TKC

“เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่นฯ” น้องใหม่วงการ ICT ตลาดหุ้น สรุปข้อมูล แบไต๋ ‘จุดแข็ง-จุดอ่อน’ ครบจบในโพสต์เดียว!!

หุ้นน้องใหม่ยังเป็นที่นิยมมากในขณะนี้ สาเหตุหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้คนหันมาหาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า และเมื่อไม่กี่วันมานี้ (3 พ.ย.2564) ก.ล.ต. ได้เปิดไฟเขียว นับหนึ่งไฟลิ่ง บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ “TKC” สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO และเข้าจดทะเบียนใน SET เพิ่มอีก 1 ราย (พูดง่าย ๆ คือผ่านการตรวจสอบคำขอในขั้นตอนแรก หลังขั้นตอนนี้จะแจ้งผลการพิจารณาภายใน 45 วัน)

โดย “เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่นฯ” มีธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับ IT การสื่อสาร โทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นอย่างมากในยุคดิจิทัล โดยเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 78 ล้านหุ้น คิดเป็น 26% โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 1.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเขามีแผนที่จะระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจรองรับโอกาสการเติบโตของเทคโนโลยี 5G ตามความต้องการใช้งานทางด้าน IoT AI ระบบคลาวด์ และโซลูชั่นส์อัจฉริยะ

ซึ่งภายหลังจาก ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง จึงคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนใน SET หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคาดหวังที่จะเข้าจดทะเบียนภายในปี 2565

ก่อนอื่นเรามาปูแบล็กกราวด์ธุรกิจของ บมจ.เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส พร้อมตีแผ่จุดแข็ง-จุดอ่อนกันสักหน่อย บริษัทฯ แห่งนี้เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจให้บริการออกแบบ วางระบบ และบริการที่เกี่ยวข้องในงานวิศวกรรมสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ

ที่น่าสนใจและเป็นจุดแข็งข้อแรก คือ การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และเครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก อย่าง Huawei, Nokia, Cisco, Verint, Oracle, Netka System, XOVIS, Fortinet ซึ่งที่ผ่านมา ให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

สำหรับลักษณะการให้บริการแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ โครงการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project หรือ งานโครงการ) งานบริการวิศวกรรมและงานบำรุงรักษา และงานจัดจำหน่ายอุปกรณ์

จุดแข็งข้อที่ 2 คือ ความเชี่ยวชาญตลอดระยะเวลามากกว่า 18 ปี ทำให้มีประสบการณ์การทำงานด้านรับเหมาการสื่อสารและโทรคมนาคม และเข้าใจอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี ซึ่งการที่เป็นผู้รับเหมาฯ มาก่อนทำให้บริหารต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่ง

จุดแข็งข้อที่ 3 คือ การมีทีมวิศวกรที่มีทักษะ In-House ทำให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้ทั้งในแง่ความสามารถในการบริการและราคา รวมถึงมีการดูแลและการให้บริการหลังการขายที่สร้างความพึงพอใจและความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น ไว้ใจและกลับมาใช้บริการ

จุดแข็งข้อที่ 4 คือ “เทิร์นคีย์ฯ” มีอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ข้อมูลล่าสุดสิ้นไตรมาส 2/2564 มีอัตราส่วนสภาพคล่องที่ 1.42 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทฯ มีความสามารถในการใช้คืนหนี้ระยะสั้นสูง มีความคล่องตัวมาก

นอกจากนี้อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว (Quick Ratio) อยู่ที่ 1.37 เท่า แสดงให้เห็นว่า ความสามารถที่จะชําระหนี้สินหมุนเวียนจากสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว (พูดง่าย ๆ ว่า สามารถขายสินทรัพย์ออกมาแปลงเป็นเงินสดเพื่อใช้หนี้ได้สูง)

ดูจุดแข็งไปแล้ว ลองมองมุมกลับสำหรับจุดอ่อนกันบ้าง เราสรุปความเสี่ยงที่อาจจะเป็นจุดอ่อนออกมาทั้งหมด 4 ด้านที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อความสม่ำเสมอของรายได้ เนื่องจากรายได้หลักของ “เทิร์นคีย์ฯ” มาจากงานโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล ระบบรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ ทำให้มีปัจจัยภายนอกที่บริษัทฯ ควบคุมไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนของภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนของผู้ประกอบการโทรคมนาคม หากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอของรายได้ของบริษัทฯ

