที่สุด ทั้งดึงผู้บริหารมืออาชีพ และเตรียมพร้อมสู่กระบวนการ Rebrand ซึ่งต้องบอกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบเจอในธุรกิจกงสี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก

และจากปีที่ผ่านมาถึงปีนี้ เป็นปีที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะการเข้ามารับตำแหน่งผู้นำที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าการดำเนินธุรกิจเหล็ก ซึ่งว่ากันว่า อุตสาหกรรมนี้ถูกครอบงำจากซัพพลายเออร์ คนซื้อไม่ได้เห็นคุณภาพที่แท้จริงของเหล็กว่า ‘ผ่านมาตรฐานสูงสุดหรือไม่…!!! และไม่ใช่ใช้เหล็กอะไรก็ได้’

ดังนั้น การที่คุณเอื้อมพร ปัญญาใส ประกาศนโยบายมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย Steel Material ที่ต้องให้บรรลุผลภายใน 4 ปี รวมถึงมีการปรับโครงสร้างภายใน โดยเฉพาะในส่วนผู้บริหารและคณะจัดการ พร้อมด้วยการประกาศ 2 เรื่องที่จะเน้นในการดำเนินธุรกิจ

หนึ่ง คือ การบริหารจัดการต้นทุน หมายรวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้เข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น

สอง คือ สร้างทีมภายในจากพนักงานทุกคนให้เป็น Learning Organization และตั้งทีมการตลาดเพื่อสนับสนุนธุรกิจลูกค้าและคู่ค้า ด้วยการนำเสนอแพ็คเกจแบบ Total Solutions

จึงน่าสนใจว่า การปูทางธุรกิจจากนี้ของ PAP หลังยุค Digital Transformation กับคำว่า ‘เหล็ก’ ที่ไม่ใช่เหล็ก แต่ต้องเป็นเหล็กจาก ‘แปซิฟิกไพพ์’ จะเป็นอย่างไร

คำตอบจากนี้ เชิญทุกท่านพบกับวิธีคิดแบบมืออาชีพ ที่จะทำให้ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมั่นคง

แปซิฟิกไพพ์ Transform เพื่อเติบโต

Business: อุตสาหกรรมเหล็กและสิ่งที่แปซิฟิกไพพ์เป็นในมุมของคุณเอื้อมพรเป็นอย่างไร

คุณเอื้อมพร: “อุตสาหกรรมเหล็กของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างดั้งเดิม และห่างไกลจากการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 มาก หนึ่งคือ เราต้องนำเข้าเหล็กต้นน้ำจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศเราไม่มีโรงถลุงเหล็ก ประเทศไทยมีแต่อุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำและปลายน้ำ และแปซิฟิกไพพ์ก็คืออุตสาหกรรมเหล็กปลายน้ำ คือ การผลิตหล็กรูปพรรณ

ความท้าทายที่สอง คือ สงครามการค้า การที่ซัพพลายเออร์จากประเทศจีนเข้ามาทุ่มตลาดในปี 2019 ทำให้ราคาเหล็กมีความผันผวนสูง ประกอบกับการที่เราต้องนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ต่อให้ไม่มี COVID-19 ความยากลำบากนี้ก็ทำให้เราต้องปรับตัวอยู่ดี”

Business: เท่ากับว่าเราต้องพึ่งพาแต่ซัพพลายเออร์?

คุณเอื้อมพร: พึ่งพาซัพพลายเออร์ และบริหารจัดการต้นทุน ถึงจะได้กำไร นั่นคือวิธีดำเนินงานแบบก่อนของเรา แต่พอเราตัดสินใจ Transformation เราก็จะต้องเพิ่มการรับรู้ให้กับผู้บริโภครายย่อยมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค และยกระดับคุณภาพของ Ecosystem ของอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ส่วนใหญ่นำไปใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งผู้รับเหมา วิศวกร ที่ปรึกษา สถาปนิก

