เปิดใจ ‘ดร. สาธิต วิทยากร’มือปั้น ‘พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์’ ท้าชนยักษ์ ขึ้น Top 10

ถึงตัวเลขอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ในประเทศไทยจะเติบโตสดใสทุกปี แต่หากใครอยู่ในแวดวงนี้ จะรู้ดีว่า ธุรกิจนี้ “เหนื่อย” และ “ไม่ง่าย” เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่นับวันทวีความรุนแรงจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ และมาร์จิ้นที่ลดลงต่อเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แม้กระทั่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังปาดเหงื่อและแก้เกมด้วยการหันไปลุยในสนามอื่น

สำหรับ ดร. สาธิต วิทยากร ก็ยอมรับว่า การทำเฮลท์แคร์เป็นธุรกิจที่เหนื่อย แต่เขาก็เต็มใจที่จะต่อสู้ในสนามนี้อีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้ขอเปลี่ยนบทบาทจาก “มือปืนรับจ้าง” สู่การเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ด้วยการปั้น “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ลุยตลาด

 

และเชื่อหรือไม่ว่า เพียง 1 ปีกับการทำตลาดจากแบรนด์น้องใหม่ปลายแถว ปัจจุบันพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ สามารถขยับขึ้นมามีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 15 จาก 23 บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แถมยังคิดการใหญ่ หมายมั่นจะทะยานขึ้น Top 10 ภายใน 3 ปี อีกด้วย อะไรที่ทำให้เขามั่นใจ ไปฟังวิถีคิดที่ไม่ธรรมดานับตั้งแต่บรรทัดต่อจากนี้กันเลย

เหล้าเก่า… ในขวดใหม่ จากมือปืนรับจ้างสู่เจ้าของธุรกิจ

ชื่อของ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ อาจเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาด แต่คีย์แมนที่ชื่อ ดร. สาธิต นั้นไม่ใช่หน้าใหม่ ทว่าเป็นมือเก๋าในแวดวงเฮลท์แคร์ของเมืองไทยเลยทีเดียว โดยเส้นทางธุรกิจเฮลท์แคร์ของเขาได้เริ่มต้นขึ้นจากการทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพ นับตั้งแต่ปี 2537 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และรองผู้อำนวยการสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

กระทั่งปี 2556 ได้ผันตัวเองมาทำพร็อพเพอร์ตี้ของครอบครัว โดยตอนนั้นมีการติดต่อเชนโรงแรมหลายแห่งมาบริหารและเห็นว่าการบริหารโรงแรมมีรูปแบบที่ดี เมื่อผนวกกับประสบการณ์ในธุรกิจโรงพยาบาลมายาวนาน จึงจุดประกายความคิดที่จะต่อยอดนำโมเดลดังกล่าวมาปรับใช้ในธุรกิจโรงพยาบาล

“ผมไม่คิดว่าเราเข้ามาช้าเกินไป เพราะเฮลท์แคร์เป็นธุรกิจที่เติบโตไปได้เรื่อย ๆ สะท้อนได้จากมูลค่าตลาดธุรกิจเฮลท์แคร์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท ปีนี้คาดการณ์ว่าจะแตะ 200,000 ล้านบาท และสัดส่วนธุรกิจเฮลท์แคร์ต่อจีดีพี โดยอเมริกาธุรกิจเฮลท์มีสัดส่วนอยู่ที่ 11-12% ของจีดีพี ส่วนในไทยอยู่ที่ 5-6% ของจีดีพี ซึ่งถ้าเราเข้าสู่ตลาดสูงวัยเต็มตัว จะยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก” ดร. สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ย้ำ และเป็นเหตุผลสำคัญให้เขาตัดสินใจกระโดดลงมาเล่นในตลาดเฮลท์แคร์นี้อีกครั้ง

รุกด้วยโมเดล-จุดยืนที่แตกต่าง

แม้จะมีประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลมายาวนาน แต่เมื่อคิดจะสร้างธุรกิจเฮลท์แคร์ของตนเอง ดร. สาธิต บอกว่า เขากลับไม่คิดจะจับตลาดในระดับเดียวกัน เพราะเข้าใจดีว่า เกมการแข่งขันของสนามนี้ร้อนแรงสุด ๆ แถมเต็มไปด้วยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ดังนั้นย่อมไม่มีที่ว่างให้กับแบรนด์ผู้มาทีหลังหากไม่แตกต่างพอ

