เทรนด์รักษ์โลก คนรักบ้าน ถึงเวลา “โซลาเซลล์”

 

 

ระยะหลังๆ มานี้ เราจะได้ยินเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 P มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง 3 P นี้ประกอบด้วย People คือการแคร์ลูกค้า ผู้บริโภค ชุมชน และสังคม, Prosperity ความมั่งคั่งของผลกำไร อันจะนำมาซึ่งความสุข และ Planet คือการให้ความสำคัญกับโลก ที่ตัวเรา ธุรกิจเรา และประเทศเราอาศัยอยู่ ซึ่งแนวทางนี้ จะมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้ธุรกิจหนึ่งๆ ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะ P สุดท้าย ที่หากว่าเราดูดาย ผลกระทบจากความดูดายนั้น ก็จะสะท้อนกลับมาถึงตัวเราได้ในวันหนึ่ง

 

หากเราได้มีโอกาสออกนอกบ้าน หลังจากประกาศยกเลิกล็อกดาวน์ระลอกล่าสุด จะเห็นได้ว่า ถนนหนทางในกรุงเทพฯ
การจราจรเริ่มหนาแน่นมากขึ้น และไม่ใช่แค่เพียงบนถนน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเทรนด์ที่เห็นมากขึ้นในระยะหลังๆ คือ บ้านเรือนต่างๆ เริ่มมีการติดโซลาเซลล์กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีกำลังทรัพย์และเห็นว่า มีผลดีในระยะยาว ทั้งในแง่ของครอบครัวและสิ่งแวดล้อม เพราะเราต่างรู้ดีว่า พลังงานไฟฟ้า ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ อาจไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนสำหรับโลกในวันที่ไม่มีเรา พลังงานทางเลือก จึงถูกเลือกมากขึ้น

 

จะว่าไป หากย้อนเวลาไปซัก 10 ปีก่อน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ดูไม่ใช่เรื่องบ้านๆ เอาเสียเลย เป็นอะไรที่ไกลตัวมาก ความสนใจดูเหมือนถูกจำกัดการใช้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง แต่ในวันนี้ ที่เทคโลโลยีพัฒนามาไกล ต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คือ ตัวแผงโซลาร์และตัวแบตเตอร์รี่ที่ใช้เก็บพลังงานนั้น ลดลงอย่างมาก

 

ข้อมูลจาก Greentech Media ระบุว่าต้นทุน Solar Module ต่อ Watt ลดลงจากประมาณ 2 USD ในปี 2010 เหลือเพียง 0.3 USD ในปี 2020 และข้อมูลจาก Climate Central ก็ยังบอกว่า ราคาแบตเตอร์รี่ที่ใช้เก็บพลังงานลดลงจาก 800 USD/MWh ในปี 2012 เหลือเพียง 186 USD/MWh นั่นย่อมเป็นนิมิตหมายอันดีว่า การที่จะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ตามบ้าน มีความใกล้จุดคุ้มทุนขึ้น

 

ต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ที่ย่อมเยากว่าเดิม ทำให้หลายๆ ประเทศในโลก เช่น ออสเตรเลีย มาถึงจุดที่เกิด Solar Grid Parity หรือต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา มีราคาเท่ากับหรือถูกกว่าราคาที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ แล้วส่งมาตามสายส่งไฟฟ้าเหมือนที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว

 

สำหรับบ้านเรา ที่เป็นประเทศที่มีแดดจัดจ้าตลอดปี ชนิดที่ครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์ผิวขาวขายดิบขายดีนั้น การติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ ไม่ใช่แค่เรื่องของกระแสรักษ์โลก แต่การตัดสินใจของหลายคนในระยะหลัง เริ่มมองถึงของความคุ้มค่าในระยะยาวด้วย นอกจากการช่วยลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน แต่ยังอาจหมายถึงโอกาสที่จะขายไฟคืนให้การไฟฟฟ้าด้วย ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีนโยบายให้การสนับสนุนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

