กรุงเทพธนบุรี The Leader of Education

หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีท่วงทำนองการเดินทางที่น่าทึ่งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยหากไม่มีชื่อของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีคงจะเป็นไปไม่ได้

นับตั้งแต่ยกระดับมหาวิทยาลัยขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษาเต็มรูปแบบเมื่อปี 2552 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีเส้นทางการเดินที่เหมือนเป็นดั่งภารกิจสำคัญเพื่อชาติเพื่อประเทศ เพราะหากดูการพัฒนาในทศวรรษแรกของมหาวิทยาลัยช่วงปี 2547-2556 จะเห็นว่าพวกเขามุ่งเน้นการปรับโครงสร้างทางกายภาพเป็นสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการขยายคณะสำหรับการเรียนการสอน อาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก ตรงนี้เปรียบได้ดั่ง ‘ฮาร์ดแวร์’ และทศวรรษที่สองในช่วงปี 2557-2566 ได้เดินหน้าเข้าสู่การปรับโครงสร้างทางวิชาการเพื่อรองรับตลาดแรงงานในอนาคตที่เปลี่ยนไปซึ่งตรงนี้เปรียบดั่ง ‘ซอฟต์แวร์’

 

คณะแพทยศาสตร์ การยกระดับ ‘ซอฟต์แวร์’ การศึกษาครั้งสำคัญ

เหลือเวลาอีก 2 ปี ภารกิจยกระดับ ‘ซอฟต์แวร์’ ของประเทศกำลังจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำของมหาวิทยาลัยอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ทำงานหนักน้อยลงแต่อย่างใด เพราะทางมหาวิทยาลัยก็ได้มีการเปิดตัวก้าวย่างใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไปอีกขั้นอยู่เสมอ และหากใครจำกันได้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 นั้น ทางมหาวิทยาลัยได้มีการเปิดตัวคลินิกทันตกรรม โครงการเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ (โดยคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี รับการตรวจเยี่ยมเพื่อพิจารณาเห็นชอบหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์และรับรองสถาบัน ปีการศึกษา 2564 จากทันตแพทยสภา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564) และโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี ไปพร้อมคำมั่นสัญญาที่ว่า

 

“ภายหลังการวางแผนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดการศึกษาระดับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ตามเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจะจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเต็มรูปแบบภายในปี 2564 คลินิกทันตกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นสถานทันตบริการที่มีอุปกรณ์ทันสมัย อาทิ เครื่องเอกซเรย์สามมิติสำหรับถ่ายภาพได้ทั้งศีรษะสำหรับบริการศัลยกรรมความงาม เก้าอี้และเครื่องมือทำฟันที่ทันสมัย รับรักษาโรคฟัน และทำฟันทุกประเภท ทั้งการรักษาฟันขั้นพื้นฐาน การจัดฟัน การรักษาและทำรากเทียม และศัลยกรรมความงาม เพื่อก้าวไปสู่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยที่ทันสมัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร” รองศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวถึงย่างก้าวใหม่ของมหาวิทยาลัยในตอนนั้น

 

และสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นของผู้นำมหาวิทยาลัยอย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล ว่าทำงานอย่างหนักหน่วงเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ก็คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มีการเปิดตัวคณะแพทยศาสตร์ โดยคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้จัดงาน “Open House คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการเปิดบ้านหลังใหม่สู่ครอบครัว BTU” เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ และเตรียมพร้อมอย่างมุ่งมั่นในการผลิตนักศึกษาแพทย์ที่มีคุณภาพสู่สังคม ซึ่งใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom และ Facebook Live โดยมี รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวต้อนรับผู้บริหาร คณาจารย์ และแสดงความยินดีต่อคณะแพทยศาสตร์ผ่านคลิปวิดีโอในกิจกรรมในงานดังกล่าว ซึ่งหากดูจาก Timeline ที่ รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล ได้ตั้งเป้าหมายเดิมเอาไว้คือปี 2564 จะมีการประกาศเรื่องนี้ นี่คือสัญญาณของการผลักดันอย่างหนักของผู้นำเพื่อทำให้ภารกิจเพื่อชาติเพื่อส่วนรวมนี้บรรลุก่อนเป้าหมายอย่างยิ่งใหญ่

 

 

โดยในงานนี้ทางศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สารเนตร์ ไวคกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการเปิดคณะแพทยศาสตร์ว่า หลักที่เป็นหัวใจสำคัญของการเปิดคณะแพทยศาสตร์ในบริบทปัจจุบัน คือ การมีหลักสูตรการเรียนที่สอดคล้องตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหัวใจของการเป็นแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อรับใช้ชุมชน สังคม และประเทศชาติเป็นสำคัญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ คือ การตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันจำนวนแพทย์ที่ทำงานในฐานะแพทย์ และปฏิบัติงานด้านเวชกรรมนั้นยังมีน้อย เห็นได้จากสถานการณ์ของโรคโควิดในปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์มีความขาดแคลน

