เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงดันราคาน้ำมันพุ่ง ส่อแววทะลุ 100 เหรียญฯ เร็วๆ นี้!! แนะลดภาษีแทนตรึงราคา ลดค่าครองชีพประชาชน

ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2021 โดยข้อมูลล่าสุด (10 ก.พ.2022) น้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ขึ้นมาสู่ 89.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ด้าน Brent ขึ้นมาสู่ 91.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบดูไบขึ้นมาสู่ 89.56 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล

ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนสามารถขึ้นไปถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรลได้เร็ว ๆ นี้ หลัก ๆ แล้วสรุปได้ว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ

1. สถานการณ์ความตึงเครียดของรัสเซีย-ยูเครน และชาติมหาอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกับรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกจะทำให้เกิดปัญหากับ Supply (อุปทาน) ของตลาดน้ำมันโลกแน่นอน

โดย SCB CIO มองว่าผลกระทบจากแนวโน้มการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินรัสเซีย โดยชาติมหาอำนาจอย่างสหภาพยุโรปเสี่ยงประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนสูง โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของปริมาณการใช้ก๊าซของยุโรปในปี 2022

2. ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากสถานการณ์ COVID-19 มีทิศทางที่ดีขึ้น จากตัวเลขการเสียชีวิตทั่วโลกน้อยลง นอกจากนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่า สายพันธุ์ Omicron อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ COVID-19 เป็นเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไป และทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับความปกติ

ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 7% ในปี 2022 หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว

3. ปริมาณน้ำมันดิบลดลง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ประกาศตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ (สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ก.พ. 65) ลดลงแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 (ลดลงกว่า 4.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 410.4 ล้านบาร์เรล) ซึ่ง “เจพี มอร์แกน” คาดการณ์ไว้ว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent อาจทะลุขึ้นไปอยู่ในระดับ 125 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล ในอีกไม่ช้า เพราะกำลังการผลิตสำรองของโอเปคลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าไตรมาส 4 ของปี 2565 กำลังการผลิตสำรองจะลดลงเหลือเพียง 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

นี่คือ 3 สาเหตุหลักที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย Goldman Sachs คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยในปี 2565 ที่ 96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 81 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล และคาดการณ์ปี 2566 จะขึ้นไปอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล
เช่นเดียวกับธนาคารระดับโลกอย่าง “มอร์แกนสแตนลีย์” เชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบจะทะยานไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นย่อมทำให้ราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตาม เพราะถึงแม้ไทยจะสามารถขุดน้ำมันเองได้บางส่วน แต่ก็ต้องนำเข้าน้ำมันเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

ซึ่งราคาน้ำมันค้าปลีกย่อมปรับตัวขึ้นตามต้นทุนการนำเข้าน้ำมันในตลาดโลก และที่ผ่านมากระทรวงพลังงานมีมาตรการบรรเทาผลกระทบภาระค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

โดย ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ตรึงราคาน้ำมันขายปลีกเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่มีเพียง ปตท. และบางจาก เท่านั้นที่ให้ความร่วมมือตรึงราคาเอาไว้ที่ 29.94 บาท/ลิตร

ประเด็นที่น่าวิตกคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ โดยทั่วโลกเผชิญกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจลำบากยิ่งขึ้น

เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการผลิต ขนส่ง รวมไปถึงทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น (น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า) แน่นอนว่า ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เป็นภาระต่อผู้บริโภค

ซึ่งมาตรการที่รัฐดูแลระดับราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หลายฝ่ายมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบ และยังแนะนำให้ส่งเสริมการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันดิบ (ไทยนำเข้าเฉลี่ยถึง 90%) ซึ่ง 2 ข้อนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวมากกว่า

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : Thaioil , eppo

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อุตสาหกรรมน้ำมัน #น้ำมัน