 

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จึงต้องหาจุดยืนและโฟกัสตลาดให้ชัดเจน โดยวางบทบาทตัวเองเป็นบริษัทรับจ้างบริหารโรงพยาบาล ด้วยการอาศัยจุดแข็งจากประสบการณ์ของตัวเองที่เคยอยู่ในธุรกิจโรงแรมมาก่อน

 

รูปแบบการบริหารจะมีทั้งการเข้าไปรับบริหารโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการมานานแต่ประสบภาวะขาดทุน และเข้าไปร่วมถือหุ้นกับโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว โดยจะเลือกโฟกัสกลุ่มลูกค้าระดับกลาง เพราะ ดร. สาธิต มองว่า เป็นตลาดใหญ่และมีช่องว่างอยู่ในตลาดอีกมาก เนื่องจากมีอีกหลายจังหวัดที่การเข้าถึงโรงพยาบาลเอกชนยังน้อย

 

“เราจะโตไปในพื้นที่ที่การเข้าถึงทางการแพทย์ยังไม่พอเพียง โดยจะวัดจากจำนวนโรงพยาบาลต่อพื้นที่ ซึ่งอย่างน้อยต้องมี 1 แห่งต่อจังหวัด โดยจากการสำรวจพบว่าบางจังหวัดยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนให้บริการ เช่น อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ ทำให้ผู้บริโภคต้องเดินทางไปรักษาในจังหวัดใหญ่ หรือใช้บริการโรงพยาบาลรัฐในจังหวัด”

 

ทั้งนี้ การเลือกโฟกัสตลาดระดับกลางในพื้นที่ที่การเข้าถึงทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอ ทำให้รูปแบบการให้บริการในสเต็ปแรกจึงเน้นรักษาโรคทั่วไปมากกว่ามุ่งรักษาโรคเฉพาะทาง ในระดับราคาที่เข้าถึงได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท

 

ส่งผลให้ 1 ปีกับการหวนคืนตลาดพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ สามารถแทรกตัวเป็นน้องใหม่ในตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือเปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1, โรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 จ.นครสวรรค์, โรงพยาบาลพิษณุเวช จ.พิษณุโลก, โรงพยาบาลสหเวช จ.พิจิตร และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ฮอสพิทอล สุวรรณภูมิ

 

“ถ้าเชนเขามีดีอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเปลี่ยนแบรนด์ให้คนสับสน เพราะชุมชนคุ้นชินกับโรงพยาบาลเดิมอยู่แล้ว เช่น ศิริราช แบรนด์ดีอยู่แล้ว อีกทั้งการสร้างแบรนด์ใหม่ให้คนรู้จักไม่ง่าย แต่ถ้ายังไม่มี เราจะใช้ชื่อพริ้นซิเพิล”

ไอทีคือ หัวใจขับเคลื่อน

นอกจากการวางโพซิชันนิ่งที่แตกต่างแล้ว พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ยังมุ่งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่มด้วย เพราะเชื่อว่า เทคโนโลยีเป็นหัวใจที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการมากขึ้น ยิ่งบริหารโรงพยาบาลระดับกลางก็ยิ่งต้องลีนมากที่สุด

 

สำหรับเทคโนโลยีที่พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ นำมาใช้นั้น ดร. สาธิต อธิบายว่า เบื้องต้นมี 4 ระบบ คือ

1. ระบบ HIS (Hospital Information System) ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งการทำ EMR (Electronic Medical Record) และ EPR (Electronic Patient Record) เพื่อนำข้อมูลคนไข้ตั้งแต่ประวัติการรักษา ผลแล็บ และใบรับรองแพทย์มาจัดเก็บในระบบ และเชื่อมโยงการใช้งานได้อย่างสะดวก ทั้งยังร่วมกับสตาร์ทอัพพัฒนาแอพพลิเคชันในชื่อ Human Centric เพื่อให้คนไข้สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจเลือดภาพเอ็กซเรย์ และนัดหมายแพทย์ได้ด้วย

 