 

ประการต่อมาเพื่อตอบสนองนโยบายของแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ชุมชน แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งทั้งสองสาขานี้จะเป็นปัญหากับประเทศในอนาคต แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะสามารถดูแลผู้ป่วยที่มีการระบาดของโรคได้ ซึ่งทั้งสองสาขานี้เป็นจุดเด่นของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งเป็นที่มาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีที่ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ซึ่งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ได้ฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาในสาขาเหล่านี้

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ก็ได้มอบเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 12,660,000 บาท จัดซื้อที่ดินสร้างอาคารศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา เนื่องในการเปิดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มอบเงินบริจาคให้แก่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ในการจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างอาคารแพทยศาสตร์ศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยมี นพ.ชัยยศ เด่นอริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นผู้รับมอบเงินบริจาคดังกล่าว จำนวน 12,660,000 บาท ในการนี้ นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ดร.ณัฐวรรณ สาสิงห์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคณาจารย์มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

 

สิ่งแวดล้อมเทรนด์สำคัญที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยังได้มองเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะสภาวะโลกร้อนในวันนี้ทำให้โลกทั้งใบกำลังเจอกับวิกฤตทางธรรมชาติครั้งใหญ่แบบไม่เคยมีมาก่อน และมหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถาบันที่สำคัญเป็นอย่างมากที่จะผลิตบุคลากรที่มีความสามารถออกมาแก้ไขปัญหาด้านนี้ ทำให้สถาบันการศึกษาต้องมีส่วนร่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

โดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เปิดโครงการ “อว.ชวนอุดมศึกษารัก(ษ์)สิ่งแวดล้อม” โดยมี คุณณัฎฐา ชาญเลขา คณะทำงานโฆษกกระทรวง อว. ผู้แทนจากกระทรวง อว. คุณท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และคุณนุ่น ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ดารานักแสดงและ ผู้บริหาร ECOLIFE APP ให้เกียรติมาร่วมเปิดโครงการดังกล่าว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการให้ความรู้ ความเข้าใจ และเสริมสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา พร้อมเชิญชวนให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ร่วมกิจกรรมนำร่อง “BTU ชวนน้องรักษ์สิ่งแวดล้อม” ผ่านระบบออนไลน์แอปพลิเคชัน ECOLIFE ซึ่งนักศึกษาสามารถร่วมเล่นเกมปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก หรือส่งคืนขยะตามจุดทิ้งขยะที่เข้าร่วมโครงการ และกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมตามความสนใจมากมาย สร้างมหาวิทยาลัยที่ครบวงจร

 

รศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มกธ. ผู้ปลุกปั้นความเป็นมืออาชีพให้กับ มกธ.จนมีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ ท่านบอกเพิ่มเติมอีกว่า มกธ. ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของแหล่งความรู้ทางการศึกษา ที่นี่เสมือนอุทยานแห่งการเรียนรู้ กล้าพูดได้เลยว่าเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ทุกด้านที่ไม่ว่าใครเข้ามาก็ล้วนชื่นชอบเป็นอย่างมาก

 

ปัจจุบันหลังการเปิดตัว คณะแพทยศาสตร์ ตอนนี้ทำให้ มกธ. มีคณะและสาขาครบทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา คณะบัญชี คณะศึกษาศาสตร์ คณะดุริยางคศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ หรือเรื่องของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

 

“ในภาวะแบบนี้ วิทยาศาสตร์สุขภาพ นับเป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคณะอื่น ๆ เพราะเรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพจะเกี่ยวข้องกับคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเรามีครบ นักศึกษาพยาบาลจบไป 11 รุ่นแล้ว และปีการศึกษา 2565 มกธ. จะเปิดคณะแพทยศาสตร์รุ่นแรก ซึ่งผู้ปกครองและนักศึกษา เมื่อเห็นข่าวรวมถึงหลักสูตรของเราที่ดำเนินการมาแล้วต่างพึงพอใจเป็นอย่างมาก”

 

