Businessplus

เครือ “สหพัฒน์” เจ้าของ “มาม่า” Spin-Off “ซันเวนดิ้ง” ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติใต้เงาตระกูล “โชควัฒนา” จะรุ่งแค่ไหน?

หลังจากดูข้อมูลรายชื่อบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียน (Upcoming IPO) อยู่นาน ก็เจอกับชื่อ บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SVT ที่ทำธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ ตู้ขายน้ำขายขนมอัตโนมัติแบรนด์ SUNVENDING ที่เราเคยเห็นอยู่ตามที่ต่าง ๆ

และยิ่งทวีความน่าสนใจเมื่อรู้ว่า เป็นบริษัทในเครือสหพัฒนพิบูล ของตระกูลโชควัฒนา โดยเป็นกลุ่มบริษัทด้านสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าหลายประเภท แบรนด์ที่ทุกคนรู้จัก คือ มาม่า เปา วาโก้ มีสทีน และอีกมากมาย

การนำบริษัทในเครือเข้าตลาดครั้งนี้ถือเป็นการ Spin-Off (การนำบริษัทย่อยออกมาเสนอขาย IPO) ที่น่าสนใจเลยทีเดียว สาเหตุเป็นเพราะผลประกอบการของ ซันเวนดิ้ง เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงโควิด-19 และยังเป็นที่น่าจับตามองว่า ภายหลังจากเข้าซื้อขายในตลาด (SET) ได้แล้ว สภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นจะดีกว่า หรือลงเอยแบบรุ่นพี่หลาย ๆ บริษัทที่ผ่านมา

ก่อนอื่นมาดูข้อมูลพื้นฐานกันก่อนจะดีกว่า ซันเวนดิ้ง เตรียมเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรก (IPO) จำนวน 200,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 1.00 บาทต่อหุ้น ด้วยมูลค่าตามราคาบัญชี (Book Value) 1.25 บาทต่อหุ้น (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2564) โดยอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ / หมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce)

สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นการขยายการติดตั้งให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาระบบและจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ แบบ Smart

ซันเวนดิ้ง นั้น เป็นบริษัทในเครือ สหพัฒน์ โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ กลุ่มโชควัฒนา ซึ่งมีหลายบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ในกลุ่มนี้ เช่นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นอย่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ,บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ,บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ ICC , บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ WACOALและบริษัทอื่น ๆ ในเครืออีกจำนวนมาก และยังมีการถือหุ้นของกลุ่มครอบครัวโชควัฒนา รวมไปถึงกรรมการ และผู้บริหาร

ทีนี้มาดูข้อมูลด้านผลประกอบการกันสักหน่อย สัดส่วนรายได้หลักของ ซันเวนดิ้ง มาจากรายได้จากการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมากถึง 98.12% รายได้จากการขายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 0.71% รายได้จากค่าบริการพื้นที่บนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพื่อโฆษณา 0.65% และรายได้จากการบริการ 0.32% (ข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2564)

และรายได้รวมช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 972.62 ล้านบาท เติบโต 12.39% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ มีกำไรสุทธิ 39.46 ล้านบาท เติบโต 31.18% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนกำไรสุทธิอยู่ที่ 30.08 ล้านบาท

ด้านฐานะการเงินถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก โดยมี อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ต่ำเพียง 0.86 เท่า (มีหนี้สินต่ำกว่าส่วนทุนของบริษัท) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) 5.76% (อยู่ในเกณฑ์ดี

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 10.48% (ค่อนข้างสูง) อัตรากำไรขั้นต้น 32.62% อัตราส่วนกำไรสุทธิ 4.06% และยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในแง่ของข้อมูลพื้นฐาน ทั้งอัตราส่วนทางการเงิน รวมไปถึงผลประกอบการ ต้องบอกว่า ความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของ ซันเวนดิ้ง ค่อนข้างดีเลยทีเดียว เป็นบริษัทที่หนี้สินน้อย ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาขยายกิจการได้อีกจำนวนมาก ขณะที่มีการบริหารทรัพย์สินได้เป็นอย่างดี

แต่ถ้าหากเราดูข้อมูลการซื้อขายของบริษัทในเครือสหพัฒน์ที่อยู่ในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ,บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ,บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ ICC , หรือ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ WACOAL ต้องบอกว่าสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ (มีปริมาณการซื้อขายหุ้นแต่ละวันน้อยมาก) เพราะนักลงทุนที่ถืออยู่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยซื้อหรือขายหุ้นออกมา

และหากในช่วง IPO เข้านั่นก็ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนที่ต้องการซื้อเพื่อลงทุนในระยะยาว เพราะเวลาอยากจะขายหุ้นออกมา อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET,ก.ล.ต.

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #mai #ตลาดหุ้น #ตลาดหุ้นไทย #หุ้นไทย #stock #ตู้กดอัตโนมัติ #มาม่า #สหพัฒน์