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ เนื่องจากโครงการทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมที่ผ่านมาส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ชั้นนำด้านสื่อสารโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ซึ่งการเป็นพาร์ทเนอร์ทั้งจำหน่ายสินค้าและบริการติดตั้ง และเป็นสินค้าที่ลูกค้าได้ระบุลักษณะและคุณสมบัติทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่ไว้ใช้ในงานโครงการไว้แล้ว หากผู้ผลิตดังกล่าวไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ หรือถูกกีดกันทางการค้าอาจจะส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานได้

ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ จากการที่ “เทิร์นคีย์ฯ” เป็นพันธมิตรทางธุรกิจและได้รับแต่งตั้งเป็นพันธมิตรจากผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกที่มีชื่อเสียง แต่โดยทั่วไปการได้รับการแต่งตั้งลักษณะนี้จะเป็นสัญญาปีต่อปี หรือกำหนดตามระยะเวลาของโครงการ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีความเสี่ยงจากการที่คู่สัญญาจะขอยกเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนด และมีโอกาสสูญเสียรายได้จากการไม่ได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจาก “เทิร์นคีย์ฯ” มีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐสัดส่วนมากกว่า 30% หากลูกค้าหลักดังกล่าวไม่มีแผนที่จะจ้างงานบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องหรือเป็นการว่าจ้างรายโครงการโดยเว้นช่วงอาจจะส่งผลกระทบผลการดำเนินงานได้ แม้บริษัทฯ จะมีการกระจายความเสี่ยงไปใน 3 ธุรกิจ

ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสาร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จะต้องใช้อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับความต้องการด้านการสื่อสารข้อมูลของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจะต้องจัดหาสินค้าและอุปกรณ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ซึ่งในกรณีที่สินค้าคงคลังที่สำรองไว้บางรายการที่ไม่ได้ถูกจำหน่ายออกไปเป็นระยะเวลานาน อาจจะส่งผลให้สินค้านั้นเกิดการด้อยค่าล้าสมัย หรือหมดอายุการใช้งานได้ อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา และเกิดค่าใช้จ่ายทางบัญชีจากการด้อยค่า การล้าสมัยของสินค้านั้น ๆ

สรุปส่งท้ายด้วยข้อมูลสำคัญทางการเงิน “เทิร์นคีย์ฯ” มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว 222 ล้านบาท และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40%

ด้านโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มนายสยาม เตียวตรานนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อน IPO ที่ 62.25% และบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนก่อน IPO ที่ 34%

สำหรับฐานะทางการเงินตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2563) มีรายได้รวมในปี 2561 ที่ 3,669.65 ล้านบาท ปี 2562 ที่ 4,907.25 ล้านบาท และปี 2563 ที่ 2,881.92 ล้านบาท

ขณะที่ มีกำไรสุทธิปี 2561 ที่ 216.50 ล้านบาท ปี 2562 ที่ 423.03 ล้านบาท และ ปี 2563 ที่ 232.85 ล้านบาท

สำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 1,374.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.52% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 152.62 ล้านบาท

โดยบริษัทฯ สามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการบริหารต้นทุนที่ดีทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มปี 2564-2565 “เทิร์นคีย์ฯ” คาดว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะขยายตัว 3-5% โดยได้รับอานิสงค์จากการสนับสนุนของภาครัฐตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และการก่อสร้างระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของความต้องการใช้ข้อมูล Non-Voice ที่ขยายตัวจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้

อีกทั้งรายได้จากธุรกิจ Fixed Broadband ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G มีแนวโน้มขยายมากขึ้น เช่น บริการ Cloud Data Center ยานยนต์ไร้คนขับ และ Smart Solutions ต่าง ๆ นอกจากนี้ การใช้ธุรกรรมออนไลน์ การเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยใช้ Cloud การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีความต้องการด้าน Cyber Security มากขึ้นเพื่อป้องกันข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์

สิ่งที่น่าสนใจ และตั้งเป็นข้อสังเกตุ คือ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการคมนาคมมีโอกาสเติบโตสูงก็จริง แต่ผู้ประกอบการจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว ทำให้บริษัทฯ ที่มีประสบการณ์ยาวนาน มีความน่าเชื่อถือกว่า และ การระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เรียนออนไลน์ และเพิ่มความต้องการติดตั้ง Fixed Broadband และการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ยิ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของบริษัทฯ แน่นอน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ก.ล.ต. ,SET ,TKC

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #IPO #SET #หุ้นใหม่ #ตลาดหุ้นไทย #TKC