เจ้าตลาดแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ยาก จากนี้ต้องระวังตัวมากขึ้น หลังถูกเพ่งเล็ง หากพบใช้อำนาจเหนือตลาด โทษทั้งจำทั้งปรับ

สิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงกังวล นอกเหนือจากเรื่องของการถูกชิงฐานลูกค้าจากรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแล้ว ยังมีเรื่องของกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองทั้งผู้บริโภค และเจ้าของกิจการด้วยกันเอง โดยกฏเกณฑ์นั้น จะถูกดูแลภายใต้อำนาจของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)

และล่าสุดดูเหมือนว่าจะถึงคิวของ 3 แพลตฟอร์มผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในช่วงสถานะการณ์โควิด-19 ซึ่ง สขค. มองเห็นว่ามีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม

สำหรับแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) ถูกมองว่า ตอนนี้มีการกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดทางเลือกในการขนส่งสินค้า การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น หรือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคู่ค้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การใช้ระบบอัลกอริทึมในการแข่งขันด้านราคาหรือการตลาดอย่างไม่เป็นธรรม

แพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ มีการเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากร้านอาหารสูงขึ้น หรือค่า GP (Gross Profit) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายและโฆษณาเพื่อแนะนำร้านในอัตราเพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุผลสมควร

และแพลตฟอร์มบริการขนส่ง มีการกำหนดเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิแฟรนไชซี หรือการกำหนดเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลังทำสัญญาโดยไม่มีเหตุผลสมควร

ที่นี้เรามาดูข้อมูลกันว่า 3 แพลตฟอร์มนั้น ในประเทศไทย มีใครเป็นเจ้าตลาดกันบ้าง

เริ่มที่ แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ เจ้าตลาดรายใหญ่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย อย่าง Shopee เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ด้วยจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยเดือนละกว่า 51.25 ล้านผู้ใช้

Shopee มีเจ้าของคือกลุ่ม Sea Group สำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก กลุ่ม Sea Group ยังมีความเกี่ยวข้องกับเทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน

เจ้าตลาดรายที่ 2 คือ Lazada ที่มีกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) จากจีนเป็นเจ้าของ ปัจจุบันถือเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในไทย โดยมีผู้ใช้เฉลี่ยเดือนละกว่า 33.24 ล้านผู้ใช้

ส่วนผู้ประกอบการรายอื่น ส่วนแบ่งการตลาดยังถือว่าน้อยมาก เช่น Advice มีผู้ใช้เฉลี่ยเดือนละ 2.26 ล้านผู้ใช้ และอันดับต่อมาคือ Power Buy มีผู้ใช้เฉลี่ยเดือนละ 2.18 ล้านผู้ใช้ (จะเห็นว่าอันดับที่ 3 และ 4 มีผู้ใช้ห่างจากผู้ใช้ 2 อันดับแรกจำนวนมาก)

มาต่อกันที่ แพลตฟอร์มส่งอาหารออนไลน์ เจ้าตลาดคือ LINE MAN Wongnai, Grab, Food Panda และ GET (Gojek) รวมถึง Robinhood และยังมีอีกหลายกิจการที่แตกไลน์ธุรกิจมาสู่แพลตฟอร์มส่งอาหาร เช่น แอร์เอเชีย

โดย Grab เป็นบริษัทที่รายได้ปี 2562 สูงที่สุดที่ระดับ 2,855.63 ล้านบาท ส่วน Gojek มีรายได้ 133.16 ล้านบาท และอันดับที่ 3 เป็น LINE MAN Wongnai รายได้ 49.88 ล้านบาท

สุดท้าย คือ แพลตฟอร์มบริการขนส่ง เจ้าใหญ่ คือ ไปรษณีย์ไทย ข้อมูลของปี 2563 ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 41% ด้วยรายได้ 24,210 ล้านบาท และเจ้าตลาดอันดับที่ 2 เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Kerry Express ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 39% 19,010 ล้านบาท รวมทั้ง 2 รายมีส่วนแบ่งตลาดรวมสูงถึง 80%

ถึงแม้ขณะนี้มีการแข่งขันเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดกันค่อนข้างดุเดือด หลังจากมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด อย่าง ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ,เจแอนด์ที และแฟลช เอ็กซ์เพรส แต่ส่วนแบ่งการตลาดยังค่อนข้างห่างกันพอสมควร

จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจของ 3 แพลตฟอร์มต่อจากนี้ อาจจะไม่ได้ราบรื่นเหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีการร้องเรียนของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับความไม่เป็นธรรม และส่วนใหญ่นั้น เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมที่เข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาด ซึ่งหากถูกตรวจสอบ และพบว่าผู้เล่นรายใดในทั้ง 3 แพลตฟอร์มมีพฤติกรรมใช้อำนาจเหนือตลาด ก็คงจะต้องถูกลงโทษในทางกฏหมาย

หากพบว่า มีการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 50 กรณีที่เป็นการตกลงร่วมกันกำหนดค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 54 ซึ่งมีโทษอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

และกรณีที่เป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า อันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่น เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 57 มีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET,สขค.

https://ipricethailand.com/insights/mapofecommerce/en/

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #แข่งขันทางการค้า #ขนส่ง #ขายของออนไลน์ #สขค