5 ปัจจัย ทำไมค้าปลีกไทยสดใสในเวียดนาม

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและแรงสนับสนุนของภาครัฐต่อการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติ (FDI) ทำให้เวียดนามกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองเพิ่มขึ้น

ผู้เขียน : Santa Claus

หลังรัฐบาลเวียดนามแก้ไขกฎระเบียบให้ง่ายต่อการทำธุรกิจ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% และเพิ่มมาตรการพิเศษหลายข้อ เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มในเวียดนาม และหนึ่งในสาขาธุรกิจที่นับว่าน่าสนใจมากที่สุด นั่นคือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade  เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคกว่า 90 ล้านคน

 

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม ระบุว่า มูลค่าการค้าปลีกของเวียดนามในช่วงต้นปี 2559 สูงขึ้นถึง 5% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คาดการณ์ว่าตลาดค้าปลีกเวียดนามจะมีมูลค่าสูงถึง 179,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563

 

หากพิจารณาในภาพรวม การค้าปลีกรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน คิดเป็น 25% ของการค้าปลีกทั้งหมด ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปเพียง 3.4% ข้อมูลดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจค้าปลีกเวียดนามยังมีอนาคตมากทีเดียว โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศไทย หลังก่อนหน้านี้เกิดกระแสต่อต้านค้าปลีกจากไทยว่า กำลังจะเข้าไปครอบงำตลาดและวิถีชีวิตของคนเวียดนาม

 

5 เหตุผลสนับสนุนการเติบโต

ข้อมูลจากศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า
1.ปัจจัยสนับสนุนแรกที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตรับธุรกิจค้าปลีกมาจากสังคมเมือง (Urbanization) ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงถึง 6.68% ขณะที่รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นแรงหนุนให้เกิดการขยายตัวของตลาดการค้าการลงทุนในภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงตลาดค้าปลีกขนาดกลาง

 

2. ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของเวียดนามยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ปัจจุบัน เวียดนามมีห้างค้าปลีกสมัยใหม่ประมาณ 155 แห่ง ในจำนวนนี้ 110 แห่งเป็นการลงทุนของบริษัทผู้ค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนตั้งแต่ปี 2552 แล้ว ตลาดค้าปลีกจึงยังมีพื้นที่ให้เติบโตในเวียดนาม

 

3. คนเวียดนามมีกำลังซื้อ รายได้ต่อหัวของชาวเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 10% ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2,108 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 74,000 บาท ชนชั้นกลางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 60 ของประชากรเวียดนามอยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่แนวโน้มจับจ่ายใช้สอยมากในตลาดค้าปลีก
อีกตัวอย่างที่สะท้อนกำลังซื้อคนเวียดนามดูได้จากสถิติการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ เมื่อปี 2558 ทางการเวียดนามจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่เฉลี่ย 8,000-20,000 คันต่อเดือน จดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลใหม่ 6,000-8,000 คันต่อเดือน คาดว่าในปี 2563 กรุงฮานอยจะมีปริมาณรถจักรยานยนต์ 7 ล้านคัน และมีรถยนต์วิ่งถึง 1 ล้านคัน

 

4. คนเวียดนามพร้อมจ่าย หากคุ้มราคา สะท้อนรสนิยม และใส่ใจปลอดภัย กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเวียดนามหันมาเลือกซื้อสินค้าคุณภาพ (Higher Value for Money) และพร้อมจ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่ตอบสนองต่อรสนิยมและคำนึงถึงความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจำพวกความงามและสุขภาพ และสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ใช้บริการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ล่าสุด กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปซื้อหุ้น Zalora เพื่อบุกตลาดค้าปลีกออนไลน์ในเวียดนามแล้ว
“ชาวเวียดนามใส่ใจความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น เนื่องจากวิตกว่าอาหารสดจากโรงงานในเวียดนามอาจไม่ได้มาตรฐาน ทำให้บริษัทอาหารสดจากต่างชาติจำนวนมากเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เพราะต้นทุนต่ำ บริษัทอาหารสดในเวียดนามหลายแห่งได้เลือกร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทต่างชาติเพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้ได้คุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”

 

5. สินค้าไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยม พูดถึงมาตรฐานและคุณภาพ สินค้าไทยได้เปรียบในเวียดนาม เพราะมีภาพลักษณ์ที่มีคุณภาพ คุ้มราคา สินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยเป็นที่นิยมมาก หลายยี่ห้อเข้าไปวางขายในตลาดค้าปลีกเวียดนามกว่า 20 ปี ทำให้ปัจจุบัน สินค้าไทยมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 50%

 

ภาพรวมสะท้อนทั้งหมด ชี้ให้เห็นถึงการยอมรับสินค้าไทยจากคนเวียดนาม ถือเป็นข้อได้เปรียบ อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยย่อมมีคู่แข่ง แต่ดูเหมือนว่า Loyalty ที่ถูกยอมรับมากที่สุด คือ โอกาสที่มากกว่าคู่แข่งเช่นกัน