Insurance_WEB

เปิดชื่อบริษัทประกัน เงินกองทุนต่ำเกณฑ์!! ลูกค้ากลัววืดค่าสินไหม หลังตัวเลขติดเชื้อยังสูงปรี๊ด

ปัญหาการเคลมประกันโควิด-19 เหมือนไฟลามทุ่ง ไล่เรียงมาตั้งแต่เคสยกเลิกประกันโควิด-19 เมื่อหลายเดือนก่อน ยาวมาจนถึงไม่กี่วันที่ผ่านมา ลูกค้าประกันรวมตัวกันเรียกร้องเงินสินไหมโควิด-19 สาเหตุมาจากความไม่มั่นใจในบริษัทประกันที่ตัวเองได้ซื้อกรมธรรม์ไปจะสามารถจ่ายค่าสินไหมได้หรือไม่? หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูง และยืดเยื้อ

ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังเรียกร้องให้ ‘สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)’ ช่วยติดตามทวงถามค่าสินไหม หลังจากมีข่าวว่าบริษัทประกันวินาศภัยเลิกจ้างพนักงาน ทำให้เกิดความกังวลถึงสภาพคล่องของบริษัทเหล่านี้

ทาง ‘Business+’ จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) ของบริษัทประกันภัยในประเทศไทย โดยอัตราส่วนนี้บริษัทประกันภัยทุกรายต้องดำรงขั้นต่ำไว้ที่ 120% ตามนโยบายที่คปภ.กำหนด (ระดับเงินกองทุนต้องมากกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำ) เพื่อให้เพียงพอรองรับความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัทประกัน และยังใช้เป็นตัวช่วยสำหรับการเลือกซื้อประกันภัยสำหรับประชาชนเพื่ออลดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน (และควรพิจารณาจาก ‘เงินสำรองประกันภัย’ รวมไปถึงอันดับความน่าเชื่อถือที่ถูกให้คะแนนจากบริษัททางการเงินร่วมด้วย)

ก่อนอื่นมารู้จัก อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน กันสักหน่อย อัตราส่วนดังกล่าวคำนวนจาก เงินกองทุนที่สามารถใช้ได้ทั้งหมด (Total Capital Available :TCA) หารด้วยเงินกองทุนที่ต้องดำรงทั้งหมด (Total Capital Required : TCR)

โดยเงินกองทุนที่สามารถใช้ได้ทั้งหมด คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรับปรุงให้เป็นมูลค่ายุติธรรมตามหลักเกณฑ์ของคปภ. และเงินกองทุนที่ต้องดำรงทั้งหมด คือ จํานวนเงินกองทุนที่บริษัทควรจะดำรงไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ

ดังนั้น อัตราส่วนนี้ จึงเป็นอัตราส่วนที่ใช้เพื่อดำรงเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทประกัน โดยบริษัทที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 120% จะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน

ส่วนบริษัทที่มีอัตราส่วนนี้ต่ำกว่ากำหนดแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องเงินกองทุนที่น้อยกว่าเกณฑ์ และอาจถูกแทรกแซงโดย คปภ. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง และมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย

จากการรวบรวมข้อมูล ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ โดย ‘สมาคมประกันวินาศภัยไทย’ ที่ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลบริษัทประกันวินาศภัยแต่ละบริษัทที่ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทนั้น (ข้อมูลครั้งล่าสุด ณ วันที่ 16 กันยายน 2564) พบว่า บริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนค่อนข้างดี ค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ ไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 445.42%

แต่ก็มีบางบริษัทที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ (ต่ำกว่า 120%) รวมถึงบางบริษัทที่อัตราส่วนนี้ลดลงมาอย่างมากหลังจากเจอวิกฤตโรคระบาด

ทั้งนี้ เราจะหยิบยกรายชื่อบริษัทประกันเรียงลำดับบริษัทที่มี ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ มากที่สุด 5 ลำดับแรก และบริษัทประกันที่มี ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ น้อยที่สุด 5 อันดับ จากบริษัทประกันทั้งหมด 63 แห่งมานำเสนอ

เริ่มจาก บริษัทประกันที่มี ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ มากที่สุด 5 อันดับแรก ข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2564 อ้างอิงจาก ‘สมาคมประกันวินาศภัยไทย’ ประกอบด้วย
– บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 1,313%
– บริษัท ไทยประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 1,136.38%
– บริษัท นิวอินเดียแอสชัวรันซ์ จำกัด อยู่ที่ 1,127.98%
– บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ อยู่ที่ 1,061.05%
– บริษัท เอไอเอ จำกัด (ประกันวินาศภัย) สาขาประเทศไทย อยู่ที่ 1,031%
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

จะเห็นว่า ทั้ง 5 บริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนสูงกว่าที่เกณฑ์กำหนดเอาไว้เกิน 7 เท่าตัว (อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำ 120%) ทำให้เห็นว่า บริษัทได้บริหารจัดการเงินกองทุนได้เป็นอย่างดี

ที่นี้มาดูบริษัทประกันที่มี ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ น้อยที่สุด 5 อันดับแรก ข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2564 อ้างอิงจาก ‘สมาคมประกันวินาศภัยไทย’ ประกอบด้วย
– บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ -26.85%
– บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 109.96%
– บริษัท เอฟพีจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน อยู่ที่ 130.24%
– บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 152.78%
– บริษัท เคเอสเค ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน อยู่ที่ 152.96%
ที่มา : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

จะเห็นว่า 2 อันดับแรกมี ‘อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน’ ต่ำกว่า 120% ซึ่งในส่วนนี้ทาง คปภ. จะต้องเข้ามาดูแลด้วยการออกมาตรการผ่อนปรนรองรับ และดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ขณะที่คปภ. ได้ส่งทีมตรวจสอบติดตามบริษัทประกันที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ยังไม่พบพฤติการณ์โยกย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

นอกจากนี้หากบริษัทประกันภัยรายใดจะเลิกประกอบธุรกิจก็จะต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ. ก่อน ซึ่งขณะนี้ คปภ.แจ้งว่ายังไม่มีคำขอเลิกประกอบธุรกิจแจ้งเข้ามา

ทั้งนี้ เรามองว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง และยาวนานของโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น ยอดการเคลมประกันก็จะสูงขึ้นตาม ถือเป็นเรื่องที่บริษัทประกันจะต้องแบกรับ ดังนั้น ในปี 2564 ยาวไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเบาบางลง อาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทประกันภัยไม่สดใส และบริษัทที่จะอยู่รอดได้นั้น คือบริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ได้ ซึ่งสภาพคล่องนั้น ก็มาจากการสำรองเงินกองทุน และเงินสำรองประกันภัย นั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : สมาคมประกันวินาศภัยไทย

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ประกันภัย #ประกันโควิด #บริษัทประกันภัย