อีกทั้งเนื่องจากในตอนนี้เมื่อผู้บริโภคอยากจะสร้างบ้านสักหลัง เขาไม่ฝากความหวังไว้ที่ผู้รับเหมาหรือสถาปนิกอย่างเดียวแล้ว ผู้บริโภคจะอยากรู้ว่าคุณใช้วัสดุอะไรในการก่อสร้าง ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกใช้วัสดุ

Business: แล้ววิกฤต COVID-19 กระทบกับเราอย่างไรบ้าง

คุณเอื้อมพร: “COVID-19 ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ มีเคอร์ฟิว เราก็ต้องปรับการบริหารจัดการใหม่ทั้งเรื่องของซัพพลายเชนและความปลอดภัยของพนักงาน เพราะเหล็กต้องมีการขนส่ง เราจึงต้องเพิ่มความสำคัญในการติดต่อประสานงานกับลูกค้ามากขึ้น

การผลิตของเราก็ยังพึ่งพาแรงงานอยู่พอสมควร ต้องใช้คนกับเครื่องจักรคู่กัน การบริหารจัดการความปลอดภัยของพนักงานในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่การมาของ COVID-19 ก็ทำให้เราได้ทำสิ่งที่เรสไม่เคยคิดจะทำมาก่อน แถมยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการ Transform ให้เกิดขึ้นได้ใน 6 เดือน จากเดิมที่คิดไว้ว่าน่าจะใช้เวลาสัก 3 ปี

ก่อนนี้ไม่เคยคิดเลยว่าเราจะคุมคนงานที่พระประแดงและมหาชัยผ่านการประชุมออนไลน์ได้อย่างไร เรายังต้องมีการเดินทาง ประชุมสินค้าคงคลัง วางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบ แต่ COVID-19 ทำให้เรารู้ว่าเราสามารถประชุมออนไลน์ได้ ลดการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่เราต้องเสียไปกับการเดินทาง”

Business: เจอจุดบอดอะไรในธุรกิจที่น่าเป็นห่วงบ้างไหม

คุณเอื้อมพร: “ไม่ใช่แค่กับแฟซิฟิกไพพ์ แต่ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเราถูกโปรโมทน้อยเกินไป ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ เพื่อนบ้านเรามีอุตสาหกรรมต้นน้ำกันหมดแล้ว แต่เรามีแค่อุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ ก็เข้าใจด้วยข้อจำกัดของสิ่งแวดล้อม แต่หากพูดถึงการเติบโตกับการพัฒนาและการค้นคว้าวิจัยก็ยังน้อยไป องค์ความรู้ที่จะนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ยังน้อยอยู่

เราอาจจะเห็นว่า Smart Industry อื่น ๆ มีการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้กันเยอะ แต่เราลืมไปว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน การจะมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ ถนน หรือ Infrastructure ทุกอย่าง เราใช้เหล็ก หากอุตสาหกรรมพื้นฐานไม่ได้ถูกโปรโมตหรือสนับสนุนน้อยไป เราก็จะเจอปัญหาเหมือนที่จีนเข้ามาปั่นราคาในตลาด

ตรงนี้เราถือว่า COVID-19 ให้โอกาสเรา เพราะเมื่อปิดประเทศก็เกิดการสนับสนุนให้ใช้ของในประเทศ Made in Thailand ขึ้นมา รัฐบาลเองก็เริ่มเห็นความสำคัญแม้เหล็กต้นน้ำจะไม่ได้ผลิตในประเทศไทย แต่ผู้ผลิตหลัก ๆ ก็คือผู้ผลิตในประเทศไทย อย่างน้อยก็ยังเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศได้”

Business: เท่ากับว่าอยากให้ภาครัฐมองอุตสาหกรรมเหล็กเต็มตามากขึ้น เพื่อปูทางไปสู่การเติบโต คุณเอื้อมพรวางแผนไว้อย่างไร

คุณเอื้อมพร: “แน่นอน ทุกคนที่ทำธุรกิจอยากเติบโต ในมุมของเรา ระยะยาวเราอยากเติบโตแบบยั่งยืน เพราะเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเยอะมาก เราอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต เราอยู่ในชุมชน มีพนักงานที่ต้องดูแลกว่าพันคน สิ่งที่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องคือองค์ความรู้เรื่องคน