2. ระบบ ERP เป็นระบบที่ช่วยให้กระบวนการจัดซื้อและการควบคุมสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพ

 

3. ระบบ HCM (Human Capital Management) เพื่อบริหารการจัดเวร และการทำ Self Service ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ยิ่งขึ้น

 

4. ระบบ Big Data Analytic เพื่อนำข้อมูลจากทุกระบบมาวิเคราะห์พื้นที่ความต้องการของชุมชนได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ความต้องการผู้รับบริการให้ตรงใจยิ่งขึ้น

 

ผลจากการมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้กล่าวได้ว่า พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กลายเป็นเชนที่มีประสิทธิภาพไอทีดีที่สุด โดยได้รับรองการใช้ไอทีทางการแพทย์ HIMSS EMRAM Stage 6 เป็นโรงพยาบาลแรกในไทย และสามารถลีนตัวเองได้มากทีเดียว โดยในส่วนจัดซื้อลดต้นทุนได้ประมาณ 10-15% ขณะที่ฝ่าย HR จากเดิมเฉพาะแลกเวรอย่างเดียว ต้องใช้คนดูแล 2 คนต่อ 1 โรงพยาบาล แต่ตอนนี้ทำทุกอย่างผ่านระบบ

ติดสปีด !! ขึ้น Top 10 ในปี 2020

ถึงวันนี้จะสามารถปักหมุดในตลาดในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่นี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะสิ่งที่เป็นความทะยานอยากของ ดร. สาธิต ในเวลานี้คือ การทำให้ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” ขึ้นเป็น Top 10 ภายในปี 2020 พร้อมกับก้าวสู่การเป็นศูนย์เฉพาะทางด้านมะเร็งและการให้บริการผู้สูงวัยภายใน 10 ปีจากนี้

 

เนื่องจาก ดร. สาธิต มองภาพตลาดเฮลท์แคร์ในอนาคตว่าจะก้าวสู่ยุคสังคมสูงวัย อีกทั้งมะเร็งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดด้วย แต่การจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ วิถีการดำเนินธุรกิจของพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ต่อจากนี้จะต้องก้าวรุกอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

ทั้งการเดินหน้าขยายโรงพยาบาลในพื้นที่ที่การเข้าถึงทางการแพทย์ไม่เพียงพอมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20 แห่งภายใน 5 ปี แบ่งเป็นโรงพยาบาลแซทเทิลไลท์ขนาด 60 เตียง 15 แห่ง และโรงพยาบาลที่เป็นฮับขนาด 200 เตียงเป็น 5 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เป็นฮับ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช และโรงพยาบาลพริ้นซ์ ฮอสพิทอล สุวรรณภูมิ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 2 แห่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

“ตอนนี้เรามีศูนย์หัวใจ สมอง และทางเดินอาหารอยู่ที่โรงพยาบาลพิษณุเวช แต่ต่อไปเราต้องการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งของไทยที่เทียบเท่ากับสากล เพราะมะเร็งเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างน้อย 2 ปี ขณะที่การให้บริการด้านผู้สูงวัยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด คาดว่าจะเปิด Pilot Project ในปีหน้า และหากไปได้ดี จะต่อยอดการให้บริการใน 20 โรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป”

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำธุรกิจโรงพยาบาลจะกลายเป็นสนามของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยจะเห็นโรงพยาบาลหลายแห่งแห่ขายเพื่อต่อยอดความใหญ่ให้กับแบรนด์ แต่ ดร. สาธิต ย้ำชัดด้วยว่า “คงไม่มีขายทิ้ง เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อขาย แต่เราทำเพื่อจะไปซินเนอร์ยี่กับคนที่มีโนว์ฮาว และจุดยืนที่ตรงกัน เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบใหญ่ยิ่งขึ้น”

 

นับเป็นน้องใหม่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ต้องจับตามองกันให้ดีทีเดียว เพราะถึงแม้จะปักหมุดในต่างสนาม ทว่า ดร. สาธิต แย้มว่า “ไม่แน่ตลาดที่เป็น Red Ocean เราอาจจะเอาอีก Red หนึ่งเข้าไปสู้ก็ได้”

 

ดังนั้น เกมนี้ต้องดูกันยาว ๆ