บ้านแบบไหนที่ควรเปิดใจ ติดโซลาร์เซลล์

การที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ก็มีปัจจัยหลายส่วนที่ต้องคำนึงถึง เช่น

  • บ้านที่มีการใช้ไฟในช่วงกลางวันมาก เช่น บ้านที่ทำเป็นโฮมออฟฟิศ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม บ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ คนที่ work from home มีการเปิดแอร์ตลอดวัน ส่วนใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า การชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ช่วงกลางวันถือว่าเหมาะมาก เพราะเป็นช่วงที่สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เต็มที่ ช่วยลดการใช้ไฟจากการไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี สาเหตุที่ต้องเน้นเรื่องการใช้ไฟตอนกลางวัน เนื่องจาก หลังคาบ้านโซล่าเซลล์ ที่นิยมในบ้านเรา จะเป็นระบบ On grid ซึ่งคือระบบที่ต่อเชื่อมสายส่งการไฟฟ้า มีแผงโซลาร์เซลล์ต่อเข้ากับ กริดไทอินเวอร์เตอร์ แล้วเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงมาเป็นกระแสสลับให้ใช้งานในบ้านได้ทันที ไม่มีการเก็บไฟไว้ ซึ่งระบบนี้จะเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นระบบที่นิยมติดตั้งกันเพราะราคาไม่แพง และสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าฯ ได้ด้วย
  • เจ้าของบ้านที่มีใจ อยากมีส่วนร่วมในการใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการติดตั้งระบบโซลาร์จะช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนี้ การติดโซลาร์เซลล์ยังช่วยให้บ้านเย็นขึ้นด้วย เพราะเหมือนมีหลังคาอีกชั้นช่วยบังแดดไว้
  • ต้องการประหยัดค่าไฟในระยะยาว ตอบรับการมาของโลกยุคดิจิทัลที่ค่าไฟมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยบ้านที่มีค่าไฟเกิน 3,000 บาทต่อเดือน ก็เหมาะที่จะติดโซล่าร์เซลล์ โดยระยะคุ้มทุน อาจแล้วแต่ต้นทุนราคาในการติดตั้งครั้งแรก ถ้าเราคิดจะอยู่บ้านหลังหนึ่งไปนานๆ เชน 8 ปีขึ้นไป ไม่มีแผนจะโยกย้าย นิยามความคุ้มทุน ก็สอดคล้องกัน
  • เช็กความเหมาะสมของบ้านแล้วผ่าน เช่น การติดตั้งใช้พื้นที่ประมาณ 14 – 18 ตารางเมตรขึ้นไป และพื้นที่ติดตั้งต้องรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม/ตารางเมตร เป็นบริเวณที่มีแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน โดยทิศทางที่ดีที่สุด คือ ทิศตะวันตกหรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือบังแสงแดดใกล้บริเวณที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย เป็นต้น

ขั้นตอนเบื้องต้นในการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ต้องแจ้งขออนุญาตที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในเขตพื้นที่บ้านของเรา เพื่อเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้า และยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า รอการแจ้งผลประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ชำระค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และลงนามซื้อขายไฟฟ้า ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการติดตั้งแผงโซลลาร์เซลล์ มักจะมีบริการขออนุญาตติดตั้งให้ด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า สำหรับอายุการใช้งานโซลาร์เซลล์ โดยปกติอยู่ที่ปริมาณ 20-25 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

 

โซลลาร์เซลล์ ถือเป็นพลังงานสะอาด และเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับบ้านที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูง มองการณ์ไกล คงจะดีไม่น้อย ถ้าในวันนี้ที่เราเป็นผู้ที่ใช้ไฟแล้วจ่ายค่าไฟ แต่ในอนาคต เราผลิตไฟใช้เองได้ และอาจนำส่วนที่ผลิตได้เกินจากการใช้ในครัวเรือน กักเก็บสะสมไว้ รวมไปถึงส่งออกขายสู่ชุมชนเพื่อสร้างรายได้ได้อีกด้วย

 

ผู้เขียน : จันทร์เพ็ญ จันทนา ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่าย Website & Digital Content Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.