เรารับตำแหน่งมาด้วยธีม Transformation วิสัยทัศน์ของเราคืออยากเป็นมากกว่าเหล็ก เป็น Total Solution กลยุทธ์เราไม่ได้มองแค่ระยะสั้น เรามองสั้น กลาง ยาว และให้ความสำคัญกับโครงการที่ไม่เหมือนกัน หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นช่วงของการเรียนรู้และการปรับตัว

โดยก่อนที่เราจะไปปรับอะไร เราต้องเรียนรู้ก่อนว่าพื้นฐานของเราอยู่ตรงไหน ความสามารถ ความชำนาญชองเราคืออะไร จนเกิดเป็น Passion ทั้ง 3 ระยะ ระยะยาวในการขับเคลื่อนองค์กรก็คือ ทำให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เรากำลังพูด Learning Organization

ถ้าคนเราไม่เปลี่ยน ไม่มี Mindset ในการเรียนรู้ตลอดเวลา เราก็ปรับองค์กรไม่ได้ เพราะพนักงานหรือทีมงานไม่เกิดการเรียนรู้เราจึงทำให้ในระยะสองติดอาวุธทางความคิดให้กับทีมงาน เพื่อให้พร้อมที่จะปรับกระบวนการ ปรับวิธีคิด สร้างตลาดใหม่ ๆ หา Solution ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่ซัพพลายเออร์ท่อเหล็ก”

Business: ‘ไม่ใช่แค่ซัพพลายเออร์ท่อเหล็ก’ แต่เป็นมากกว่านั้น?

คุณเอื้อมพร: “ถูกต้อง วันนี้แปซิฟิกกำลังก้าวไปสู่ Steel Material เราไม่ใช่แค่ท่อ เราเป็นวัสดุ จริง ๆ เพราะลูกค้าอาจจะไม่อยากได้เหล็ก ลูกค้าอาจจะอยากได้สะพาน อยากได้อาคารหนึ่งหลัง และวัสดุทางเลือกก็มีอยู่เยอะมาก ถ้าเรายังจมอยู่กับความเป็นเหล็ก เราอาจจะไม่ยั่งยืนและเติบโตได้แค่ในระยะสั้น

ตอนนี้พื้นฐาน (Foundation) ของเราอาจจะต้องดูเรื่องของวัสดุ ดูเรื่องของสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเชน ต้องจับตลาดให้ทัน นี่เห็นเหตุผลที่ในระยะสั้น เราพยายามปูพื้นเรื่องคน สร้าง Mindset ในการเรียนรู้ เพื่อให้ทีมงานต่อยอดไปยังการสร้างตลาด สร้างทำความเข้าใจกับลูกค้า เพื่อที่ในอนาคตเรา Provide อะไรให้ได้มากกว่าท่อเหล็ก”

Business: Mindset ที่ถูกยกระดับแล้วของพนักงานควรจะเป็นแบบไหน?

คุณเอื้อมพร: “อย่างที่บอกคือ พนักงานของเราต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นแค่ผู้ผลิตท่อเหล็ก เขาต้องสื่อสารให้ได้ว่าสิ่งที่กำลังมอบให้ลูกค้าคือ Solution ใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เพราะเหล็กคือรากฐานของสะพาน อาคาร บ้าน ถนน การปรับ Mindset จะทำให้พนักงานหรือทีมงานสื่อสารออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มอบการรับรู้ถึงผู้บริโภคกว้างและมากขึ้น

รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ปรับกระบวนการ Lean Process ลดสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในการผลิตให้มีประสทิธิภาพมากขึ้น แล้วกลับมาดูว่าเราจะตอบโจทย์อะไรกับอุตสาหกรรม ตอบโจทย์อะไรกับการแข่งขัน และตอบโจทย์อะไรกับลูกค้าได้บ้าง”

