thebusinessplus

‘เวียดนาม’ ยังเป็นจุดหมายการลงทุน เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศฟื้นสู่ 1 ล้านล้านบาท!! หันกลับมามอง ‘ไทย’ ต้องแก้ 5 จุดบกพร่องอย่างเร่งด่วน

เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่า ‘เวียดนาม’ เป็นประเทศที่เก่งในเรื่องของการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากปัจจัยภายในที่โดดเด่นหลายอย่าง ทั้งเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทักษะและคุณภาพแรงงานสูง เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และสิ่งสำคัญคือมีค่าแรงต่ำ

ในช่วงที่ 2 ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง สหรัฐฯ และจีน เปิดสงครามการค้าก็ทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตออกจากจีน และมีจุดมุ่งหมายถัดมาคือเวียดนาม

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ SCB เคยเผยข้อมูลว่า สัดส่วน FDI ที่ไหลเข้าเวียดนามในปี 2553 คือ 16% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ไหลเข้า 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (เวียดนาม ,ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์) และเพิ่มเป็น 25% ในปี 2562

สวนทางกับไทยที่ FDI ในปี 2553 มีสัดส่วน 29% ก่อนจะลดลงมาเหลือเพียง 10% ในปี 2562 โดยที่ FDI ซึ่งไหลเข้าเวียดนามเริ่มแซงประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2557

นอกจากนี้ ‘Business+’ ยังพบว่า แม้เวียดนามจะเจอกับการแพร่ระบาดที่ควบคุมยากของโควิด-19 ในปี 2564 แต่กลับไม่ได้ทำให้เวียดนามน่าสนใจในการเข้าลงทุนน้อยลงเลย .

โดย ‘สถาบันวิเทศสัมพันธ์แห่งสิงคโปร์ (SIIA)’ ระบุว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจในการลงทุน แม้ปัญหาการคุมโควิด-19 ในปี 2564 จะกระทบต่อการบริโภค กิจกรรมการผลิต และห่วงโซ่อุปทานไปยังตลาดส่งออก

สาเหตุเป็นเพราะมุมมองในระดับมหภาคแล้ว เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวได้ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด เห็นได้จากการค้ายังคงแข็งแกร่งช่วง 5 เดือนแรกของปี มูลค่าการค้ารวมของสินค้าเวียดนามเพิ่มขึ้น 33.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน

ขณะที่มูลค่าการส่งออก 10 เดือนแรกของเวียดนามมีมูลค่า 267,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

โดยมูลค่าการส่งออกของภาคการผลิตและแปรรูปมีมูลค่า 238,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นถึง 17.3% ด้านเชื้อเพลิงและแร่ปรับตัวขึ้น 16.6% และผลิตภัณฑ์ทางการเกตร ป่าไม้เพิ่มขึ้น 15.1%

และหากมองเฉพาะเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา การนำเข้าเวียดนามลดลง 1.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน “นั่นส่งผลให้เดือนตุลาคมเวียดนามเกินดุลการค้า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” ถึงแม้ภาพรวม 10 เดือนจะยังขาดดุลการค้า แต่ก็มีสัญญานที่ค่อนข้างดี

นอกจากนี้ จุดเด่นของการส่งออกเวียดนาม คือ การมีข้อตกลงทางการค้าจำนวนมาก ปัจจุบันเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับกับ 53 ประเทศ (ส่วนไทยมี FTA ทั้งหมด 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ) โดยเวียดนามมี FTA ที่โดดเด่น คือ

CPTPP เป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ครอบคลุมการค้า การบริการ และการลงทุน รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ (ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา)

RCEP ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วย อาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และนอกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลน เป็นความตกลงทางการค้าที่เปิดกว้างที่สุด ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะการลดภาษีสินค้านำเข้าสูงที่สุดถึง 99% ของสินค้าทั้งหมด (ไทยเข้าร่วมแล้ว มีผล 1 ม.ค. 2565)

EVFTA ความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป โดยข้อตกลงนี้จะทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งลงทุนแห่งใหม่จากเหล่าประเทศที่ต้องการออกจากจีน รวมถึงการเปิดเสรีการค้าเกือบ 100% จะทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกสูงขึ้น ดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ และหนุนเศรษฐกิจเติบโต และเป็นผลเสียของไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และจะถูกชิงส่วนแบ่งการตลาดไปในที่สุด

มาดูมุมมองของ นักเศรษฐศาสตร์กันบ้าง พวกเขามองว่าในปี 2564 เวียดนามจะยังคงดึงดูด FDI ได้ประมาณ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 990,000 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท) เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปี 2563 มีมูลค่ารวม 28,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 940,500 ล้านบาท) และในปี 2562 เวียดนามมี FDI มูลค่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.25 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

สาเหตุของการฟื้นตัวของ FDI มาจากสภาพแวดล้อมการลงทุนของเวียดนามในระยะยาวมีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ของอาเซียน เนื่องจากเสถียรภาพทางการเมือง รวมทั้งนโยบายพิเศษของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยี

เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจด้านการลงทุน เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้ง FTA ที่เวียดนามลงนามกับประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลของเวียดนามได้มีนโยบาย และข้อบังคับทางกฏหมายสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมสนับสนุน

หากเราย้อนกลับมามองไทย จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา เรายังมีจุดอ่อนหลายข้อด้วยกันที่ทำให้ความน่าสนใจของเราน้อยกว่า ซึ่งเราจะพูดถึง 5 ข้อหลัก ๆ ที่ไทยควรปรับปรุง

ข้อที่ 1 : เสถียรภาพทางการเมือง และความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่ำ

ข้อที่ 2 : โครงสร้างภาคการผลิตยังเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำให้การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้น้อย

ข้อที่ 3 : แรงงานขาดแคลน จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นำไปสู่การขาดแคลนแรงงานวัยทำงานในอนาคต

ข้อที่ 4 คุณภาพแรงงานของไทยยังต่ำ มาจากทักษะแรงงานที่ยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลก สาเหตุเป็นเพราะแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ

ข้อที่ 5 : การบริหารจัดการภาครัฐ ความยั่งยืนทางการคลังยังคงน่าเป็นห่วง เกิดจากโครงสร้างภาษีค่อนข้างแคบ รวมถึงโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐขาดความยืดหยุ่น รวมถึงความล้สมัยของกฏระเบียบและกระบวนงาน

หากไทยสามารถปรับปรุงและพัฒนาครบทั้ง 5 ข้อได้ ก็จะทำให้เรากลับมาได้รับความสนใจจากต่างชาติอีกครั้ง และส่งผลดีต่อตัวเลขเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อการพัฒนาตัวเองจนหลุดพ้นประเทศกำลังพัฒนา

สืบค้นข้อมูล เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ,ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ SCB

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เวียดนาม #เศรษฐกิจ