รศ.ดร.บังอร กล่าวว่า ระหว่าง 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราอยู่ในกระบวนการเตรียมความพร้อม ดีไซน์หลักสูตร หาสถาบันพี่เลี้ยง ซึ่งเราได้โรงพยาบาลในเครือของกรุงเทพมหานคร เป็นโรงพยาบาลที่รับลูกศิษย์ไปเรียนปี 4, 5, 6 ในชั้นคลินิกต่อไป นอกจากนี้ สาขาวิชาพยาบาลนักศึกษาของที่นี่ เมื่อเรียนอยู่ปี 3 ก็มีโรงพยาบาลมาจองตัว ทั้งโรงพยาบาลชั้นนำเอกชน และรัฐบาล จนบางครั้งมีไม่พอ เพราะเด็ก ๆ ได้ทุนชั้นนำจากโรงพยาบาลเอกชนขอจองตัว เพราะความเก่งของลูกศิษย์ มีความคล่อง เก่ง และมีวินัย

 

“เราเน้นเด็กเรียนแล้วต้องทำงานได้จริง ๆ  ต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ และสอนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเพื่อน ๆ ในห้องและคณาจารย์ บางทีเราเห็นเด็กบางคนเปราะบาง ไปเจอปัญหานิดหน่อยอยู่บนโลกใบนี้ไม่ได้ ลูกศิษย์เราเมื่อเรียนได้ความรู้แล้วต้องวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้ และต้องรู้เดาเหตุการณ์ในอนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

 

จุดเด่นอีกด้านของ มกธ. คือกลุ่มผู้เรียนที่มีความพร้อมมากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้มีงานทำแล้ว มีกิจการเป็นของตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ รัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่น

 

ถือเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมากในทุก ๆ มิติ ผู้เรียนในกลุ่มนี้สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ รุ่นหลังได้ เมื่อคนกลุ่มที่เพียบพร้อมด้วยหน้าที่ทางการงานมาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มกธ. แค่เติมองค์ความรู้ในด้านของวิชาการให้ เป็นการเติมเต็มในกระบวนการคิดทางทฤษฎีให้เขา ที่สำคัญหลายเรื่องคณาจารย์กับลูกศิษย์มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ซึ่งกันและกัน ลูกศิษย์รู้ในเรื่องของภาคปฏิบัติ อาจารย์มีในเรื่องทฤษฎีก็นำมาแชร์กัน นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

 

นอกจากนี้ มกธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนระดับปริญญาโท คณะทันตแพทยศาสตร์ เปิดในสาขาทันตแพทย์จัดฟัน ซึ่งสาขานี้ขึ้นชื่อว่าเปิดได้ยาก หากที่ใดอยากเปิดสอนต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาสอน และยังมีสาขาวิชาโลจิสติกส์ก็ได้รับความนิยมมาก ๆ นักศึกษาจบมาหลายรุ่น และทุกรุ่นก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสอนจริง ส่งปฏิบัติงานฝึกงานจริง ๆ เรียกว่าศึกษาได้ทั้งความรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน นักศึกษาที่จบการท่องเที่ยว การโรงแรม พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยจะให้ฝึกทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติงานจริง และภาคปฏิบัติมีทั้งแล็บในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย

 

“เราเริ่มต้นจากทำโรงเรียนพาณิชย์ โรงเรียนอาชีวะระดับ ปวช. – ปวส. สาขาบัญชี การตลาดคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพธุรกิจ ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าพระ เพชรเกษม 18 แล้วมาขยายตัวในปี 2540 เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีโพลีกรุงเทพ และยังมีช่างอุตสาหกรรม อยู่ต่างระดับฉิมพลี เส้นบรมราชชนนี นักศึกษาจบมาแล้วหลายพันคน เป็นเหตุให้เราต้องต่อยอด นี่เป็นจุดเริ่มต้นในปี 2545 ที่ได้รับอนุมัติให้เปิดการเรียนการสอน เป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก หลักสูตรเราจึงครอบคลุมทุกหลักสูตร”

 

ทุกวันนี้ มกธ.ให้ความสําคัญกับเรื่องสังคมผู้สูงอายุมาก ปัจจุบันในเมืองไทย มีตัวเลขผู้สูงอายุ 10 กว่าล้านคน เพื่อให้เป็นการดูแลผู้สูงอายุครบวงจรถูกต้องตามหลักวิชาการ ทาง มกธ. ได้จัดโครงการ “ซีเนียร์คอมเพล็กซ์” ขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ แพทยศาสตร์ และเทคนิคการแพทย์ ได้มาใช้เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติจริง ภายในซีเนียร์คอมเพล็กซ์จะเปิดสถานที่ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรโดยมีนักศึกษาให้การดูแล นั่นเท่ากับว่ามหาวิทยาลัยจะมีแหล่งฝึกงานอย่างครบถ้วน สมบูรณ์แบบ

 

ผู้เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจการศึกษา #กรุงเทพธนบุรี