แผนการ Transformation ของคุณเอื้อมพร ชัดเจนและตรงไปตรงมา ทำให้เราเชื่อหมดใจว่า บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP โฉมใหม่หลังจากที่ถูกปรับเปลี่ยนติดอาวุธพร้อมรบแล้ว จะมีการเติบโตที่น่าจับตามอง และทำให้ Steel Material ของประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งผู้บริโภครายย่อยในประเทศ เปลี่ยนการรับรู้ให้เลือกสรรเหล็กคุณภาพอย่างผลิตภัณฑ์ของแปซิฟิกไพพ์ และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

Work life Integration แนวทางทำงานนายหญิงแห่ง PAP

Business:  ขอทำความรู้จักคุณเอื้อมพรในมุมส่วนตัวบ้าง การเป็นซีอีโอหญิงที่ประสบความสำเร็จยากไหม?

คุณเอื้อมพร: “ไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ และไม่ชอบให้ใครมาพูดว่าเราเป็นหญิงแกร่ง หญิงเหล็ก มุมประสบความสำเร็จที่น้อง ๆ เห็นอาจจะเป็นเฉพาะมุมที่น้องได้เห็นแค่เรื่องดี ๆ มากกว่า เพราะจริง ๆ ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหาร เราแค่ทำงานด้วยความสนุก อยากทำ มี Passion ที่จะทำ ก็เลยทำ”

Business:  แค่ทำให้เต็มที่แล้วสนุกกับงาน?

คุณเอื้อมพร: “และต้องเตรียมความพร้อมด้วย เพราะบางสถานการณ์ หากมันถึงเวลาเราก็ต้องพร้อมเพื่อที่จะลงมือทำ และต้องทำให้ดีที่สุด โชคดีที่เราโตมาจากพนักงานตัวเล็ก เราได้เปรียบตรงที่ผ่านงานมาหมด ทำให้เราได้เปรียบในการดูเรื่องการขับเคลื่อนองค์กร”

Business:  พนักงานแอบบอกว่าคุณเอื้อมพรดุ

คุณเอื้อมพร: “อาจใช่ เพราะบุคลิกเราดูโหดมาก (หัวเราะ) แต่จริง ๆ เราเป็นคน Human มากนะ คนที่บอกว่าดุก็มี แต่ในบางครั้งก็มีคนที่บอกว่าเรา Sensible (อ่อนไหว) เหมือนกัน

Business:  มีวิธีจัดสมดุลชีวิตอย่างไร

คุณเอื้อมพร: “เราไม่เชื่อใน Work Life Balance เพราะมันไม่มีทางบาลานซ์อยู่แล้ว สิ่งที่ทำคือ ทำ Work ให้เป็น Life ทำให้มันอยู่ด้วยกัน มันจะเป็นเหมือนตาชั่งที่แบ่งการทำงานกับชีวิตเป็นสองฝั่ง แต่เราต้องทำงานให้มันสนุก ทำงานแบบเหมือนไม่ใช่งาน เพราะงานคือชีวิต ถ้าคุณแยกงานออกจากชีวิตแสดงว่าคุณทำงานแบบไม่มีชีวิตน่ะสิ?!”

Business: แสดงว่าคุณเอื้อมพรเป็นคนที่เอเนอจี้เยอะมาก

คุณเอื้อมพร: “ใช่ จนน้อง ๆ ถามว่าเราเอาพลังมาจากไหน เพราะว่าเราสนุกทุกวัน เราไม่ได้แยกว่าตอนนี้เวลางานนะ ห้ามพัก หรือตอนนี้เวลาพักนะ ห้ามทำงาน มันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเรา เพราะเราเชื่อว่ามันอยู่ด้วยกันได้เมื่อมันเหมาะสม และทำให้มันไม่กดดัน มันเป็นสไตล์ของแต่ละคน เราเชื่อว่ามันเป็น Work Life Integration ไม่ใช่ Work Life Balance

“เราเชื่อว่าการทำงานและการใช้ชีวิตเป็น Work Life Integration ไม่ใช่ Work Life Balance”

 Business: มีบุคคลแบบอย่างหรือไอดอลในการใช้ชีวิตไหม”

