จับตาเบียร์คราฟท์ : ธุรกิจเกิดใหม่ของเวียดนาม โอกาส 2 เด้งของผู้ผลิตเบียร์ไทย

จับตาเบียร์คราฟท์ : ธุรกิจใหม่ของเวียดนาม โอกาส 2 เด้งของผู้ผลิตเบียร์ไทย  (ตอนแรก)

เขียนโดย กฤษฎาพร วงศ์ชัย

ในขณะที่ประเทศไทย กำลังถกเถียงกันไม่รู้จบเกี่ยวกับประเด็น เบียร์คราฟท์ ที่ติดพันข้อกฎหมายจนอยากที่จะผลักดันอุตสาหกรรมนี้ นครโฮจิมินห์ เวียดนามก็แซงหน้าและสถาปนาตนเองให้เป็นดั่งเมืองหลวงของผู้ชื่นชอบดื่มเบียร์คราฟท์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อย แถมสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ แถมยังอ้าแขนรับให้ผู้ผลิตเบียร์จากทั่วโลกให้เข้ามาใช้เป็นฐานการผลิตอีกด้วย

เมื่อพูดถึงเวียดนาม นอกจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดจวนเจียนจะแซงหน้าพี่ไทยเราไปหลายอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมดาวเด่นที่ต้องพูดถึงก็คืออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2560 ชาวเวียดนามบริโภคเบียร์ถึง 4.1 พันล้านลิตร หรือราว 43 ลิตรต่อ 1 คน นับเป็นลำดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย ตามหลังญี่ปุ่นและจีน และมียอดขายทั้งหมดกว่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 อัตราการบริโภคเบียร์ของชาวเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 พันล้านลิตร เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8/ปี ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนชั้นกลางซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรที่มีมากกว่า 94 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์เป็นที่ดึงดูดของนักลงทุน

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

เมื่อตลาดเบียร์เวียดนามหอมหวานแบบนี้ผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Thai Beverage ก็ไม่น้อยหน้าเดินเกมส์ได้เข้าซื้อหุ้นมูลค่า 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัท Sabeco ผู้ผลิตเบียร์ยอดนิยมในภาคใต้ของเวียดนามอย่างเบียร์ Saigon และเบียร์ 333 ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดเบียร์ภายในประเทศกว่าร้อยละ 41

แต่ที่เห็นจะได้รับความนิยมสุดๆกลับไม่ใช่เบียร์ที่ผลิตโดยบริษัทยักษ์ใหญ่แต่กลับเป็น เบียร์คราฟท์ (เบียร์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตรายเล็กและใช้ขั้นตอนการผลิตแบบดั้งเดิม จึงมีคุณภาพสูงและรสชาติที่แปลกใหม่) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเขตภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองหลวงทางเศรษฐกิจอย่างนครโฮจิมินห์

 

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

โฮจิมินห์ เมืองหลวงของ เบียร์คราฟท์ แห่งอาเซียน

การผลิตเบียร์คราฟท์ในโฮจิมินห์ต้องบอกว่าไม่ได้มาเล่นๆ เพราะขนาดที่ว่าสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN และวารสาร Journal. Beer ยังรายงานว่า ปัจจุบัน นครโฮจิมินห์ได้สถาปนาตนเองเป็นดั่งเมืองหลวงของผู้ชื่นชอบดื่มเบียร์คราฟท์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว เพราะมีผู้ผลิตเบียร์คราฟท์มากกว่า 20 ราย และสามารถพบเห็นเบียร์คราฟท์ในร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนอย่างแพร่หลายทั่วทุกแห่งในนครโฮจิมินห์ รวมถึงนครดานัง ซึ่งเป็นเมืองสำคัญด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของเวียดนามอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเบียร์คราฟท์สดประเภท IPA, Stout, Blonde, Pilsner, Wheat Ale, Cider และอื่นๆ กว่า 20 ชนิด ตลอดจนเบียร์คราฟท์กระป๋อง/ขวดที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก

เมื่อพูดถึงเรื่องราคา เบียร์คราฟท์ในเวียดนามตั้งราคาขายไว้เพียง 80,000 – 100,000 ด่ง (120 – 150 บาท)/ ไพนท์ ซึ่งต่ำกว่าไทยเกือบ 2 เท่า เนื่องจากไม่ต้องผลิตในต่างประเทศและนำเข้ากลับมาขายใหม่เหมือนผู้ประกอบการไทย และมีรสชาติที่ผ่านการปรุงแต่งมาเป็นอย่างดี โดยร้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อาทิ Pasteur Brewing Street, Heart Of Darkness, BiaCraft, Winking Seal และ East West Brewing

ในตอนแรกนี้ทำความรู้จักกับตลาดเบียร์คราฟในโฮจิมินห์ให้พอหอมปากหอมคอ และในต่อต่อไปเราจะพาทุกท่านไปแสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมเบียร์คราฟในโฮจิมินห์กันว่า เค้กชิ้นโตที่รออยู่นั้นจะหอมหวานจริงหรือเปล่า

เบียร์คราฟท์ เวียดนาม

ที่มา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