คุณเอื้อมพร: “ไม่ค่อยมี อาจจะเพราะเชื่อมั่นใจตัวเองสูง แต่หากถามเรื่องไอดอล น่าจะเป็นการชอบนิสัยหรือวิธีการคิดของคนนั้นคนนี้มากกว่า แต่ไม่ได้ยึดมาเป็นไอดอล อย่างการที่สังคมบอกว่าคนนี้คนนั้นเป็นไอดอล เราก็คิดว่าไม่ใช่ทั้งหมด เราชอบครีเอทไอดอลเอง เช่น ชอบนิสัยคนนี้ ชอบแนวคิดคนนั้น แม้ความจริงพอรวมกันอาจจะประหลาด แต่มันเหมาะกับเรามากกว่า

และพอมาทำงานสายบริหาร ก็ทำให้เราชอบอ่านชีวประวัติของคนหลายแบบ ศึกษาสไตล์การทำงาน เราชอบเรียนรู้จากคนอื่น และไม่เคยอยู่ในคอมฟอร์ตโซน เราพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อนใหม่ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนมาอยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กจากอุตสาหกรรมไอที นั่นเพราะเรามี Passion เราอยากเอาประสบการณ์ที่เรามีทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการบริหารมาทำให้อุตสาหกรรมเหล็กมันเซ็กซี่ขึ้นมาได้ในเส้นทางของมันเอง

คนที่เป็นแบบอย่างจริง ๆ ก็คือพ่อแม่ พ่อแม่เราไม่ได้ดีที่สุด แต่เราชอบที่เขาไม่ค่อยสอน ให้อิสระกับเราในการเรียนรู้เอง ที่เราเป็นทุกวันนี้ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณครอบครัวที่หล่อหลอมให้เรากล้าคิด กล้าตั้งคำถาม และดื้อได้ แต่เรายังรู้ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร

Business: แนวคิดที่บอกกับคนรุ่นใหม่

คุณเอื้อมพร: “เด็กรุ่นใหม่เก่งมาก เราไม่กล้าสอนเลยเพราะน้อง ๆ เก่งกว่าเราเยอะ แต่อยากจะแบ่งปันชวนให้คิดว่า สิ่งที่คนรุ่นเก่ามีคือประสบการณ์ เราผ่านอะไรมาเยอะทั้งดีและไม่ดี และความรู้ที่บางอย่างก็ล้าสมัยแล้ว แต่คนรุ่นเก่าต้องไม่หยุดพัก ต้อง Keep Up ในการเรียนรู้และทำอะไรใหม่ ๆ

ส่วนน้องใหม่ ๆ นั้นมาด้วย Passion มาด้วยทักษะความรู้แห่งโลกอนาคต สิ่งที่ยังน้อยอยู่คือประสบการณ์ และโดยส่วนตัวเชื่อว่าประสบการณ์มันไม่มีทางลัด เพราะฉะนั้น ถ้าจะอยู่ด้วยกันได้ คนหนึ่งต้องแบ่งปันประสบการณ์กับน้อง ๆ ฝั่งผู้ใหญ่เองก็ต้องเรียนรู้สกิลใหม่ ๆ วิธีคิดใหม่ ๆ จากน้อง ๆ จึงจะอยู่ด้วยกันได้

เราจะคอยแตะเบรกหรือแชร์ประสบการณ์ให้ เป็นกระจกมองหลังให้ แต่น้องต้องมองไปข้างหน้า เหมือนเราขับรถที่ต้องมีทั้งกะจกหน้า กระจกข้าง และกระจกหลัง คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าอยู่ด้วยกันได้แค่ต้องมี Mindset ที่เปิดกว้างและแชร์กัน ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิด

สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ง่าย ๆ Simple เพราะความฝันกับความจริงมันต่างกัน เราไม่ได้ทุกอย่างตามความฝันหรอก แต่ความจริงคือสิ่งที่เราเจอ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ความฝันเราเกิดขึ้น เราต้องทำวันนี้ให้ดี แล้วทุกคนจะไม่ไกลจากความฝัน”